ผู้เขียน | ศรีศักร วัลลิโภดม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมืองสองแควแต่เดิมน่าจะไม่ได้ขึ้นตรงต่อทางสุโขทัยก็ได้ เพราะแม้แต่ ศิลาจารึก ที่กล่าวถึงรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงเอง ก็กล่าวไปในทำนองที่ว่าเมืองสองแควเพิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง
แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ ศิลาจารึกหลักที่ 2 ที่กล่าวว่าสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีทรงเกิดที่เมืองสระหลวงสองแควแสดงให้เห็นว่าเมืองสระหลวงสองแควที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำน่านนี้ เป็นเมืองในความครอบครองของเจ้านายในราชวงศ์ผาเมือง ซึ่งเคยปกครองแคว้นสุโขทัยมาก่อนราชวงศ์พระร่วง เพราะฉะนั้น น่าจะเกิดไม่ลงรอยอย่างใดอย่างหนึ่งกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยก็ได้ อาจมีความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น ซึ่งอาจสังเกตได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบเรื่องราวในศิลาจารึกหลักที่ 1 กับหลักที่ 2
ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นการบรรยายเรื่องราวของกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง โดยเฉพาะในสมัยพ่อขุนรามคำแหง
จารึกหลักนี้ นักปราชญ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าข้อความในตอนต้นๆ ของศิลาจารึกเป็นสิ่งที่พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้จารึกขึ้น แต่ตอนท้ายๆ มาสร้างขึ้นในสมัยหลัง
แต่ในความเห็นของข้าพเจ้าหลังจากได้ศึกษาเปรียบเทียบกับหลักอื่นๆ แล้วเห็นว่า จารึกนี้ทั้งหลักสร้างขึ้นหลังรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงลงมาแล้ว โดยมีเจตนาที่จะสรรเสริญและกล่าวขวัญถึงความรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุขของแคว้นสุโขทัยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง เพื่อโอ้อวดหรือแสดงความสำคัญของกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง อย่างใดอย่างหนึ่ง
ศิลาจารึกหลักที่ 2 พบที่วัดศรีชุม เป็นเรื่องการสรรเสริญพระเกียรติคุณของสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ผู้เป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนผาเมือง
ในตอนต้นๆ ได้กล่าวถึงเรื่องราวสมัยก่อนราชวงศ์พระร่วงตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งเป็นปู่ของสมเด็จพระมหาเถรฯ ครองแคว้นสุโขทัย มีการสร้างพระบรมธาตุในนครสี่แห่งคือ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และสระหลวงสองแคว ต่อจากนั้นก็บรรยายถึงเหตุการณ์สู้รบเพื่อขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงของพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาว รวมทั้งการให้เมืองสุโขทัยและพระนามศรีอินทรบดินทราทิตย์ของพ่อขุนผาเมืองแก่พ่อขุนบางกลางหาวด้วย
ส่วนในด้านพระราชประวัติของสมเด็จพระมหาเถรฯ นั้น ก็ระบุว่า ทรงเกิดที่เมืองสระหลวงสองแคว ซึ่งพระบิดาของพระองค์ทรงครองอยู่ ในขณะยังเยาว์วัยก่อนออกผนวชนั้น สมเด็จพระมหาเถรฯ ทรงเป็นผู้มีความสามารถ อีกทั้งมีความเก่งกล้าในการรบพุ่งด้วย พอพระชันษาได้ 29 ปีก็ออกผนวช ได้ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่างๆ ของประเทศไทย และได้เดินทางไปลังกาและอินเดียด้วย ทรงสร้างพระธาตุและบูรณะวัดวาอารามตามเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองสุโขทัยด้วย
ศิลาจารึกหลักนี้ดูเหมือนไม่มีเจตนาที่จะแสดงออกในเรื่องวัตถุประสงค์ทางการเมืองแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงกล่าวถึงภูมิหลังและพระกรณียกิจของสมเด็จพระมหาเถรฯ เท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันก็ยกย่องพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพ่อขุนรามคำแหงและสมเด็จพระมหาธรรมราชาเลอไทย ผู้เป็นพระโอรสของพ่อขุนรามคำแหง
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า เหตุการณ์หรือเรื่องราวในศิลาจารึกหลักนี้เป็นของที่อยู่ในสมัยก่อนรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าหากเปรียบเทียบและลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับความเป็นมาของแคว้นสุโขทัยแล้ว ก็ต้องถือว่าจารึกหลักที่ 2 เป็นเรื่องราวก่อนสมัยราชวงศ์พระร่วง ส่วนจารึกหลักที่ 1 เป็นเรื่องราวของราชวงศ์พระร่วงซึ่งอยู่ในสมัยหลังลงมา
แต่เจตนารมณ์ในการสร้างจารึกหลักที่ 1 นั้น อาจชวนให้คิดและตีความได้ว่าเป็นการข่มทับหรือขัดแย้งกับจารึกหลักที่ 2 เป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งน่าจะสร้างขั้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยลงไป
ที่ว่าอาจมีปัญหาทางการเมือง ก็เพราะว่าจารึกหลักที่ 2 แสดงถึงความราบรื่นของสุโขทัยมาโดยตลอดจนถึงรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาเลอไทย แต่หลังจากรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาเลอไทยแล้ว เกิดความยุ่งยากขึ้นในแคว้นสุโขทัย เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนจากบรรดาศิลาจารึกในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ที่ระบุว่าหลังจากรัชกาลของพ่อขุนราชคำแหงลงมาแล้ว บ้านเมืองแตกแยก “หาเป็นขุนหนึ่งไม่” แต่พอมาถึงรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยก็กลับรวมกันได้อีก ศิลาจารึกหลักที่ 4 จารึกวัดป่ามะม่วงได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์ครองอยู่เมืองศรีสัชนาลัย ได้ยกกองทัพจากเมืองศรีสัชนาลัยมายังสุโขทัย ใช้เวลาถึง 3 วันถึงจะมาถึง เมื่อเข้าเมืองสุโขทัยได้แล้วทรงประหารศัตรูของพระองค์ด้วยขวาน ต่อจากนั้นก็ขึ้นครองราชย์ ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก
เรื่องราวดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าก่อนหน้าที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยจะได้เสวยราชย์นั้นได้มีกษัตริย์ปกครองเมืองสุโขทัยอยู่แล้ว จะเป็นด้วยได้ราชสมบัติโดยชอบธรรมหรือไม่นั้นไม่ทราบชัด แต่ว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงได้ราชสมบัติจากการกำจัดผู้ครองเมืองสุโขทัยพระองค์นั้นอย่างแน่นอน โดยเหตุนี้จึงทำพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างใหญ่โต ซึ่งในที่นี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นพระราชพิธีปราบดาภิเษกมากกว่าราชาภิเษก เพราะฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่ากษัตริย์ผู้ถูกสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยประหารเสียนั้น เป็นเจ้านายในราชวงศ์ผาเมืองที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับราชวงศ์พระร่วงมาแต่สมัยพ่อขุนผาเมือง
การสร้างศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่บรรยายเกี่ยวกับพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คงมีความมุ่งหมายมิใช่น้อยที่จะสร้างภาพพจน์และสิทธิธรรมของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งราชวงศ์พระร่วง
ความขัดแย้งคงเกิดขึ้นระหว่างสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยกับบรรดาเจ้านายในราชวงศ์ผาเมือง ซึ่งคงปกครองบ้านเมืองหลายแห่งอยู่ทางลุ่มน้ำน่านในกลุ่มสระหลวงสองแคว และกินเลยเข้าไปในลุ่มน้ำป่าสักทางเพชรบูรณ์ เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยต้องยกกองทัพไปปราบปรามและมาครองเมืองสองแควอยู่พักหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ทรงพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างพระบรมธาตุขึ้นที่เมืองสองแคว สร้างพระพุทธบาท แล้วนำคนจากพระบรมธาตุขึ้นที่เมืองสองแคว และลุ่มน้ำป่าสักไปไหว้พระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏเมืองสุโขทัย เป็นต้น
อย่าไรก็ตาม ความขัดแย้งนี้หาได้สิ้นสุดไม่ กลับบานปลายไปถึงการเกี่ยวข้องกับทางอยุธยา เป็นเหตุให้สมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ส่งกองทัพมายึดเมืองสองแคว ซึ่งตามเอกสารของล้านนาเรียกว่าเมืองชัยนาท เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยต้องขอเป็นไมตรีและขอเมืองคืน
เหตุการณ์เช่นนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นว่าเจ้านายทางฝ่ายราชวงศ์ผาเมืองนั้นมีความสัมพันธ์กับทางลพบุรีและอยุธยาไม่น้อย อาจแลเห็นได้จากข้อมูลในศิลาจารึกสุโขทัยเองด้วยซ้ำ ดังเช่นศิลาจารึกหลักที่ 11 ที่พบที่เขากบเมืองพระบางหรือเมืองนครสวรรค์ มีข้อความในด้านหนึ่งกล่าวถึงบุคคลผู้หนึ่งว่าได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ที่สำคัญในเมืองไทยในสมัยนั้น รวมทั้งออกไปต่างประเทศ เช่น อินเดีย และลังกา ได้ทำบุญกุศลสร้างพระธาตุและปลูกต้นพระศรีมหาโพธิในที่ต่างๆ ด้วย ในบรรดาเมืองสำคัญเหล่านี้มีชื่อเมืองอโยธยาอันเป็นที่บุคคลนั้นได้เข้าไปเฝ้า “บุรีบรมราชอโยธยาศรีรามเทพนคร” ซึ่งก็คงหมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้ครองเมืองอยุธยานั่นเอง
บุคคลที่กล่าวถึงในศิลาจารึกนี้ ตามความเห็นของนักอ่านจารึกและนักวิชาการปัจจุบันนี้ หลายๆ ท่านเชื่อว่าคือ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เพราะข้อความและเรื่องราวดูสอดคล้องกับจารึกวัดศรีชุมมาก และศิลาจารึกหลักที่พบที่เขากบนี้ เป็นหลักเดียวในบรรดาจารึกต่างๆ ของสุโขทัยที่กล่าวถึงชื่อเมืองอยุธยา
ปัญหาก็คือว่า ถ้าบุคคลผู้นี้คือสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีจริง พระองค์ก็ต้องทรงเกี่ยวกันไม่มากก็น้อยกับทางกษัตริย์แห่งอยุธยา ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้นอาจจะเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือรัชกาลก่อนหน้านี้ก็ได้
การที่ฝ่ายราชวงศ์ผาเมือง มีความสัมพันธ์กับทางลพบุรีและอยุธยาตามหลักฐานจากจารึกและตำนานตามที่กล่าวมาแล้วนี้ สามารถนำไปเปรียบเทียบกับจารึกหลักที่ 1 ในตอนท้ายๆ ที่กล่าวถึงขอบเขตความสัมพันธ์ของแคว้นสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง กับเมืองต่างๆ ที่ไม่ปรากฏชื่อเมืองในเขตแคว้นอยุธยาเลย แต่พบว่าสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองแพรกศรีราชา สุพรรณภูมิ เพชรบุรี ราชบุรี ไปจนถึงนครศรีธรรมราช
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนอุปถัมภ์” ศึกศิลาจากรึก ที่พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้แต่งยุคสุโขทัย บทความตอน “พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ทำศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แต่ทำขึ้นสมัย ‘ลิไทย’ ด้วยเหตุผลทางการเมือง” โดย ศรีศักร วัลลิโภดม (คัดและปรับปรุงย่อหน้าใหม่จากผลการวิจัยเรื่อง เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย เสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2530 พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2532)
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 17 มกราคม พ.ศ.2561