หวานเย็นชื่นใจ! “น้ำแข็งไส” อาหารคลายร้อนนานาชาติ

น้ำแข็งไส
(ภาพโดย Kathryn Loydall จาก Pixabay)

“น้ำแข็งไส” (Shaved Ice Dessert) เป็นขนมหวานที่เกิดขึ้นหลังการเข้ามาของน้ำแข็งใน ประเทศไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นการนำเข้ามาจากสิงคโปร์เพื่อการบริโภคในวัง กระทั่งมีการตั้งโรงน้ำแข็งสยามขึ้นในเวลาต่อมา

ว่ากันว่าชาวจีนในจังหวัดเพชรบุรีริเริ่มดัดแปลงไสน้ำแข็งก้อนใหญ่ เป็นเกล็ดอัดเป็นแท่งเสียบไม้ราดน้ำหวาน เรียกว่า “จ้ำบ๊ะ” ต่อมาราว พ.ศ. 2490 นมข้นหวานเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลาย จึงมีการราดนมลงบนจ้ำบ๊ะด้วย (รสสุคนธ์ มกรมณี และ สมรวยอภิชาติบุตรพงศ์, 2555) 

Advertisement

ภายหลังมีการใส่น้ำแข็งในอาหารหวานหลายอย่าง เช่น ลอดช่องหรือผลไม้เชื่อมต่าง ๆ เรียกว่า “หวานเย็น” รวมทั้งยังมีการใช้น้ำแข็งในอาหารคาว คือ “ข้าวแช่”

น้ำแข็งไส
น้ำแข็งไส ร้านก๋วยเตี๋ยวต้นยาง จังหวัดอุทัยธานี

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมขนมหวานใส่น้ำแข็ง สามารถพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศเมืองร้อน เช่นเดียวกับ “ชิง แซม โบ เลือง” (Ching Sam Bo Leung) น้ำแข็งไสของเวียดนามที่ดัดแปลงมาจาก “เชง ตึง” (Cheng Tung) วุ้น เห็ดหูหนู แปะก๊วย และผลไม้ในน้ำเชื่อมแบบร้อนของจีน (Snow Lam, 2017)

“ฮาโล ฮาโล” (Halo Halo) ในภาษาฟิลิปปินส์ ที่แปลว่า “ผสมกัน” น้ำแข็งไสอลังการของฟิลิปปินส์ที่ดัดแปลงมาจากถั่วแดงต้มราดน้ำเชื่อม นม และน้ำแข็งบดแบบญี่ปุ่นเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ “บิงซู” (Bing Su) น้ำแข็งไสภูเขาไฟที่แพร่กระจายไปทั่วโลกพร้อมกับซีรีส์เกาหลี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ข้างสำรับไทย : เป็นไทยที่ลำต้นกิ่งก้านใบดอกผล รากเหง้าปะปนหลากเผ่าหลายพันธุ์” เขียนโดย ดร. องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2566