พระเสี่ยง วัดจอมศรี ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย พระศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ทำไมชื่อ “พระเสี่ยง”

พระพุทธรูป พระเสี่ยง วัดจอมศรี จังหวัดเลย
พุทธลักษณะของพระพุทธรูปพระเสี่ยง วัดจอมศรี กับฉากหลังเป็นอุโบสถวัดจอมศรี ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเสี่ยง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560)

“พระเสี่ยง” แห่ง วัดจอมศรี อยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเลย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบร่องรอยชุมชนโบราณในวัฒนธรรมล้านช้างหลายแห่ง เช่น ชุมชนโบราณเมืองทรายขาว เขตอำเภอวังสะพุง ชุมชนโบราณเมืองเลยและบ้านนาอ้อ เขตอำเภอเมืองเลย และชุมชนโบราณเมืองเชียงคาน เขตอำเภอเชียงคาน เป็นต้น

มีโบราณสถานปรากฏกระจายอยู่ตลอดที่ราบลุ่ม เช่น โบราณสถานวัดกู่คำ วัดโพธิ์ชัยมงคล วัดศรีภูมิ วัดศรีสัตตนาค วัดห้วยห้าว วัดศรีจันทร์ และวัดพระธาตุ เป็นต้น ที่สำคัญคือ มีพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างทั้งที่สร้างด้วยปูนปั้นและหล่อด้วยโลหะหลายองค์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต สังคม และศิลปวัฒนธรรมของผู้คนในลุ่มน้ำเลย

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูป “พระเสี่ยง” ที่ วัดจอมศรี บ้านนาสี ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและสังคมของชุมชนบ้านนาสีเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนภายนอกเท่าใดนัก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นในลุ่มน้ำเลยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย

วัดจอมศรีแห่งบ้านนาสี ที่ประดิษฐาน “พระเสี่ยง”

วัดจอมศรี เป็นศาสนสถานเก่าแก่ในชุมชนบ้านนาสี ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย การสร้างวัดไม่ปรากฏประวัติอย่างชัดเจน ทราบแต่เพียงว่าสร้างขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการตั้งชุมชนบ้านนาสี ภายในวัดจอมศรีมีอุโบสถเก่าแก่หลังหนึ่ง เป็นศาสนาคารที่มีความสำคัญที่สุดภายในวัด

อุโบสถหลังนี้เป็นอาคารก่อด้วยอิฐ ยกพื้นสูง จำนวน 5 ห้อง เป็นพื้นที่ใช้งานในอุโบสถจำนวน 3 ห้อง และเป็นระเบียงด้านหน้าจำนวน 2 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้า 3 ด้าน ยกเว้นด้านหลัง ด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง บานประตูและบานหน้าต่างทำด้วยแผ่นไม้ มีการแกะสลักฝีมือช่างพื้นบ้าน เครื่องบนทำด้วยไม้ หลังคาทำเป็น 4 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในมีฐานชุกชีขนาดใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองหล่อด้วยทองเหลืองเป็นพระประธาน และมีพระพุทธรูปไม้แกะสลักฝีมือช่างพื้นบ้าน อายุประมาณ 50-100 ปี ประดิษฐานอยู่รอบๆ อีกหลายสิบองค์

เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางศิลปกรรม อุโบสถวัดจอมศรีถือศิลปกรรมแบบพื้นบ้านที่ได้รับอิทธิพลศิลปะฝีมือช่างญวน เพราะมีลักษณะช่องซุ้มโค้งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมฝีมือช่างญวนอยู่ที่ระเบียงด้านหน้าจำนวน 7 ช่อง อุโบสถหลังนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2493

ข้อความปูนปั้นที่ปรากฏอยู่เหนือประตูอุโบสถทางทิศตะวันออกระบุว่าช่างสมบูรณ์ ชาวร้อยเอ็ดเป็นนายช่างควบคุมการก่อสร้าง และมีรายชื่อชาวบ้านนาสีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริจาคเงินสร้างอุโบสถปรากฏอยู่อีกหลายคน

สำหรับบ้านนาสีถือว่าเป็นชุมชนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในลุ่มน้ำเลย มีอายุการตั้งถิ่นฐานของชุมชนปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 100 ปี ดังปรากฏข้อมูลในบันทึกของ เอเจียน แอมอนิเย (Etienne Aymonier) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ต้องการสำรวจหาศิลาจารึกในลาวและอีสาน ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลเขมรโบราณมาก่อน เนื้อหาส่วนหนึ่งของรายงานบอกเล่าถึงการเดินทางของคณะสำรวจช่วงที่ผ่านระหว่างเมืองเชียงคานกับเมืองเลย ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2426

คณะสำรวจกลุ่มนี้ได้บันทึกถึงสภาพทั่วไปของหมู่บ้านในสังกัดเมืองเชียงคานและเมืองเลย ที่สำคัญคือ คณะเดินทางของเอเจียนได้ผ่านบริเวณบ้านนาสีเมื่อวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2426 ด้วย ดังปรากฏข้อความว่า “…พากันหยุดพักที่บ้านนาสี (Ban Na Si) เป็นหมู่บ้านที่มีกระท่อม 30 หลัง มีประชากรขึ้นกับเมืองหล่มและเมืองเลย แต่พื้นที่ดินเป็นของเมืองเลย…”

พระเสี่ยง : ประวัติศาสตร์และพุทธศิลป์

พระเสี่ยง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงรวมฐาน 45 เซนติเมตร สำหรับสถานที่ประดิษฐานพระเสี่ยงนั้น ไม่เป็นที่เปิดเผยข้อมูลของชุมชน เพราะจะมีการหมุนเวียนที่ประดิษฐานไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการถูกโจรกรรม แต่จะอัญเชิญออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้สักการะและยกเสี่ยงทายเพียง 2 ครั้งในรอบปีเท่านั้น คือ ในงานบุญประจำปีของวัดจอมศรีที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 3 และวันที่ 13 เมษายน เพื่อสรงน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์

ชาวบ้านเล่าว่าพระพุทธรูปพระเสี่ยงเดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำพระบนภูเขาทางทิศตะวันออกของชุมชนบ้านนาสี แต่ต่อมาได้มีการอัญเชิญลงมาประดิษฐานไว้ที่วัดจอมศรีเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าอดีตเจ้าอาวาสวัดได้เป็นผู้เก็บรักษาไว้ที่กุฏิท่าน หลังจากมรณภาพแล้วจึงมีการอัญเชิญไปประดิษฐานหมุนเวียนตามบ้านเรือนของชาวบ้าน

พระพุทธรูปพระเสี่ยงมีลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย พระกรรณ (หู) ใหญ่และกางออกด้านข้างคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ และริมพระโอษฐ์เล็ก เม็ดพระศกกลมเล็ก พระอุระนูนเล็กน้อย สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรง ยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์เรียวและปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน

พระรัศมีเดิมถูกโจรกรรมไป ชาวบ้านจึงได้จ้างช่างหล่อขึ้นมาใหม่ให้คล้ายกับพระรัศมีเดิม ประทับนั่งบนฐานราบซึ่งมีลักษณะชำรุด แต่ที่น่าสังเกตคือรอยรูปกลีบบัวอยู่ด้านหลังเล็กน้อยคล้ายปูนปั้นประดับ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า พระเสี่ยง เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 24-25 เนื่องจากมีพุทธศิลป์ที่คล้ายกับกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างระยะหลัง (สมัยที่ลาวอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรไทย) พบเป็นจำนวนมากในเขตภาคอีสาน ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ของชาวลาวมาแต่เดิม ส่วนหนึ่งยังได้มาปรากฏตามเมืองต่างๆ ในภาคกลางที่ชาวลาวถูกเกณฑ์มาอยู่ด้วย และยังคล้ายกับกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะพื้นบ้านในภาคอีสาน (พุทธศตวรรษที่ 24-25) ด้วย

พระเสี่ยง กับศรัทธาแห่งบ้านนาสี

พระพุทธรูปพระเสี่ยงเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านนาสีมาช้านาน ได้รับการเคารพศรัทธาจากชาวบ้านนาสีและชุมชนใกล้เคียง ทั้งนี้เนื่องจากว่าพระพุทธรูปพระเสี่ยงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีเรื่องเล่าถึงอิทธิปาฏิหาริย์ และยังมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเชื่อของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสี่ยงทายเหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้า

เหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้ชื่อว่า “พระเสี่ยง” นั้น ก็เนื่องจากว่าเวลาที่ชาวบ้านมีความเดือดเนื้อร้อนใจมักจะไปอธิษฐานขอพรและทำเครื่องบูชาไปเสี่ยงทายกับพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ มักจะเป็นไปตามผลเสี่ยงทายเสมอ ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระเสี่ยง”

วิธีการเสี่ยงทายสามารถกระทำได้ด้วยการอธิษฐานแล้วยกองค์พระพุทธรูปขึ้น หากว่าการอธิษฐานนั้นจะสำเร็จผล การยกองค์พระพุทธรูปก็จะมีน้ำหนักที่หนักมากหรือเบามากตามคำอธิษฐาน ในการอธิษฐานเสี่ยงทายครั้งหนึ่งนั้น สามารถอธิษฐานยกเสี่ยงทายได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อคน แต่เดิมมีการประดิษฐานพระพุทธรูปพระเสี่ยงไว้ในอุโบสถวัดจอมศรี ผู้ศรัทธาสามารถเดินทางมาอธิษฐานเสี่ยงทายได้ตลอด

ต่อมาเมื่อเกิดกรณีคนร้ายโจรกรรมพระรัศมีของพระเสี่ยงไป ทำให้ต้องมีการอัญเชิญไปเก็บรักษาในที่ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ จะอัญเชิญออกมาให้ผู้ศรัทธาได้กราบไหว้สักการะเพียง 2 ครั้งในรอบปีเท่านั้น คือ ในงานบุญประจำปีของวัดจอมศรีที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 3 และวันที่ 13 เมษายน เพื่อสรงน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์

ทุกครั้งที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปพระเสี่ยงออกมา จะมีผู้ศรัทธามารอกราบไหว้และอธิษฐานยกเสี่ยงทาย ทั้งในช่วงงานบุญประจำปีและเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเดินทางมาอธิษฐานเสี่ยงทายสรงน้ำขอพรตลอดทั้งวัน

วันที่มีการอัญเชิญพระเสี่ยงออกมาจะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเดินทางมาที่วัดจอมศรี นอกจากนี้ ที่องค์พระพุทธรูปพระเสี่ยงยังมีร่องรอยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอยู่บริเวณพระกรทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากมีผู้ศรัทธามาอธิษฐานยกเสี่ยงทายจำนวนมาก เวลายกเสี่ยงทายก็จะจับที่พระกรจนทองที่ปิดอยู่บริเวณพระกรทั้ง 2 ข้างลอกออก ทำให้เห็นสีดำของรักและผิวของโลหะสำริดที่อยู่ใต้ทองอย่างชัดเจน

บทส่งท้าย

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมภายในวัดจอมศรี ทั้งในช่วงงานบุญประจำปีและเทศกาลสงกรานต์ใน พ.ศ. 2558 ทำให้ได้เห็นพลังศรัทธาของชาวบ้านนาสีและชุมชนใกล้เคียงที่มีต่อพระพุทธรูปพระเสี่ยง ชาวบ้านนาสีแทบทุกวัยต่างมาสักการะ ขอพรและอธิษฐานยกเสี่ยงทาย ในช่วงกลางวันก็จะมีการแห่ต้นเงินและดอกไม้จากชาวบ้านคุ้มต่างๆ มาถวายวัดจอมศรีตลอดทั้งวัน ในบางช่วงเวลาถึงกับต้องเรียกว่ามีการรอคิวในการเข้ายกพระเสี่ยงเสี่ยงทายเลยก็ว่าได้

พลังศรัทธาของชาวบ้านนาสีที่มีต่อพระพุทธรูปพระเสี่ยง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ยังส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและสามัคคีกัน ถึงแม้ว่าปัจจุบันชุมชนบ้านนาสีจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่จนถูกแบ่งพื้นที่การปกครองตามระเบียบของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็น 4 หมู่บ้าน มีวัดและสำนักสงฆ์เกิดขึ้นในบริเวณรอบๆ ชุมชนถึง 5 แห่ง แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชนยังเห็นได้อย่างชัดเจนในงานบุญประจำปีของวัดจอมศรีและพิธีสรงน้ำพระเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์

ผู้เขียนเชื่อว่าในท้องถิ่นภาคอีสาน หลายๆ ชุมชนยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ชาวบ้านนับถือศรัทธา อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต สังคม และศิลปวัฒนธรรมของผู้คนซ่อนอยู่อีกมากมาย ควรที่จะมีการศึกษาและนำเสนอให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ปัญญาและพลังศรัทธาจะนำพาให้บังเกิดซึ่งความสงบสุขร่มเย็นให้กับสังคมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 11. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2534.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดหนองบัวลำภู. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ชวลิต อธิปัตยกุล. สิมญวน ในอีสาน : ความโยงใยพัฒนาการจากที่มา ที่ไป และสิ้นสุด ในห้วงมิติเวลาบนภาคอีสาน ของประเทศไทย. อุดรธานี : เต้า-โล้, 2556.

ดนุพล ไชยสินธุ์. มรดกไทเลย. เลย : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย วิทยาลัยครูเลย, 2534.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2555.

______. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
เอเจียน แอมอนิเย เขียน. ทองสมุทร โดเร และ สมหมาย เปรมจิตต์ แปล. บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ. 2438. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2539.

สัมภาษณ์บุคคล :

หลวงตาบัด สุวโจ เจ้าอาวาสวัดจอมศรี ชุมชนบ้านนาสี ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สัมภาษณ์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558

นายสิงห์ ไชยคีนี … หมู่ที่ 2 ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สัมภาษณ์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

นายสำรวย โคตรนารินทร์ … หมู่ที่ 2 ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สัมภาษณ์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

นางระหัด แถวบุญตา … หมู่ที่ 2 ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สัมภาษณ์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

นายซอม สุพร ผู้ใหญ่บ้านบ้านจอมศรี หมู่ที่ 2 ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สัมภาษณ์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2564