ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน

ภาพสลัก กองทัพ สฺยำกุก ที่ ระเบียง ปราสาท นครวัด
ภาพสลักรูปกองทัพสฺยำกุก ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก เดิมมีข้อความจารึกว่า "เนะ สฺยำกุก" ปัจจุบันถูกกะเทาะหลุดหายไปแล้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

“ขอม” อยู่ไหน? “ไทย” อยู่นั่น “ขอม” กับ “ไทย” ไม่พรากจากกัน

ไทยมีประวัติความเป็นมาทั้งของผู้คนและของดินแดน เป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ ในอุษาคเนย์ หรืออาเซียน อย่างแยกออกจากกันไม่ได้

ดังนั้น บรรพชนคนอุษาคเนย์ย่อมนับเป็นบรรพชนคนไทยด้วย

ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน เพราะเป็นคนพวกเดียวกันบนสุวรรณภูมิ แต่มีชื่อเรียกต่างกันด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม

จึงต้องร่วมกันทำความเข้าใจ เรื่องชื่อต่างๆ เช่น ขอม, ไทย, ลาว, สยาม

ขอม

ขอม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นชนชาติขอมจึงไม่มีจริง

แต่ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรมมีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1500 ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าคริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์

ศูนย์กลางขอมครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วขยายไปอยู่กัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ใครก็ตาม ไม่ว่า มอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม หรือ ไทย ฯลฯ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ และพุทธมหายาน อยู่ในสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และอาณาจักรกัมพูชา จะได้ชื่อว่าขอมทั้งนั้น

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่าง ว่า ขอมคือเขมร และ ขอมไม่ใช่เขมร

ไทย

ไทย แรกมีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 1700 พร้อมกับวิวัฒนาการอักษรไทย บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง

แต่ที่เรียกตนเองว่าไทย เพิ่งพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุดหลัง พ.ศ. 2000 อยู่ในวรรณกรรมยุคต้นอยุธยาเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนเริ่มเรื่องกล่าวถึงการละเล่นเบิกโรง ชุดลาวกับไทยฟันดาบ

ขอบเขตของไทยยุคแรกๆ เหนือสุดไม่เกิน จ. อุตรดิตถ์ ใต้สุดบริเวณ จ. เพชรบุรี และอาจต่ำลงไปไม่เกิน จ. ประจวบคีรีขันธ์

คนไทย

คนไทย โดยทั่วไปหมายถึงคนพูดภาษาไทย แล้วมีวิถีชีวิต, มีทัศนะต่อโลก, มีระบบคุณค่า, มีอุดมการณ์, ตลอดจนมีสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ไทย ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรม อยู่ในขอบเขตรัฐไทยอันเป็นประเทศไทยปัจจุบัน

คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน? อาจพูดง่ายๆ สั้นๆ อย่างไม่เป็นทางการ ว่าคนไทยสาแหรกใหญ่เป็นลาว ที่เคลื่อนจากลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งหลักแหล่งถูกหล่อหลอมยอมรับวัฒนธรรมมอญ-เขมรอย่างเต็มคราบ แล้วแต่งงานกับคนจีนจนมั่งคั่ง จึงเรียกตนเองด้วยชื่อใหม่ว่าคนไทย

คำว่า ไทย ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติบริสุทธิ์ไม่มีจริงในโลก และไม่ใช่ชื่อชนชาติมาแต่แรก เพิ่งมาสมมุติเรียกขึ้นเมื่อเวลาภายหลังในช่วงใดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น พร้อมวิวัฒนาการอักษรไทย ราวหลัง พ.ศ. 1700

คำเรียกชื่อไทย มีรากจากคำว่าไท หรือไต ของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าต่างๆ ที่ตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายในภูมิภาคอุษาคเนย์ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ทางตอนใต้ของจีน ตั้งแต่บริเวณตอนใต้ลุ่มน้ำแยงซีเกียง ลงไปถึงชายฝั่งทะเล

แต่คนเหล่านั้นไม่ใช่คนไทยของรัฐไทยทั้งหมด แม้บางกลุ่มชาติพันธุ์ทุกวันนี้จะจัดอยู่ในภาษาตระกูลไทย-ลาว หรือลาว-ไทย เช่น ลาว, ลื้อ, จ้วง, ฯลฯ ก็ไม่ใช่คนไทยของรัฐไทย แต่เป็นคนลาวของประเทศลาว, คนลื้อและคนจ้วงของประเทศจีน

คนไทยในประเทศไทยทุกวันนี้ เมื่อได้ยินหรือพบคำว่าไทลื้อ หรือไทจ้วง ก็พากันตีขลุมว่าเป็นคนไทยไปทันที ด้วยความเข้าใจเอาเองอย่างคนปัจจุบัน

แต่ความจริงแล้วไทกับไตข้างหน้าชื่อชาติพันธุ์ แปลว่าคนเฉยๆ และหมายถึงชาวก็ได้ คนพวกนั้นกำลังสื่อความหมายว่าพวกเขาเป็นคนลื้อ, ชาวลื้อ หรือเป็น คนจ้วง, ชาวจ้วง ไม่ใช่คนไทย, ชาวไทย ของรัฐไทยและประเทศไทย

คนไทย หมายถึงใคร? อะไร? ที่ไหน? อย่างไร? ฯลฯ ไม่มีคำอธิบายตายตัวหรือสำเร็จรูป เพราะขึ้นอยู่กับภูมิหลังหรือปูมหลังของผู้อธิบายที่มีต่างกันมากมายหลายหลาก เช่น อาจบอกว่าหมายถึงคนพูดภาษาไทย, คนเกิดในประเทศไทย, ฯลฯ

แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น เพราะคนจำนวนไม่น้อยไม่พูดภาษาไทย และไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่ถูกริบเป็นคนไทยได้ในทางกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

ไทย หมายถึง คน, ชาว แต่เป็นคนทางสังคมที่ต่างจากสัตว์ และไม่ใช่ผี แต่ทุกวันนี้ถูกกำหนดให้หมายถึง อิสระ, เสรี

มีรากจากคำร่วมสุวรรณภูมิดั้งเดิมว่า ไท, ไต หมายถึง คน, ชาว มีใช้ในภาษาของทุกชาติพันธุ์ เช่น มอญ-เขมร ก็มี ครั้นนานเข้าความหมายเปลี่ยนไปมีฐานะทางสังคมต่ำลงเป็น ข้า, ทาส

หลังรับพุทธศาสนาเถรวาท ใช้ภาษาบาลีอย่างกว้างขวางจนมีรากฐานแน่นหนาแล้ว อิทธิพลคำบาลีจากไทมีทั่วไป เลยแปลงคำพื้นเมืองให้มีรูปบาลีตามความนิยมครั้งนั้น โดยเอา ย มาสะกดคำเดิมเป็น ไทย แล้วกำหนดให้ความหมายเปลี่ยนไปหมายถึง อิสระ, เสรี

ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม

ไทยน้อย เป็นชื่อที่คนในพระนครศรีอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาว หรือชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมลาวบริเวณสองฝั่งโขง ทั้งฝั่งขวา (คือบริเวณอีสานในประเทศไทยทุกวันนี้) และฝั่งซ้าย (คือดินแดนลาวปัจจุบัน) ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออก ถึงกลุ่มชาติพันธุ์พูดตระกูลไทย-ลาว ลุ่มน้ำดำ-แดง (ในเวียดนาม), กวางสี-กวางตุ้ง (ในจีน)

ลาวลุ่มน้ำโขง ถูกเรียกสมัยหลังว่าลาวพุงขาว เพราะไม่สักลายตามตัวเหมือนพวกไทยใหญ่ คนพวกนี้ออกเสียงตรงตามรูปอักษร คือ ท เป็น ท และ พ เป็น พ

ไทยใหญ่ เป็นชื่อที่คนในพระนครศรีอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2000 ผูกขึ้นเรียกพวกลาว บริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนเหนือ (ในพม่า) ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำพรหมบุตร (ในอัสสัมของอินเดีย)

ลาวลุ่มน้ำสาละวิน ถูกเรียกสมัยหลังว่า ลาวพุงดำ เพราะสักลายด้วยหมึกสีคล้ำ ตามตัวตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงแข้ง (ขา) คนพวกนี้ออกเสียง ท เป็น ต และ พ เป็น ป

ไทยใหญ่ยังถูกเรียกจากชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างดูถูกเหยียดหยามเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ว่า เงี้ยว แปลว่า งู (เหมือนคำว่า เงือก, งึม)

เหตุที่ได้นามไทยใหญ่ มีผู้เชี่ยวชาญเคยอธิบายว่าหมายถึงดินแดนและผู้คนที่รับศาสนาจากชมพูทวีป แล้วเติบโตเป็นบ้านเมืองเป็นรัฐก่อนพวกอื่น (คือ ไทยน้อย) ที่เพิ่งรับศาสนาในภายหลัง

แม่น้ำสาละวินเป็นชื่อในภาษาพม่า แต่พวกลาวเรียก น้ำแม่คง หรือแม่น้ำคง

คำว่า คง ในชื่อแม่น้ำคง มีที่มาและความหมายเดียวกับคำว่า ของ ในชื่อน้ำแม่ของ หรือแม่น้ำโขง มีรากจากภาษามอญว่า โคลฺ้ง แปลว่า ทาง, เส้นทางคมนาคม

ไทยสยาม เป็นคำผูกขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ราวหลัง พ.ศ. 2400 เพื่อสมมุติเรียกอย่างรวมๆ หมายถึงกลุ่มผู้คนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ ปะปนกัน โดยเฉพาะตระกูลมอญ-เขมร, ไทย-ลาว, ชวามลายู, และจีน

ปัจจุบันพวกไทยสยามเรียกตัวเองว่า ไทย หมายถึง อิสระ, เสรี

ลาว

ลาว แปลว่า คน

แต่ไม่ใช่คนทั่วๆ ไป หากหมายถึงคนเป็นนาย, คนเป็นหัวหน้า ที่ได้รับยกย่องว่ามีฐานะทางสังคมสูงกว่า, ดีกว่า, เหนือกว่าคนอื่น

เช่น ลาวจก หมายถึง ผู้เป็นใหญ่มีจอบ (จอบเป็นเครื่องมือขุดดิน ทำด้วยเหล็ก มันเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และก้าวหน้ามากเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว คนทั่วไปไม่มีจอบเป็นของตนเอง ต้องระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์เท่านั้นจึงมีได้) เป็นชื่อเรียกบรรพชนผู้เป็นใหญ่ของล้านนายุคแรกเริ่ม

ลาวในชื่อลาวจก เทียบเท่าคำว่าขุนในรัฐภาคกลาง (เช่น สุโขทัย) หมายถึง กษัตริย์, พระราชา

สยาม

สยาม เป็นชื่อดินแดน ที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้เรียกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้างๆ หลวมๆ

แต่สมัยหลังมีขอบเขตแคบลงเหลือเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ที่บางครั้งยาวต่อเนื่องลงไปถึงนครศรีธรรมราช)

สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่ใช้เรียกกลุ่มคนที่อยู่ดินแดนสยามว่า ชาวสยาม โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษา แต่มักสื่อสารกันทั่วไปด้วยตระกูลภาษาไทย-ลาว (ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าภายในสมัยโบราณ)

คนเกิดมาไม่ว่าชาติพันธุ์อะไร (แม้เป็นตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ฯลฯ) ถ้ามีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนสยามแล้ว ถูกเรียกเหมาหมดว่าชาวสยาม

เช่น คนนานาชาติพันธุ์บริเวณสองฝั่งโขงที่มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง เคยถูกเรียกว่า พวกสยาม ด้วยคำเขมรว่า เสียมกุก หรือ เสียมก๊ก เมื่อเรือน พ.ศ. 1650 (มีคำจารึกและภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด)

ชาวยุโรปเรียกกรุงศรีอยุธยาว่าสยาม หรือราชอาณาจักรสยาม ต่อมาเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่าประเทศสยาม

สยามมีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่า ซัม, ซำ, หรือ สาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซึม น้ำซับ เป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน

น้ำซึมน้ำซับหรือตาน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้น เกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้อุ้มไว้ทั้งบนภูเขา และบนเนินดอน แล้วค่อยๆ เซาะชอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลนที่ราบเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นที่ลุ่มห้วยหนองคลองบึงทุ่งทาม เช่น หนองหานที่สกลนคร, หนองหานที่อุดรธานี, บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2565