ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุการณ์การล่มสลายของ “เมืองพระนคร” นี้ ในหนังสือ “นครวัดทัศนะเขมร” (สำนักพิมพ์มติชน, 2545) ซึ่ง รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ได้แปล เรียบเรียง และตัดตอนถอดความ จากแบบเรียนประวัติศาสตร์เขมรสำหรับชั้นมัธยม และอุดมศึกษา ของ ตฺรึง งา (ออกเสียงว่า ตรึง เงีย) ศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมและอารยธรรมเอเชีย ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์เขมร ในคณะอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพนมเปญ รายละเอียดมีดังนี้
หลังจาก พระเจ้าแตงหวาน (ตฺรอสกแผฺอม) เสวยทิวงคต บุตรของพระองค์พระนาม พระนิพพานบท ได้ขึ้นเสวยราชย์สนองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1340 ถึง ค.ศ. 1346 และหลานของพระองค์ (บุตรพระบาทนิพพานบท) พระนาม ลำพงราชา ได้รับราชสมบัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1346 ถึงค.ศ. 1351
ในปี ค.ศ. 1351 กษัตริย์สยามพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดี หลังจากได้ตั้งราชธานีที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้ยกทัพเข้ามาตีเขมร แต่ก่อนจะมาถึงเมืองพระนคร กองทัพสยามถูกอุปราชเขมร (พระสุริโยทัย อนุชาพระลำพงราชา) ยกทัพไปสกัดตีแตกทัพถอยคืนไปสิ้น พระลำพงราชานึกนอนใจว่าศัตรูไม่อาจทำอะไรได้อีก จึงทรงบัญชาให้แยกย้ายกองทัพให้ไปยังสถานลำเนาทุก ๆ คน เมื่อได้ยินว่า สยามยกทัพเข้ามาใหม่ เขมรเกณฑ์ทัพไม่ทันจึงกวาดต้อนราษฎรให้เข้ามาในกำแพงมหานครแล้วเกณฑ์พลให้ทำการป้องกัน
ทัพสยามเข้าล้อมเมืองเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน ทัพช่วยของเขมรเป็นอันมากได้ยกมาจากที่ห่างไกลต่าง ๆ แต่โดยมากไม่พร้อมเพรียงกันจึงต้องปราชัย ส่วนทัพสยามก็มักส่งกองทัพมาเพิ่ม พระลำพงราชาเสวยทิวงคตด้วยพระโรค
สยามโจมตีอย่างหนัก ในที่สุดแม่ทัพสยามชื่อ บาสาต ได้ทำลายประตูเมืองทางทิศตะวันออก มีการต่อสู้ต่อไปในกรุง เป็นเหตุให้พระมหาอุปราชศรีสุริโยทัยสุคตไปอีก (พระองค์หนึ่ง) เวลานั้นกษัตริย์และราชครูปุโรหิตพากันนำเครื่องสำหรับราชย์ ตีฝ่ากองทัพสยามหนีออกไป แต่ราชธานีพระนครต้องตกอยู่ในมือของสยามในปี ค.ศ. 1352
หลังจากได้อภิเษกบุตรนาม เจ้าบาสาต ให้ขึ้นเสวยราชย์ที่กรุงพระนคร และแต่งตั้งเจ้าเมืองเป็นชาวสยาม ให้ตรวจตราเมืองเขมรทั้งหลายอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งตีได้ในการเดินทางโจมตีเมืองพระนคร สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จกลับคืนไปกรุงศรีอยุธยาโดยกวาดต้อนราษฎรเขมรไปเป็นเชลย และนำทรัพย์สมบัติทั้งหมดจำนวนมากไปอีกด้วย
บุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีทั้ง 3 คือ บาสาต บาอาต และ กำปงพิสี ขึ้นเสวยราชย์สืบต่อกันในเมืองพระนครตั้งแต่ปี ค.ศ. 1352 ถึง ค.ศ. 1357 เวลานั้น พระสุริโยวงศ์ อนุชาพระลำพงราชาซึ่งได้ปลีกพระองค์ไปอยู่ประเทศลาว (ล้านช้าง) ได้ยกทัพมาตีเมืองพระนคร ได้ในปี ค.ศ. 1357 เจ้ากำปงพิสีต้องสุคตในสงคราม
จากนั้นมาเขมรก็กำจัดสยามให้ออกพ้นจากนครราชสีมา ไปทางทิศพายัพและทิศประจิมไปทิศหรดี พระบาทสุริโยวงศ์ทิวงคตในปี ค.ศ. 1363 ด้วยพระโรค พระนัดดาของพระองค์พระนามว่า พระบรมราชา ขึ้นเสวยราชย์สนองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1363 ถึง ค.ศ. 1373 พระองค์ได้ผูกสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหงอู่แห่งราชวงศ์หมิง ส่วนชนชาติสยามก็ไม่ได้มาเบียดเบียนเขมรอีก ด้วยติดการสงครามกับกษัตริย์เมืองต่าง ๆ จำนวนมากทางด้านทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา
สงครามครั้งที่ 3 กับสยาม
พระเจ้าแผ่นดินที่ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1373 คือ พระบาทธรรมาโศก เป็นพระอนุชาพระบรมราชา เวลานั้นประเทศสยามตรงกับรัชกาล สมเด็จพระราเมศวร [เอกสารไทยว่าตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) – ผู้แปล] ได้ขึ้นเสวยราชย์ แล้วสืบต่อนโยบายขยายแผ่นดินของสมเด็จพระรามาธิบดีมาทางแผ่นดินเขมร
เมืองพระนครถูกล้อมครั้งใหม่เป็นเวลา 7 เดือน (ตั้งแต่เดือนมิคสิรจนถึงเดือนเชษฐ์) สยามเห็นว่าไม่อาจรบเอาชัยชนะเขมรได้ด้วยกำลังอาวุธ จึงใช้อุบายกลอีกครั้งหนึ่ง ทหารสยามจำนวน 5 นาย ได้ทำกลขอยอมเข้าข้างเขมรโดยบอกว่า กษัตริย์สยามทำบาปแก่ตนอย่างหนัก เพราะตนเองรบไม่ชนะเขมร ในที่สุดพวกนี้ได้หาอุบายเปิดประตูทางทิศตะวันตกได้ เมืองพระนครจึงต้องแตกอยู่ในเงื้อมมือสยามเป็นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1393) ส่วนพระบาทธรรมาโศกได้เสวยทิวงคตไปในเวลาที่สยามล้อมเมืองพระนครนั้น
พระเจ้ากรุงสยามอภิเษกพระโอรสพระนาม พญาแพรก ให้เสวยราชย์ในปี ค.ศ. 1394 (พระอินทราชา [เกิดจากความเข้าใจผิดว่า สมเด็จเจ้าพระยาอินทรราชา กับสมเด็จเจ้าพระยาแพรกเป็นพระองค์เดียวกัน ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก ของหอพระสมุดวชิรญาณกล่าวว่า หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ตีเมืองยโสธรปุระได้แล้ว โปรดให้สมเด็จพระอินทรราชาครองเมืองอยู่ก่อน ภายหลังเมืองสมเด็จพระอินทราชาสิ้นพระชนม์จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาแพรกเสด็จไปครองเมืองพระนครหลวงแทน – ผู้แปล] แล้วกวาดต้อนทรัพย์สมบัติ และเชลยเขมร 70,000 คนกลับไปกรุงศรีอยุธยา
เวลานั้น พญายาตโอรสพระสุริโยวงศ์หนีรอด แล้วไปตั้งเกณฑ์ทัพอยู่ที่ตวลบาสาน (ทวลบาสาน) การปลดปล่อยชาติที่นำโดยกษัตริย์องค์นี้มีการขยายตัวรวดเร็วมาก เพียง 5 เดือนหลังจากนั้นเขมรมีสมรรถภาพสามารถยกทัพมาตีปลดปล่อยเมืองพระนครคืนได้ แต่ก่อนที่ทัพใหญ่จะเข้าถึง พญายาตบัญชาให้ทหารสมัครใจ 12 คน ทำกลไปขอยอมเข้าด้วยกษัตริย์สยาม แล้วพกอาวุธเข้าปลงพระชนม์กษัตริย์สยามอยู่กับที่ในครั้งเดียว
เมื่อปลดปล่อยราชธานีได้แล้ว พญายาตสถาปนาหญิงสยาม ชื่อ สีสางาม ลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์สยามเป็นพระสนมเอกแล้วขึ้นเสวยราชย์ในเมืองพระนครเป็นสุขสำราญเรื่อยมา พระนามว่า พระราชโองการพระบรมราชาธิราช
การละทิ้งเมืองพระนคร
ในปี ค.ศ. 1431 ด้วยมักมีความระแวงว่า สยามจะเข้ารุกรานประเทศเขมรอีก พระบาทพญายาตจึงตัดสินพระทัยย้ายราชธานีให้ไกลจากเมืองพระนคร
มูลเหตุของการละทิ้งเมืองพระนครนี้ เนื่องจากประชาราษฎร์เขมรที่อยู่อาณาเขตด้านทิศตะวันตกถูกสยามกวาดต้อนไปเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิตเพราะสงครามสยามหลายครั้งหลายหน ดังนั้น ประชากรจึงมีน้อยนักไม่สามารถรักษาราชธานีพระนครต่อไปได้ เนื่องจากเวลานั้น (เมืองพระนคร) ตั้งอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ 400 กิโลเมตรเท่านั้น
หลังจากได้ปรึกษากับนาหมื่นสรรพมุขมนตรีแล้ว พระบาทพญายาตจึงโปรดให้ย้ายราชธานีไปตั้งที่ตวลบาสาน (ทวลบาสาน) ในเขตศรีสอฌอร์ [คือเมืองศรีสันธร ในปัจจุบัน – ผู้แปล] แต่ด้วยมีน้ำท่วมใหญ่ผิดธรรมดา พระองค์จึงบัญชาให้ย้ายราชธานีจากตวลบาสานไปตั้งอยู่ที่พนมโฎนเปญ เมืองจัตุรมุข (ภฺนํฎูนเพญ จตุมุข)
อ่านเพิ่มเติม :
- เมืองพระนคร (ศรีอยุธยา) ในไทย กับเมืองพระนคร ในกัมพูชา มีปวศ.ร่วมกัน นับพันปีมาแล้ว
- ผลวิจัยชี้ เมืองพระนคร กัมพูชา คือหนึ่งในเมืองที่มีผู้อาศัยมากสุดในโลก ยุคศตวรรษที่ 13
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2565