ผลวิจัยชี้ เมืองพระนคร กัมพูชา คือหนึ่งในเมืองที่มีผู้อาศัยมากสุดในโลกยุคศตวรรษที่ 13

นครวัด เมืองพระนคร กัมพูชา
นครวัด

เมืองพระนคร (Angkor) ใน กัมพูชา ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและนักประวัติศาสตร์ทั่วโลก สืบเนื่องจากมีนครวัด (Angkor Wat) โบราณสถานอันทรงคุณค่ายิ่งของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเชิงประชากรศาสตร์ในเมืองพระนคร ซึ่งเป็นภูมิภาครอบด้านของนครวัด กลับยังไม่ค่อยมีข้อมูลกระจ่างชัดมากนัก ขณะที่งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Science Advance รายงานว่า จากการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า มีผู้อยู่อาศัยในเมืองพระนครช่วงศตวรรษที่ 13 ระหว่าง 700,000-900,000 คน

เมืองพระนคร ประชากรหนาแน่น!

งานวิจัยที่ใช้ชื่อว่า “Diachronic modeling of the population within the medieval Greater Angkor Region settlement complex” เผยแพร่เมื่อ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 เผยว่า เมืองพระนครเวลานั้น เป็นเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในโลกในยุคนั้นเลยทีเดียว เพราะเมืองพระนครที่มีผู้อยู่อาศัย 700,000-900,000 คน ยังมากกว่าสถิติประชากรเมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 693,000 คน เมื่อปี 2019 เสียอีก

การวิจัยครั้งนี้รวบรวมข้อมูลที่มีในรอบ 30 ปี ผนวกกับเทคโนโลยีด้านการวัดระยะทางและประมวลผลเป็นรูปจำลอง 3 มิติที่เรียกว่า LiDar (Light Detection and Ranging) เพื่อนำข้อมูลมาร่วมประมวลผลวิเคราะห์พื้นที่เมืองพระนคร ซึ่งตั้งอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ด้วยเทคโนโลยีสแกนทำให้นักโบราณคดีสามารถเห็นรูปแบบเศษซากโครงสร้าง และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นอกย่านใจกลางเมืองพระนคร ไปจนถึงสิ่งปลูกสร้างซึ่งทำขึ้นจากไม้และวัสดุอื่น

เนื้อหาในแถลงการณ์เผยแพร่ผลการวิจัย อลิสัน เค. คาร์เตอร์ (Alison K. Carter) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) ที่ร่วมนำทีมนักโบราณคดี เปิดเผยว่า เทคโนโลยี LiDar ช่วยให้ทีมวิจัยสามารถเห็นถึงลักษณะพื้นที่สูงต่ำ และสามารถสันนิษฐานได้ว่าจุดไหนเป็นสระน้ำ

เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาผนวกรวมกับการหาอายุด้วยวิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (radiocarbon dating) ไปจนถึงการใช้อัลกอริธึมจากระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองในอุปกรณ์ประมวลผลขั้นสูง (machine learning algorithms) นำมาสร้างแผนที่โดยคร่าว เพื่อสร้างเป็นแบบจำลองการพัฒนาของเมืองขึ้น และค้นหาการเติบโตทางประชากรศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลา

ผลการวิจัยสรุปว่า ในพื้นที่พระนครเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนรวมแล้วประมาณ 700,000-900,000 คน ในช่วงศตวรรษที่ 13 และเชื่อว่ากระบวนการศึกษาที่ใช้วิเคราะห์ลักษณะนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ศึกษากับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ได้หลายแห่ง

เมืองแห่งการเกษตร-การค้า

จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บริเวณรอบเมืองพระนครในช่วงยุคแรกของเมือง ผู้คนในบริเวณนั้นทำการเกษตร ปลูกข้าว และพืชชนิดอื่น การขยายตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว เวลาต่อมา อัตราประชากรเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใจกลางเมือง

บริเวณศูนย์กลางของเมืองเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าราชวงศ์ ไปจนถึงช่างฝีมือ ผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปกรรมการแสดง นักบวช และครู ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทในการบริหารจัดการเมืองในภาพรวม

นอกเหนือไปจากพื้นที่ใจกลางเมืองและชานเมือง นักวิชาการยังเชื่อว่า ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ตามรายทางในเส้นทางของถนนและลำคลอง คาดว่าคนเหล่านี้น่าจะประกอบการค้า

ทั้งนี้ การศึกษาทางโบราณคดีในรอบหลายปีที่ผ่านมา เริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี LiDar หลายครั้งที่มันช่วยให้นักโบราณคดีเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตก่อนยุคสมัย ตัวอย่างหนึ่งคือ การค้นพบซากโครงสร้างเมืองมายาจำนวนมากเมื่อปี 2018 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศกัวเตมาลา การค้นพบนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ประชากรมายาในช่วงระหว่าง ค.ศ. 250-900 (A.D.) อาจมีมากถึง 15 ล้านคน มากกว่าตัวเลขที่เคยประเมินก่อนหน้านี้ 3 เท่า

ดังที่กล่าวแล้วว่า การศึกษาด้านประชากรของเมืองพระนครเป็นข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการมาตั้งแต่ยุควิชาการสมัยใหม่ หากย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 อ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส น่าจะเป็นผู้เอ่ยถึงจำนวนตัวเลขเกี่ยวกับเมืองพระนครเป็นคนแรกๆ โดยบันทึกของเขาอ้างว่า อาณาจักร Khmer “ครอบครองกองทัพที่มีทหาร 5-6 ล้านนาย”

สำหรับตัวเลขที่เชื่อกันว่ามาจากการคำนวณอย่างมีระบบเป็นครั้งแรกจริงๆ แล้ว เป็นตัวเลขจากนักโบราณคดีนามว่า Bernard-Philippe Groslier ซึ่งเสนอตัวเลขประชากรในพื้นที่รอบเมืองพระนครว่ามีราวๆ 1.9 ล้านคนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 12

ขณะที่การคำนวณประชากรในยุคสมัยใหม่ครั้งล่าสุดก่อนหน้าผลการศึกษาชิ้นนี้ ตัวเลขประชากรถูกประเมินไว้ว่าอยู่ที่ 750,000 คน (E. Lustig, 2001)

มิเรียน ที. สตาร์ก (Miriam T. Stark) ผู้ร่วมวิจัยในการศึกษาครั้งล่าสุด และผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จากมหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย แสดงความคิดเห็นว่า การศึกษาประชากรเมืองพระนคร ใน กัมพูชา เป็นเรื่องสำคัญสำหรับช่วยเสริมวิสัยทัศน์ด้านวิถีชีวิตในเมืองในอนาคตซึ่งมีปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก

เมื่อพิจารณาจาก “เมืองพระนคร” อันเป็นเมืองในเขตร้อนที่ยืนยงอยู่หลายศตวรรษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสภาพภูมิอากาศอันไม่แน่นอน การสืบค้นประวัติศาสตร์ของเมืองในอดีตย่อมมีส่วนช่วยผู้วางแผนโครงสร้างเมืองเข้าใจข้อจำกัดของเมืองได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

E. Lustig, “Water and the transformation of power at Angkor, 10th to 13th centuries A.D.” thesis, University of Sydney. 2001

Gershon, Livia. “Thirteenth-Century Angkor Was Home to More People Than Modern Boston”. Smithsonian. Online. Published 12 MAY 2021. Access 13 MAY 2021. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/13th-century-angkor-was-home-more-people-boston-today-180977719/>

Klassen, Sarah and Carter, Alison Kyra. “A metropolis arose in medieval Cambodia – new research shows how many people lived in the Angkor Empire over time”. The Conversation. Online. Published 8 MAY 2021. Access 13 MAY 2021. <https://theconversation.com/a-metropolis-arose-in-medieval-cambodia-new-research-shows-how-many-people-lived-in-the-angkor-empire-over-time-157573>

Klassen, Sarah and co., “Diachronic modeling of the population within the medieval Greater Angkor Region settlement complex”. Science Advance. Online. Published 7 MAY 2021. Access 13 MAY 2021. <https://advances.sciencemag.org/content/7/19/eabf8441>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564