ที่มา | ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั้น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน, กรมศิลปากร, 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ไทย, ลาว, กัมพูชา มีดินแดน ต่อเนื่องกัน และมีผู้คน ปะปนเป็นเครือญาติทั้งชาติภาษาและชาติพันธุ์เดียวกัน คนไทย และความเป็นไทย มีส่วนผสมของหลายเผ่าพันธุ์ โดยมีลาวและกัมพูชา เป็นสายแหรกสำคัญปะปนอยู่ด้วย เมืองพระนคร (ศรีอยุธยา) ในไทย กับเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา ก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องเครือญาติอุปถัมภ์ใกล้ชิดมาแต่ยุคก่อนๆ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกัน โดยเมืองพระนคร (ศรีอยุธยา) ในไทยถอดแบบศิลปวัฒนธรรมทั้งจากเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชามาด้วย
แต่อคติทางการเมืองแบบรัฐชาติที่เพิ่งมีสมัยหลังเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ต่างสร้างประวัติศาสตร์ให้แยกออกจากกัน แล้วเป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกัน ทั้งๆ ไม่เป็นจริงอย่างนั้น ดังจะแสดงให้เห็นด้วยพยานหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ต่อไปนี้
ดินแดน
ดินแดนไทย, ลาว, กัมพูชา ต่อเนื่องกัน มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางตะวันตก มีแม่น้ำโขงอยู่ทางตะวันออก มีทิวเขาดงพญาเย็นกับทิวเขาพนมดงรัก (เขมรเรียก พนมดองแร็ก แปลว่า ภูเขาไม้คาน) เป็นแกนหลักยาวต่อเนื่องจากทิศตะวันตกทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ตั้งแต่บริเวณ จ. สระบุรี) ไปสุดทิวเขาทิศตะวันออกทางลุ่มน้ำโขง (ที่ จ. อุบลราชธานี ถึงแขวงจัมปาสักในลาว)
ทำให้ดินแดนต่อเนื่องกันนี้มี 2 บริเวณ คือที่ราบสูง (ปัจจุบันอยู่ในเขตไทย-ลาว) กับที่ราบลุ่ม (ปัจจุบันอยู่ในเขตไทย-กัมพูชา) แต่ติดต่อไปมาหาสู่กันได้สะดวกโดยผ่านช่องเขาใหญ่น้อยนับร้อยช่อง
ที่ราบสูง อยู่ทางทิศเหนือ หรือตอนบนของทิวเขาดงพญาเย็น กับทิวเขาพนมดงรัก มีแม่น้ำโขง, ชี, มูล นักปราชญ์และนักค้นคว้าแต่ก่อนอธิบายว่าเป็นเขตเขมรสูง (แขมร์เลอ) ของพวกเจนละบก
ที่ราบลุ่ม อยู่ทางทิศใต้ หรือตอนล่างของทิวเขาดงพญาเย็น กับทิวเขาพนมดงรัก มีลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ทางตะวันตก (ในเขตไทย) มีลุ่มน้ำโขงอยู่ทางตะวันออก (ในเขตกัมพูชา) ราวกึ่งกลาง (ในเขตกัมพูชา) มีโตนเลสาบ (น้ำจืด ไทยรับคำนี้มาเรียก ทะเลสาบ, โตนเลสาบ สะกดตามคำอ่านของไทย) นักปราชญ์และนักค้นคว้าแต่ก่อนอธิบายว่าเป็นเขตเขมรต่ำ (แขมร์กรอม) ของพวกเจนละน้ำ
ผู้คน
ผู้คนปะปนเป็นเครือญาติชาติพันธุ์เดียวกัน มีร่องรอยในนิทานกำเนิดคนจากน้ำเต้าปุง ดังนี้ มีคน 5 พวก เกิดจากน้ำเต้าปุง เป็นเครือญาติพี่น้องท้องเดียวกัน คน 2 พวกแรก เกิดก่อน มีผิวคล้ำ เชื่อกันต่อมาว่าเป็นกลุ่มพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร ตั้งหลักแหล่งหนาแน่นอยู่ตอนล่างๆ (ใกล้ทะเล) และกระจายขึ้นตอนบนๆ (ในหุบเขา) ด้วย คน 3 พวกหลัง เกิดตามมา มีผิวไม่คล้ำ เชื่อกันต่อมาว่าเป็นกลุ่มพูดตระกูลภาษาไทย-ลาว, มัง-เย้า ตั้งหลักแหล่งอยู่ตอนบนๆ แล้วกระจายลงตอนล่างๆ ด้วย
คนทุกกลุ่มมีความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบบ้านพี่เมืองน้องหรือเครือญาติอุปถัมภ์ ทั้งแนวตั้ง เหนือ-ใต้ (ที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม) กับแนวนอน ตะวันตก-ตะวันออก (ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยากับที่ราบลุ่มโตนเลสาบ) ความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้องหรือเครือญาติอุปถัมภ์ ไม่ได้หมายความว่าราบรื่นร่มเย็นตลอดไป เพราะแท้จริงแล้วมีทั้งความกลมเกลียวและกลมกลืน ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งช่วงชิงริษยาอาฆาตเป็นปกติ
ไทย-กัมพูชา
บริเวณไทยกับกัมพูชาปัจจุบัน มีดินแดนและผู้คนเกี่ยวข้องเป็นพวกเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมร่วมกันมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว (หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีมีก่อนนี้ อาจนับหมื่นๆ แสนๆ ปีมาแล้วก็ได้) ทั้งที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม
ต่อมาคนพวกนี้เริ่มแยกกันเป็นกัมพูชา และไม่กัมพูชา ราวหลัง พ.ศ. 1500 เมื่อมีตัวอักษรต่างกันระหว่างอักษรมอญกับอักษรเขมร ที่ต่างก็มีต้นแบบอยู่ที่อักษรปัลลวะ ในอินเดียใต้ แต่ไทย-ลาว ยังไม่มีตัวอักษร
ที่ราบสูง แหล่งเดิมบรรพชนกัมพูชา
บรรพชนกษัตริย์กัมพูชาวงศ์มหิธรปุระ ที่สถาปนาเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม) มีหลักแหล่งดั้งเดิมอยู่ต้นลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่เมืองพิมาย จ. นครราชสีมา) ถึงเมืองพนมรุ้ง (จ. บุรีรัมย์)
บริเวณนี้คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาเขมร แล้วมีศูนย์กลางอยู่ปราสาทพิมาย กับปราสาทพนมรุ้ง เชื้อสายวงศ์มหิธรที่ลุ่มน้ำมูล แผ่ลงไปเสวยราชย์เป็นกษัตริย์กัมพูชาที่โตนเลสาบ เช่น
1. พระเจ้าชัยวรรมัน (ที่ 6)
2. พระเจ้าธรณีนทรวรรมัน (ที่ 1)
3. พระเจ้าสูรยวรรมัน (ที่ 2) สถาปนาปราสาทนครวัด จากนั้นได้บูรณะปราสาทพระวิหาร (ที่มีอยู่ก่อนแล้ว) ให้ใหญ่โตขึ้น (เหลือเห็นซากทุกวันนี้)
4. พระเจ้าธรณีนทรวรรมัน (ที่ 2)
5. พระเจ้าชัยวรรมัน (ที่ 7) เปลี่ยนศาสนาจากพราหมณ์เป็นพุทธมหายาน (เหมือนยุคพิมาย) สถาปนาปราสาทบายนในศาสนาพุทธมหายาน เมืองนครธม
ก่อนหน้านั้น ที่ราบสูงตั้งแต่เขตอีสานในไทย จนถึงลาวภาคใต้ ยังเคยเป็นหลักแหล่งของคนพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร บรรพชนกษัตริย์กัมพูชาที่ลงไปสถาปนาบ้านเมืองยุคแรกๆ บริเวณที่ราบลุ่มรอบๆ โตนเลสาบ ราวหลัง พ.ศ. 1000 มีศูนย์กลางดั้งเดิมอยู่สองฝั่งโขง, ชี, มูล เขต จ. ยโสธร ถึง จ. อุบลราชธานี
ด้วยเหตุนี้เอง กษัตริย์กัมพูชาจึงสร้างปราสาทไว้ทางลุ่มน้ำมูล อันเป็นดินแดนบรรพชน และแหล่งทรัพยากรสำคัญ (เช่น เกลือ และเหล็ก) ได้แก่ ปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมวัน, ปราสาทพระวิหาร, ปราสาทพนมรุ้ง ฯลฯ ยุคนี้ยังไม่มีรัฐไทย ยังไม่พบหลักฐานว่ามีคนเรียกตัวเองว่าคนไทย แต่มีคนพูดตระกูลภาษาไทย-ลาว ทยอยเคลื่อนย้ายจากสองฝั่งโขง ลงมาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีบางตระกูลรับราชการเป็นขุนนางอำมาตย์ในรัฐพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร
ที่ราบลุ่ม แหล่งรัฐเครือญาติ
ตอนล่างของทิวเขาดงพญาเย็นกับทิวเขาพนมดงรัก เป็นบริเวณที่ราบลุ่ม (ซึ่งลาดลงมาจากที่ราบสูง) กว้างใหญ่ใกล้ทะเลสมุทร (น้ำเค็ม) ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกันจากไทยถึงกัมพูชา ส่งผลให้มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองรัฐเครือญาติใกล้ทะเลสมุทร
ในไทย นับแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง มีบริเวณ จ. ลพบุรี เป็นศูนย์กลางเก่าสุด ต่อเนื่องเป็นผืนกว้างใหญ่ไปถึงที่ราบลุ่มโตนเลสาบ และลุ่มน้ำโขงในกัมพูชา
บริเวณลพบุรี เคยเป็นศูนย์กลางของรัฐโถโลโปตี (ทวารวดี) ราวหลัง พ.ศ. 1000 และรัฐละโว้ (ในตำนานเรียกกัมโพช) ราวหลัง พ.ศ. 1500 ต่อจากนั้นได้ย้ายศูนย์กลางลงไปควบคุมเส้นทางคมนาคม แม่น้ำเจ้าพระยา และอ่าวไทย แล้วมีพัฒนาการเป็นเมืองพระนครศรีอยุธยา รัฐอโยธยา-ละโว้
ในกัมพูชา นับแต่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง มีบริเวณ จ. เสียมเรียบ ที่โตนเลสาบ เป็นศูนย์กลางเก่าสุด ต่อเนื่องเป็นผืนกว้างใหญ่ถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางในไทย โตนเลสาบเป็นบริเวณที่จะมีพัฒนาการเป็นเมืองพระนคร (นครวัด) และเมืองพระนครหลวง (นครธม)
นครวัด, สยาม, พิมาย, ละโว้
ปราสาทนครวัด (เป็นชื่อที่ไทยสยามสมมุติเรียกขึ้นใหม่สมัยหลังๆ เมื่อรกร้างแล้ว จนไม่รู้ชื่อเดิม ซึ่งเชื่อกันต่อมาว่าชื่อ บรมวิษณุโลก) มีภาพสลักศักดิ์สิทธิ์อยู่โดยรอบ
ภาพสลักชุดหนึ่ง บนระเบียงด้านทิศใต้ ปีกตะวันตกของปราสาทนครวัด (สมมุติเรียกกันภายหลังว่าระเบียงประวัติศาสตร์) เป็นขบวนแห่ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ มีรูปพระเจ้าสูรยวรรมัน (ที่ 2) ในพระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์ เพื่อกระทำสัตย์สาบาน ประทับเหนือขบวนแห่ที่เป็นกลุ่มเครือญาติใกล้ชิดเรียงตามลำดับ
เริ่มจากขบวนแห่พวก (ก๊ก) สยาม ตามด้วยพวกละโว้ และพวกพิมาย-พนมรุ้ง (แม้จะไม่ระบุตรงๆ แต่มีร่องรอยและหลักฐานให้เชื่อได้อย่างนั้น)
พวก (ก๊ก) สยาม มีศูนย์กลางอยู่สองฝั่งโขง บริเวณที่เป็นเมืองเวียงจันในยุคต่อมาสืบจนปัจจุบัน ไม่ใช่ “กองทัพสยาม” จากกรุงสุโขทัย ตามที่เคยเข้าใจคลาดเคลื่อนมานานแล้วว่าเป็นเมืองขึ้นของกัมพูชา ที่ถูกเกณฑ์ไปทำสงครามกับพวกจาม เพราะยุคที่ทำภาพสลักนี้ยังไม่มีรัฐสุโขทัย
พวกละโว้ คือ รัฐละโว้ บริเวณ จ. ลพบุรีทุกวันนี้ ถูกเรียกจากพวกไทย-ลาวว่าขอม มีเครือข่ายกว้างขวางถึงลุ่มน้ำปิง, วัง, ยม, น่าน และสาละวิน
พวกพิมาย-พนมรุ้ง คือ รัฐพิมาย บริเวณต้นลุ่มน้ำมูล แหล่งเดิมของวงศ์มหิธรปุระบรรพชนกษัตริย์กัมพูชา
ขอมละโว้
พวกไทย-ลาว ที่อยู่หนาแน่นตอนบนๆ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ต่างเรียกพวกละโว้ว่าขอม หรือขอมละโว้
ขอม มาจากไหน?
ขอม ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นชนชาติขอมจึงไม่มีจริง แต่ ขอม เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ใช้สมมุติเรียกอย่างยกย่องคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนา (ฮินดู) และพุทธมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์ เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าฝรั่ง หรือคริสต์ ใช้สมมติเรียก ศาสนาคริสต์
ศูนย์กลาง ขอม ครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วขยายไปอยู่กัมพูชา
ด้วยเหตุนี้ใครก็ตาม ไม่ว่า มอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม หรือ ไทย ฯลฯ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ และพุทธมหายาน อยู่ในสังกัดรัฐอโยธยา-ละโว้ และอาณาจักรกัมพูชา จะได้ชื่อว่า ขอม ทั้งนั้น แล้วเรียกอักษรเขมร อย่างเคารพยกย่องว่าอักษรขอม
แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่างว่าขอมคือเขมร กับขอมไม่ใช่เขมร
รัฐอโยธยา-ละโว้
ละโว้ ขยายลงไปสร้างราชธานีใหม่บริเวณอโยธยา (อยุธยา) ราวหลัง พ.ศ. 1600 เพื่อคุมเส้นทางคมนาคมออกทะเลอ่าวไทย แล้วเรียกรวมๆ ว่ารัฐอโยธยา-ละโว้ มีกษัตริย์ตรัสภาษาเขมรเป็นปกติในชีวิตประจำวัน (ที่เคยตรัสมาแต่เดิม)
โดยบริเวณละโว้นับถือศาสนาพราหมณ์กับพุทธมหายาน แล้วถูกพวกไทย-ลาว เรียกว่าขอม ส่วนบริเวณอโยธยานับถือศาสนาพุทธเถรวาท
รัฐสุโขทัย
ขณะเดียวกันรัฐอโยธยา-ละโว้ก็หนุนให้เกิดรัฐสุโขทัยขึ้นบริเวณลุ่มน้ำน่าน-ยม เพื่อควบคุมเส้นทางคมนาคม ข้ามภูมิภาคระหว่างอ่าวตังเกี๋ย (เวียดนาม)-อ่าวเมาะตะมะ (พม่า) แล้วกว้านทรัพยากรส่งให้รัฐอโยธยา-ละโว้ ค้าทางทะเลกับจีน, อินเดีย, ฯลฯ
ไทย, คนไทย
พวกไทย-ลาว เคลื่อนย้ายจากสองฝั่งโขงลงมามากขึ้นตามเส้นทางการค้า แล้วกระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบน (บริเวณรัฐสุโขทัย) กับตอนล่างทางฟากตะวันตก (บริเวณรัฐสุพรรณภูมิ) ส่งผลให้ภาษาไทย-ลาว เป็นภาษากลางทางการค้าข้ามภูมิภาค แล้วใช้อักษรขอมเขียนเป็นภาษาไทยเนื่องในการค้านั้น (เพราะยังไม่มีอักษรไทย-ลาว แต่จะดัดแปลงอักษรขอมเป็นอักษรไทยต่อไปข้างหน้า)
ในยุคนี้อาจเริ่มมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีหลักแหล่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย
เมืองพระนครศรีอยุธยา
รัฐอโยธยา-ละโว้ มีกษัตริย์และคนชั้นสูงในราชสำนักพูดภาษาเขมร เขียนอักษรเขมร เป็นพวกขอมเครือญาติใกล้ชิดกับราชสำนักกัมพูชาที่นครธม พวกไทย-ลาว เป็นขุนนางอำมาตย์ และพ่อค้าประชากรข้าไพร่ทำไร่ทำนา ครั้นหลัง พ.ศ. 1870 กาฬโรคระบาด เรียกโรคห่า มีคนชั้นสูงในราชสำนักซึ่งอยู่แออัดต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก
ราชสำนักอโยธยา-ละโว้ เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ พวกไทย-ลาว มีอำนาจมากขึ้นแทนที่ แล้วมีอักษรไทยจากอักษรขอม (อักษรเขมร) เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย
นับแต่นี้ไป พวกขอมทั้งระดับคนชั้นสูง และไพร่ฟ้าประชาราษฎรจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองคล้อยตามอำนาจคนส่วนใหญ่เป็นไทย, คนไทย ในที่สุดก็ขนานนามเมืองเสียใหม่ว่าพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นพวกพ่อค้าชาวยุโรป เรียกว่าราชอาณาจักรสยาม ปัจจุบันรู้จักชื่อรัฐว่ากรุงศรีอยุธยา และชื่อราชธานีว่าพระนครศรีอยุธยา
ศิลปวัฒนธรรมขอมไทย
ศิลปวัฒนธรรมขอมเมืองพระนครและเมืองพระนครหลวง (ในกัมพูชา) กับเมืองอโยธยา-ละโว้ (ในไทย) เป็นอย่างเดียวกัน เพราะต่างเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมแห่งสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นขอมด้วยกันมาแต่ดั้งเดิม
เมื่ออโยธยา-ละโว้ ปรับเปลี่ยนเป็นพระนครศรีอยุธยา (กรุงศรีอยุธยา) บรรดาศิลปวัฒนธรรมขอมก็ยังมีสืบเนื่องมาเป็นปกติในชีวิตประจำวันของไทย, คนไทย จึงสมมุติเรียกใหม่เฉพาะตรงนี้ว่าศิลปวัฒนธรรมขอมไทย จะยกแต่ที่สำคัญๆ มาดังนี้
1. ภาษา คำเขมรที่ใช้จนเข้าใจว่าเป็นคำไทย เช่น จมูก, เดิน, รำ, ระบำ, ทะเล, ไทร (รวมคำ ทร ที่ออกเสียง ซ ทั้งหมด), ตำบล, อำเภอ, จังหวัด ฯลฯ ราชาศัพท์มาจากภาษาเขมร เพราะราชวงศ์กษัตริย์ เริ่มแรกตรัสภาษาเขมร ราชสำนักพระนครศรีอยุธยา ก็สืบราชสำนักเขมร ขุนนางข้าราชการพูดภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ และในชีวิตประจำวัน เมื่อราชวงศ์เปลี่ยนมาตรัสภาษาไทย จึงยกย่องภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์ ซึ่งมีคำบาลี-สันสกฤต ปนอยู่ด้วย
2. อักษร เมื่อยังไม่มีอักษรไทย คนไทยใช้อักษรเขมร เรียกอักษรขอม โดยเขียนเป็นภาษาไทย บางทีเรียกขอมไทย (แล้วเรียกสืบมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม) นานเข้าเมื่อราชวงศ์ไทยเป็นใหญ่ ก็ดัดแปลงอักษรเขมรเป็นอักษรไทย (โดยดัดแปลงอักษรอื่นๆ บ้าง แต่ไม่มาก)
3. โจงกระเบน ผ้านุ่งในชีวิตประจำวันของคนตระกูลมอญ-เขมร คือโจงกระเบน หรือจูงกระเบน (ได้ต้นแบบจากอินเดีย) แต่ตระกูลไทย-ลาว นุ่งเป็นถุงยาวแบบโสร่ง (มีพยานอยู่บนภาพสลักขบวนแห่พวก (ก๊ก) สยาม ที่ระเบียงประวัติศาสตร์ ปราสาทนครวัด) ต่อมารับผ้านุ่งโจงกระเบนจากเขมร แล้วเรียกตามเขมรว่าโจงกระเบน หรือจูงกระเบน บางทีเรียกผ้าแบบนี้ว่า ผ้าหางกระเบน หรือผ้าหาง ถ้านุ่งแบบหยักรั้งเรียก ถกเขมร หรือขัดเขมร
โจงกระเบน เป็นภาษาเขมร หมายถึงรวบชายผ้านุ่งลอดหว่างขาไปเหน็บไว้ด้านหลังตรงก้นกบ (เรียก กระเบนเหน็บ) โจง แปลว่า รั้งขึ้น หรือโยงขึ้น คำเดียวกับจูง กระเบน แปลว่า หาง (เช่น ปลากระเบน คือ ปลาหางยาว) เรียกชายผ้านุ่งที่ม้วนแล้วดึงเหน็บไปข้างหลังระดับบั้นเอว
4. ศิลปะสถาปัตยกรรม ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบขอมมีหลายแห่งในเมืองละโว้ (จ. ลพบุรี) และใกล้เคียงโดยรอบ แต่สำนึกแบบราชาชาตินิยมของคนสมัยนี้มีเส้นกั้นอาณาเขตของรัฐชาติ ทำให้เลี่ยงไปเรียกเป็นศิลปะแบบลพบุรี
พระปรางค์ มีต้นแบบจากปราสาทขอม ทั้งในอีสาน (ลุ่มน้ำมูล) และในกัมพูชา (โตนเลสาบ) พระที่นั่งบางองค์ในวังหลวงพระนครศรีอยุธยา (เช่น พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์) มีต้นแบบจากพระที่นั่งบางองค์ในเมืองพระนครหลวง (สมัยกรุงเทพฯ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ บนระเบียงรอบโบสถ์วัดพระแก้ว มีต้นแบบจากภาพสลักบนระเบียงรอบปราสาทนครวัด)
5. พระราชพิธี ราชสำนักอโยธยา-ละโว้ มีหลายพระราชพิธีสืบจากราชสำนักเมืองพระนคร นครวัด นครธม จะยกตัวอย่างเฉพาะที่สำคัญมีในกฎมณเฑียรบาลกรุงศรีอยุธยา ดังนี้
พระแสงขรรค์ชัยศรี สัญลักษณ์อำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน มีตำนานว่ารับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาสมัยโบราณ
ถือน้ำพระพัทธ์ หมายถึง ถือน้ำสาบาน มีโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ แต่งด้วยโคลงลาวสองฝั่งโขง (ทางการไทยเรียกเพี้ยนไป ว่าถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา)
จรดพระนังคัล หมายถึง แรกนาขวัญ เดือน 6 (นังคัล เป็นคำเขมร แปลว่า ไถ)
จองเปรียง หมายถึง ลอยโคม ที่ปัจจุบันเป็นลอยกระทง เดือน 12 (เปรียง เป็นคำเขมร แปลว่า น้ำมันจากไขข้อของวัว)
เบาะพก หมายถึง ร่วมเพศ หรือสมพาส ของนางนาคกับพระราชา ซึ่งเป็นความเชื่อสืบมาจากยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ (เบาะพก มีรากจากคำเขมร แปลว่า ทิ่มๆ ตำๆ บริเวณใต้สะดือ แล้วทำให้มีท้อง) มีในนิทานเมืองพระนครหลวง (ที่จีนเรียกเจนละ หรือเจิ้นลา)
นางนาค เป็นชื่อในตำนานกัมพูชา หมายถึงบรรพชนเพศหญิง พบทั่วไปเกือบทุกแห่งของบ้านเมืองในสุวรรณภูมิ แผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์
อินทราภิเษก หมายถึง พิธียอยกพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นพระอินทร์จักรพรรดิราชสถิตบนสวรรค์
ในพิธีอินทราภิเษกมีชักนาคดึกดำบรรพ์ คือกวนเกษียรสมุทร ซึ่งยกย่องว่าเป็นต้นแบบให้มีการละเล่นในราชสำนักอยุธยา ที่เรียกกันต่อมาว่า โขน, ละคร
พระเมรุมาศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง สร้างด้วยไม้ เลียนแบบปราสาทนครวัด (ที่สร้างด้วยหิน) จำลองเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประดิษฐานพระวิมานที่ประทับของทวยเทพซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป จึงเรียกภายหลังว่าพระเมรุ, เมรุ (อ่านว่า เมน)
พระโกศ บรรจุพระศพ ตามประเพณีทำศพ (ครั้งที่ 2) ยุคดึกดำบรรพ์ มีต้นแบบอยู่ที่โลงหิน บนปราสาทนครวัดและปราสาทอื่นๆ ในกัมพูชา และไหหินในลาว อย่างเดียวกับภาชนะดินเผา (ทรงแค็ปซูล) ในไทย
6. การละเล่นในราชสำนัก โขน เป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ ยกย่องเป็นเครื่องราชูปโภค มีต้นแบบจากการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือกวนเกษียรสมุทร ของราชสำนักเมืองพระนคร ในกัมพูชา ละคร เป็นคำในตระกูลภาษาชวา-มลาย ที่ไทยรับจากราชสำนักกัมพูชาว่าละโคนพระกรุณา แล้วกร่อนเป็นโขน
7. เพลงดนตรี ฆ้องวง ที่มีร้านฆ้องโค้งรอบตัวผู้บรรเลง มีหลักฐานเก่าสุดเป็นภาพสลักบนปราสาทนครวัด แล้วมีพัฒนาการเป็นเครื่องดนตรีหลักของวงปี่พาทย์ฆ้องวง และวงปี่พาทย์ หรือพิณพาทย์ ในยุคต่อมาจนปัจจุบัน
เพลงหน้าพาทย์ในไทยมีจำนวนหนึ่งเรียก ตระ เป็นคำเขมร แปลว่าเพลงบรรเลง ถือเป็นพยานว่ารับทำนอง และชื่อสืบจากกัมพูชา
มโหรีในไทย สืบชื่อมาจาก โมโฮรี ของกัมพูชา หมายถึง เครื่องเป่าอย่างหนึ่ง รับจากอินเดีย
นางนาค เพลงศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี ใช้บรรเลงเป็นเพลงแรกในพิธีทำขวัญ สืบเนื่องต้นแบบจากกัมพูชา (ถ้าพิธีทางศาสนาพุทธ ใช้เพลงสาธุการ เป็นเพลงแรก)
8. ตำนานนิทาน ตำนานนิทานของไทยจำนวนหนึ่ง มีโครงเรื่องอย่างเดียวกับตำนานนิทานที่มีในกัมพูชา เช่น พระร่วงลูกนาค, ท้าวโคตรบอง, พระยาแกรก ฯลฯ โดยเฉพาะในคำให้การชาวกรุงเก่า บอกเล่าว่าสมเด็จพระพันวษาแห่งกรุงพระนครศรีอยุธยา โปรดให้เชิญรูปพระยาแกรกกับมงกุฎของพระยาแกรกเสมือนบรรพชน เข้าไว้ในหอพระที่นมัสการในพระราชวัง
ไทย-กัมพูชา ความเป็นมาร่วมกัน
เมืองพระนคร (ศรีอยุธยา) ในไทย กับเมืองพระนครและเมืองพระนครหลวง ในกัมพูชา มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างแยกไม่ได้ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์นับพันปีมาแล้ว
เพราะทั้งไทยและกัมพูชา ต่างเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ (ที่ต่อไปจะเป็นอาเซียน) จะแยกอยู่โดดๆ ไม่ได้ ดังเป็นที่รู้อยู่แล้วทั่วกัน
ปัญหามีขึ้นเมื่อต่างสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติของตน แยกออกจากกันเด็ดขาด ตามเส้นพรมแดนรัฐชาติที่เพิ่งขีดให้มีสมัยหลัง แล้วพากันยกไปครอบงำกำหนดความเป็นมาในอดีตนับพันปีมาแล้ว ที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบบ้านพี่เมืองน้องเครือญาติอุปถัมภ์ใกล้ชิด โดยไม่มีเส้นพรมแดน
ดังกรณี เมืองพระนคร (ศรีอยุธยา) ในไทย กับเมืองพระนครและเมืองพระนครหลวง ในกัมพูชา ที่สรุปภาพรวมให้เห็นความเป็นมาร่วมกันอย่างกว้างๆ สั้นๆ ง่ายๆ นี้
อ่านเพิ่มเติม :
- ปิดฉาก “เมืองพระนคร” บ้านเมืองล่มสลาย ผู้คนถูกกวาดต้อน เหตุสงคราม “อยุธยา” บุก “เขมร”
- สถาปัตยกรรมใดในกรุงศรีที่พระเจ้าปราสาททอง”ให้ถ่ายแบบ” เมืองพระนคร และเพราะอะไร?
- ถกหลักฐาน “เลขไทย” ได้แบบจากเลขเขมร หรือว่ามีต้นเค้าจาก “เลขอินเดียใต้”?
ขอบคุณ
เนื้อหาทั้งหมดที่นำเสนอมาตั้งแต่ต้น ล้วนรวบรวมมาเรียบเรียงใหม่ จากตำรับตำราหนังสือเอกสารวิชาการ ของนักปราชญ์ราชบัณฑิตและครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่จำนวนมาก รวมถึงครูบาอาจารย์รุ่นใหม่ และพี่น้องผองเพื่อนร่วมยุคร่วมสมัย ที่กรุณาตรวจตราตักเตือน แล้วแก้ไขข้อขาดตกบกพร่องผิดพลาดด้วยเมตตายิ่ง ต้องน้อมกราบขอบพระคุณทั้งหมดไว้ตรงนี้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2565