เผยแพร่ |
---|
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกเกี่ยวกับการรื้อปราสาทขอมในกัมพูชาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ไปรื้อปราสาทหิน นครวัดของกัมพูชาที่เมืองเสียมราฐ (เสียมเรียบ) เข้ามาไว้ในกรุงเทพฯ (และเพชรบุรี) แต่การรื้อถอนปราสาทหินล้มเหลว เกิดมีการลอบฆ่าฟันพวกรื้อปราสาท และฆ่าขุนนางไทยเสียชีวิต จึงทรงระงับโครงการดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้จำลองปราสาทนครวัดเล็กๆ มาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังแทน
ก่อนหน้านั้น สมัยกรุงศรีอยุธยามีการจำลองสถาปัตยกรรมของนครวัดแล้ว
“นครวัดทัศนะสยาม” ผลงานใหม่ของรศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ ตอนหนึ่งกล่าวว่า การ “ถ่ายแบบ” สถาปัตยกรรมของเมืองพระนคร ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ ปราสาทนครหลวง, พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ และวัดไชยวัฒนาราม
ปราสานครหลวง เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2174 ที่ริมแม่น้ำป่าสัก บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินยังพระพุทธบาท สระบุรี สำหรับเป็นที่ประทับร้อน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ตอนหนึ่งว่า “…ลุะศักราช 993 ปีมแมตรีณิศก ทรงพระกรุณาให้ช่างออกไปถ่ายหย่างพระนครและปราสาทกรุงกำพุชประเทศเข้ามาให้ช่างกระทำพระราชวัง เปนที่ประทับร้อนตำบลริมวัดเทพจันท์ สำหรับขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึ่งเอานามเดีมซึ่งถ่ายมาใช้ชื่อว่า พระนครหลวง…”
พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ (เดิมชื่อ พระที่นั่งศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์) พระที่นั่งที่โปรดเกล้าให้สร้างเมื่อปี 2175 เพื่อใช้ในการทอดพระเนตรกระบวนทัพในพระราชพิธีสนานจตุครงเสนา สันนิษฐานว่าจำลองแบบมาจากลานช้าง หรือซุ้มประตูพระราชวังหลวง เมืองพระนคร
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์วินิจฉัยเรื่องพระที่นั่งจักรวรรดิไชยนต์ไว้ใน นิราศนครวัด ว่า “…มาได้ความรู้คราวนี้ว่าพลับพลาสูง และสนามชัยก็ถ่ายแบบไปจากนครธมนี้เอง จึงทำรูปครุฑและรูปสิงห์แบกตัวใหญ่ๆ ประดับฐานอย่างเดียวกัน ชื่อพระที่นั่งที่เรียกแต่แรกว่า ศรียโศธร ก็เอาชื่อเมืองยโศธร พิมานบรรยงก์ ก็คือ ชื่อเทวสถานบรรยงก์ในนครธม แม้ยอดประตูพรหมซึ่งกล่าวมาแล้วเห็นจะสร้างในครั้งนั้นเอง…”
วัดไชยวัฒนาราม ที่ทราบกันว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างอุทิศถวายพระราชมารดา บนที่ดินที่เคยเป็น “บ้านเดิม” ของพระราชมารดา แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำลองแบบมาจากนครวัด หากพิจารณารูปแบบทางแผนผังและสถาปัตยกรรมก็จะเห็นว่า วัดไชยวัฒนาได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของเมืองนครหลวงอย่างแน่นนอน
ส่วนเหตุผลว่าทำไมสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสนพระทัย และทรงมีความรู้เกี่ยวกับเมืองพระนครนั้น
น่าจะสืบเนื่องจาก ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในบรรดาแม่ทัพนายกองที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ยกทัพไปตีเขมร แต่ในรัชกาลดังกล่าวไทยเป็นฝ่ายเสียทีแก่เขมร
เมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ไทยก็สามารถตีเขมรกลับมาได้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ จึงโปรดให้สร้างสถาปัตยกรรมข้างต้นโดยถ่ายแบบจากเขมร
ข้อมูลจาก
รด.ดร.ศานติ ภักดีคำ.นครวัดทัศนะสยาม, สำนักพิมพ์มติชน, กรกฎาคม 2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2563