เจ้านครอินทร์ สร้างเมืองกำแพงเพชร, พระเจ้าตากไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร

พระเจ้าตาก
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า

เมืองกำแพงเพชร น่าจะเริ่มขยับขยายจากเมืองนครชุมตั้งแต่พะงั่วคุ้มครองสุโขทัย เรือน พ.ศ. 1900 สำเร็จในแผ่นดินเจ้านครอินทร์ แล้วเพิ่มเติมเรื่อยๆ ไม่ได้เสร็จในคราวเดียว

เจ้านครอินทร์สถาปนาเมืองกำแพงเพชร มีหลักฐานบอกไว้ในจารึกกฎหมายลักษณะโจร พ.ศ. 1940 [ปีนี้ยังไม่ได้ครองอยุธยา] พบในเมืองเก่าสุโขทัย

จารึกบอกไว้ตอนต้นว่า พ.ศ. 1940 เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ทำพิธีบรมราชาภิเษกที่เมือง “กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์” ซึ่งเป็น “แดนพระธรรมราชสีมา” “ดุจดาวดึงสา”

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เมื่อดูจากชื่อเมืองทั้งสามบนสองฝั่งแม่น้ำปิงที่เจ้านครอินทร์สถาปนา จะเห็นว่ามีนามเกี่ยวข้องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ คือ กำแพงเพชร, เทพนคร, ไตรตรึงษ์

แผนที่ เมืองกำแพงเพชร เมืองนครชุม เมืองไตรตึงษ์ เมืองเทพนคร ตาม แม่น้ำปิง
แผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำปิง เมืองนครชุม, เมืองกำแพงเพชร, เมืองไตรตึงษ์, เมืองเทพนคร [โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ กันยายน 2562]
พระอินทร์เป็นอุดมการณ์ทางศาสนา-การเมืองของเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ [จิตร ภูมิศักดิ์ เรียก “ตระกูลอินทร์]

พระนามเชื้อวงศ์สุพรรณภูมิองค์สำคัญเกี่ยวข้องนามพระอินทร์คือ เจ้านครอินทร์ หมายถึง เจ้าแห่งเมืองของพระอินทร์

ชื่อเมืองทั้งสามเกี่ยวข้องพระอินทร์ ดังนี้

กำแพงเพชร หมายถึง เมืองมีกำแพงป้อมปราการมั่นคงแข็งแรง และงดงามเสมือนเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ที่มีกำแพงทำด้วยแก้ว

กำแพงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบเมือง และมีประตูโดยรอบ [ไตรภูมิพระร่วง]

ป่างองค์อมเรศอดิศร

ผ่านสมบัติในสุทัศน์นคร   สถาวรไปด้วยทิพสวรรยา

เอาสูงพื้นหมื่นแสนพระเมรุมาศ   เป็นอาสน์ทองรองดาวดึงสา

กว้างยาวหมื่นโยชน์คณนา   ประดับปราการแก้วแกมกัน

สี่ทิศมีมหาทวาเรศ   ระหว่างเขตหมื่นโยชน์ระยะคั่น

ประตูรายหมายยอดสำคัญพัน   มีสระสวนทุกหลั่นทวาไร

[สมบัติอัมรินทร์คำกลอน ของ เจ้าพระยาพระพระคลัง (หน)]

เทพนคร หมายถึง เมืองเทวดา คือ พระอินทร์ [ตรงกับกรุงเทพมหานคร]

ไตรตรึงษ์ หมายถึง เมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์

ชื่อเมืองทั้งสามไม่ใช่ตำนานนิทาน แต่เป็นนามจริงสมัยเจ้านครอินทร์ และเป็นที่รับรู้สืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ ดังนี้

  1. ไตรตรึงษ์เป็นนามเมืองและเป็นนามเจ้าเมือง พบในจารึกกฎหมายลักษณะโจร [พ.ศ. 1940] ทำขึ้นในแผ่นดินเจ้านครอินทร์ ดังนี้

“…พระราชมาตุละบพิตรมนตรีอนุชิต ลุงตนเลี้ยง…เจ้าเมืองไตรตรึง (ส์)”

มาตุละ คือ ลุง (เลี้ยง) ข้างแม่

  1. ไตรตรึงษ์, เทพนคร, กำแพงเพชร เป็นที่รับรู้สืบเนื่องถึงแผ่นดินบรมไตรโลกนาถ พบในยวนพ่าย [ตามลำดับจากใต้ขึ้นเหนือ]

ยวนพ่าย (โคลงดั้น) สรรเสริญพระเกียรติบรมไตรโลกนาถ ทั้งหมดมีโคลง-ร่ายรวม 294 บท ตอนท้ายโคลง 3 บท เจตนายกชื่อสามเมืองตามลำน้ำปิงจากอยุธยาขึ้นไปตามลำดับ [จากใต้ขึ้นเหนือ] เริ่มจากไตรตรึงษ์, เทพ (นคร), กำแพงเพชร เป็นคำถวายพระเกียรติเสมือนพระอินทร์

[289]

ชยชยยศโยคก้อง   ไตรตรึงษ์

บุญเบิกเวียงทองปือ   ไต่เต้า

[ยศกึกก้องไตรตรึงษ์ บุญบารมีผดุงบ้านเมืองเหมือนเต็มไปด้วยทองทุกหนแห่ง]

[290]

ชยชยานุภาพท้าว   เทียมทิน-กรแฮ

เมืองเทพคนธรรพ์ฤๅ   อยู่ถ้อย

[อานุภาพดังดวงทินกร ทั้งเมืองเทพ (นคร) เต็มไปด้วยเสียงไพเราะของคนธรรพ์สรรเสริญ]

[291]

ชยชยเมื่อปราบอ้อม   กำแพงเพชร

ผืนแผ่นผายเสมา   ออกกว้าง

[เมื่อปราบถึงเมืองกำแพงเพชร แผ่นดินก็กว้างขวาง]

กำแพง เมืองกำแพงเพชร
กำแพงเมืองกำแพงเพชร ในปัจจุบัน

พระเจ้าตากเป็นเจ้าเมืองตาก ไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร

มักกล่าวกันทั่วไปว่าพระเจ้าตากเคยเป็น “พระยาวชิรปราการ” เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่แท้จริงไม่เคยเป็นตามนั้น เรื่องนี้ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีคำอธิบายอย่างละเอียดอยู่ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สำนักพิมพ์มติชน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2548 หน้า 100-105)

ราชทินนามของเจ้าเมืองกำแพงเพชร [ครั้งอยุธยา, รัตนโกสินทร์] ว่า “ออกญารามรณรงค์สงคราม” ส่วนชื่อตำแหน่งว่า “พระยาวชิรปราการ” ผูกบาลีโดยพระสงฆ์แต่งหนังสือจุลยุทธการวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอกสารทอดน่องท่องเที่ยว มหัศจรรย์มหาศิลาแลง เมืองกำแพงเพชร โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. ตุลาคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562