ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ญี่ปุ่น “ยุคเซ็นโกคุ” มีขุนพลหลายนายที่มีความโดดเด่น หนึ่งในนั้นคือ อิชิดะ มิตสึนาริ ขุนพลผู้ใกล้ชิด โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ แม้เมื่อฮิเดโยชิสิ้นแล้ว มิตสินาริก็ยังจงรักภักดีกับตระกูลนายเก่าไม่เสื่อมคลาย และนั่นทำให้เขาเป็น “คู่แค้น” ตลอดกาลของ โทกุงาวะ อิเอยาสุ ผู้ที่ต่อมาคือโชกุนคนแรกแห่งตระกูลโทกุงาวะ หนึ่งในผู้รวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น จนไปปิดบัญชีกันใน “ยุทธการเซกิงาฮาระ”
อิชิดะ มิตสึนาริ (Ishida Mitsunari) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1563 ทางตอนเหนือของจังหวัดโอมิ บนเกาะฮอนชู เป็นลูกชายคนที่สองของอิชิดะ มะสะซึกุ (Ishida Masatsugu) ซึ่งเป็นเจ้าที่ดิน
เล่ากันว่า มิตสึนาริพบ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ครั้งแรก เมื่อฮิเดโยชิออกจากปราสาทนางาฮามะมาล่าสัตว์ คราวนั้นเขาแวะวัดที่มิตสึนาริเป็นลูกศิษย์วัด มิตสึนาริตระเตรียมน้ำชาให้ฮิเดโยชิดื่มเป็นอย่างดี ทำให้ขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ประทับใจในตัวมิตสึนาริ
จากนั้น อิชิดะ มิตสึนาริ ก็มาเป็นซามูไรภายใต้การนำของฮิเดโยชิ และทวีความโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นหนึ่งในขุนพลผู้ใกล้ชิด ใน ค.ศ. 1592 ที่ฮิเดโยชิเปิดศึกบุกเกาหลี มิตสึนาริก็เป็นกำลังหลักในการนำกองทัพตะลุยเข้าไป
ว่ากันว่า การศึกครั้งนั้น โทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu) ยอดนักรบอีกคนของฮิเดโยชิ แพร่ข่าวลือว่า มิตสึนาริส่งรายงานที่ไม่น่าพอใจไปยังฮิเดโยชิ ทำให้ โคบายากาวะ ฮิเดอากิ (Kobayakawa Hideaki) ซามูไรที่ร่วมรบในสงครามรุกเกาหลีโดนลูกหลงไปด้วย ฮิเดอากิได้แต่เก็บความแค้นที่มีต่อมิตสึนาริไว้ในใจ และรอวันเอาคืน
หลังจากฮิเดโยชิสิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1598 เขาได้ตั้งคณะอุปราชทั้งห้า ประกอบด้วยไดเมียวมากบารมี 5 คน เพื่อปกครองบ้านเมือง และเพื่อดูแล โทโยโทมิ ฮิเดโยริ (Toyotomi Hideyori) บุตรของฮิเดโยชิ ซึ่งยังเยาว์วัย ให้เติบโตขึ้นมาปกครองญี่ปุ่นต่อไป
ช่วงนั้น แม้มิตสึนาริจะยังมีอำนาจ แต่อำนาจที่แท้จริงและยิ่งใหญ่กว่ากลับอยู่ในมือของคณะอุปราชทั้งห้า ซึ่งคนสำคัญคือ อิเอยาสุ มิตสึนาริจึงคิดกำจัดคู่แค้นออกไปให้พ้นทาง ด้วยการยุแยงให้ขุนนางผู้ปกครองแคว้นเกิดความแตกแยกไม่ลงรอยกัน ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจในการปกครอง
เมื่อเหล่านักรบของอิเอยาสุรู้เข้าก็ไม่พอใจ โกรธแค้นแทนนาย และคิดจะสังหารมิตสึนาริให้สิ้นเสี้ยนหนามไปซะ แต่อิเอยาสุกลับไว้ชีวิต
มิตสึนาริยังไม่สิ้นเขี้ยวเล็บ เขาโน้มน้าว อุเอะสุงิ คาเงะคัตสึ (Uesugi Kagekatsu) หนึ่งใน 5 อุปราช ให้มาเข้าพวกเพื่อรบต่อต้านอิเอยาสุ แต่อิเอยาสุผู้เปี่ยมด้วยทักษะการรบก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
ท้ายสุด มิตสึนาริกับอิเอยาสุก็มาประลองกันใน “ยุทธการเซกิงาฮาระ” เดือนตุลาคม ค.ศ. 1600
อ่านแบบเต็มๆ ได้ที่นี่ “ยุทธการเซกิงาฮาระ” สมรภูมิชี้ขาด “อิเอยาสุ” ครองอำนาจเหนือญี่ปุ่น
เช้าตรู่วันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1600 กองทัพตะวันออกของอิเอยาสุมาถึงที่ราบเซกิงาฮาระ ขณะที่กองทัพตะวันตกภายใต้การนำของมิตสึนาริคุมเชิงอยู่บนเนินเขา ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ได้เปรียบ
แม้ทำเลจะเหนือกว่า แต่มิตสินาริกลับเสียเปรียบ เพราะขุนศึกหลายนายไม่ได้นับถือเขามากพอ ทำให้เมื่อต้องออกรบจึงคิดหนัก ขณะที่ฮิเดอากิซึ่งอยู่ในกองทัพตะวันตกก็แปรพักตร์ไปเข้ากับอิเอยาสุ
ด้วยหลายๆ ปัจจัยประกอบกันเข้า ทำให้มิตสึนาริเป็นฝ่ายปราชัยในยุทธการเซกิงาฮาระ เขาถูกจับและต่อมาก็ถูกประหารชีวิตในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1600
เป็นอันรูดม่าน “คู่แค้นตลอดกาล” ของโทกุงาวะ อิเอยาสุ และเปิดฉากโชกุนตระกูลโทกุงาวะ ตั้งแต่ ค.ศ. 1603-1868 รวมเวลาถึง 265 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- โอดะ โนบุนากะ “ขุนพลปีศาจ” ผู้สั่งการสังหารหมู่ที่ “วัดเอ็นเรียคุจิ”
- สมรภูมิเลือดที่ “ปราสาทฟุชิมิ” เปิดทาง “โทกุงาวะ อิเอยาสุ” ครองญี่ปุ่นเบ็ดเสร็จ
- โอตานิ โยชิซึกุ ซามูไรป่วยโรคเรื้อน ขุนพลคู่ใจ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Britannica, The Editors of Encyclopaedia. “Ishida Mitsunari”. Encyclopedia Britannica, 15 Mar. 2024, https://www.britannica.com/biography/Ishida-Mitsunari. Accessed 5 April 2024.
“Ishida Mitsunari”. https://visit-omi.com/people/article/ishida-mitsunari. Accessed 5 April 2024.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2567