ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga ค.ศ. 1534-1582) คือไดเมียวคนสำคัญในยุคเซ็นโกคุ อันเป็นยุคที่ญี่ปุ่นแตกแยก ไดเมียวแว่นแคว้นต่างๆ ล้วนแก่งแย่งอำนาจ ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ โนบุนากะทยอยกำจัดศัตรู ขยายอำนาจไปเรื่อยๆ จนได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่รวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นเอกภาพ แต่นั่นก็ต้องแลกด้วยชีวิตของผู้บริสุทธิ์นับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ “วัดเอ็นเรียคุจิ”
วัดเอ็นเรียคุจิ (Enryaku-ji) ตั้งอยู่บนเขาฮิเออิ (Hiei) อันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ระหว่างเกียวโตกับชิกะ เป็นวัดพุทธมหายาน นิกายเท็นได เป็นหนึ่งในศาสนสถานที่สำคัญในฐานะศูนย์รวมจิตวิญญาณชาวพุทธมานานนับพันปี
วัดเอ็นเรียคุจิ กำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 788 โดยนักบวชนามว่า ไซโช (Saicho) ซึ่งก่อตั้งวัดตามพระราชบัญชาของจักรพรรดิคัมมุ (Kammu) เพื่อเป็นสถานที่เฝ้าระวังและป้องกันเมืองหลวง “เฮอังเกียว” (Heian-kyo ปัจจุบันอยู่ในเกียวโต) จากภัยร้ายที่จะบุกรุกจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ วัดเอ็นเรียคุจิค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็นศูนย์กลางสำนักเท็นได ช่วงที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ว่ากันว่าวัดมีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีอาคารกว่า 3,000 หลัง มีพระจำวัดหลายพันรูป และมีชาวบ้านที่ศรัทธาอาศัยอยู่โดยรอบหลายหมื่นคน
วัดนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตนักปราชญ์สำคัญของญี่ปุ่น พระที่เคยศึกษาที่นี่มีเช่น ท่านเอไซ (Eisai) ผู้ก่อตั้งสำนักรินไซ ในนิกายเซน ท่านโดเงน (Dogen) ผู้เผยแผ่พุทธศาสนา นิกายเซน ท่านนิชิเร็น (Nichiren) ผู้ก่อตั้งและเผยแผ่พุทธศาสนา นิกายนิชิเร็น เป็นต้น
ในอดีต เป็นเรื่องปกติที่พระจะมีส่วนเกี่ยวพันกับการเมืองและอำนาจ วัดเอ็นเรียคุจิมีกองกำลังของตนเอง คือเหล่า “พระนักรบ” (Sōhei) เป็นพระที่ไม่เพียงศึกษาธรรมะในพุทธศาสนา แต่ยังฝึกฝนทักษะการใช้อาวุธและการต่อสู้ เพื่อปกป้องพุทธศาสนา ปกป้องอาราม รวมทั้งปกป้องอาณาเขตไม่ให้ภยันตรายภายนอกมารุกราน
อันตรายจากภายนอก เป็นได้ทั้งโจรที่ลอบเข้ามาขโมยทรัพย์สินสมบัติมีค่า และเป็นได้ทั้งบรรดาขุนพลนักรบที่รบกวนความสงบของท้องที่ ซึ่งหมายรวมถึง โอดะ โนบุนากะ ไดเมียวผู้ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยม ถึงขั้นได้รับฉายาว่า “ขุนพลปีศาจ”
ปี 1571 โนบุนากะที่แผ่ขยายอำนาจครอบคลุมหลายพื้นที่ในญี่ปุ่น รุกคืบเข้าถึงพื้นที่บริเวณภูเขาฮิเออิ โนบุนากะรู้ดีว่า บรรดาพระนักรบแห่งวัดเอ็นเรียคุจิต่อต้านเขา และอาจบุกโจมตีกองทัพของเขาได้ทุกเมื่อ ประกอบกับความกังวลถึงอำนาจที่มากขึ้นของวัด และความหวาดระแวงว่าวัดจะซ่อนศัตรูของเขาเอาไว้
ในที่สุด โนบุนากะก็ตัดสินใจกำจัด “ภัยคุกคาม” นี้ ด้วยการส่งกองทัพไปล้อมรอบเชิงเขาฮิเออิ วางเพลิงต้นไม้ในป่า เพื่อต้อนคนขึ้นไปบนยอดเขา แล้วไล่รุกขึ้นไป กำลังพลของโนบุนากะฆ่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ หรือพระ ล้วนถูกสังหารนับหลายพันชีวิต อาราม บ้านเรือน ทรัพย์สิน ถูกเผาทำลายอย่างย่อยยับราบเป็นหน้ากลอง
ความเงียบสงบและเสียงสวดมนต์ถูกแทนที่ด้วยเสียงกรีดร้องโหยหวนเจ็บปวด หมอกลอยอ้อยอิ่งตามธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยควันและเถ้าถ่านจากเปลวเพลิงที่เผาทำลายทุกอย่างบนภูเขาฮิเออิให้มอดไหม้ไม่เหลือซาก
การสังหารหมู่ที่วัดเอ็นเรียคุจิ เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ยิ่งย้ำภาพ โอดะ โนบุนากะ ในแง่ความโหดร้าย แม้เขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นคนแรกก็ตาม
ส่วนวัดเอ็นเรียคุจิหลังจากถูกทำลายเรียบ ก็มีการฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ในราวปี 1595 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ในปี 1994
อ่านเพิ่มเติม:
- 31 ม.ค. กำเนิด “โทกุงาวะ อิเอยาสุ” ขุนพลชนะสงครามซามูไรที่ยิ่งใหญ่นำญี่ปุ่นสู่ยุคเอโดะ
- สมรภูมิเลือดที่ “ปราสาทฟุชิมิ” เปิดทาง “โทกุงาวะ อิเอยาสุ” ครองญี่ปุ่นเบ็ดเสร็จ
- ดาบสั้นของหนึ่งในซามูไรรุ่นสุดท้าย ผู้ปรารถนาล้มระบอบโชกุนโผล่ที่สหรัฐฯ ได้อย่างไร
- ดาบซามูไร ตำนานอาวุธสังหาร-งานศิลปะ และสุดยอดดาบของมาซามูเน่-มารามาซะ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง:
“Mt.Hiei-zan Enryaku-ji Temple”. https://kyoto.travel/en/shrine_temple/126.html. Accessed 28 February 2024.
Mark Cartwright. “Enryakuji”. https://www.worldhistory.org/Enryakuji/. Accessed 28 February 2024.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2567