สมรภูมิเลือดที่ “ปราสาทฟุชิมิ” เปิดทาง “โทกุงาวะ อิเอยาสุ” ครองญี่ปุ่นเบ็ดเสร็จ

ปราสาทฟุชิมิ ของ โทกุงาวะ อิเอยาสุ ที่ โทริ โมโตตาดะ ปกป้อง จนตาย
ปราสาทฟุชิมิ (ภาพจาก Ying Zhu via unsplash.com)

ในยุคเซ็นโกคุ ที่เหล่าขุนพลนักรบต่างแย่งชิงอำนาจ ปราสาทฟุชิมิ ในเกียวโต เป็นสถานที่เกิดศึกป้องกันปราสาทที่เกรียงไกรที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์แดนซามูไร เพราะ โทริ โมโตตาดะ ไดเมียวนักรบ ตัดสินใจปกป้องปราสาทฟุชิมิจนตัวตาย เพื่อหนุนให้ โทกุงาวะ อิเอยาสุ เพื่อนรัก ได้ครองอำนาจเหนือใคร

หลังจาก โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) สิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1598 แม้จะมี “สภาทั้งห้า” ประกอบด้วยไดเมียวทรงอำนาจ 5 คน คอยบริหารราชการแผ่นดิน และดูแลให้ โทโยโทมิ ฮิเดโยริ (Toyotomi Hideyori) บุตรของฮิเดโยชิ ซึ่งตอนนั้นยังเยาว์วัย ขึ้นสืบอำนาจต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะสงบสุข เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงและพยายามคานอำนาจกันและกัน

โทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu) หนึ่งในสภาทั้งห้า คิดรวบอำนาจ แต่ขุนพลฝ่ายที่ยังภักดีต่อฮิเดโยชิ อย่าง อิชิดะ มิตสึนาริ (Ishida Mitsunari) กลับไม่เห็นด้วย สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นการศึกที่ทำให้ญี่ปุ่นระอุขึ้นอีกครั้ง

มิตสึนาริเตรียมไพร่พลต่อต้านอิเอยาสุ หนึ่งในนั้นคือ อุเอสึกิ คาเงะคัตสุ (Uesugi Kagekatsu) ไดเมียวที่มีดินแดนอยู่เหนือที่มั่นของอิเอยาสุ มิตสึนาริให้คาเงะคัตสุยกกองกำลังไปเผชิญหน้ากับทัพของอิเอยาสุก่อน จากนั้นจะเคลื่อนพลไปสมทบ

ฝ่ายอิเอยาสุก็ระดมพันธมิตรที่ร่วมรบกันมา อย่าง ดาเตะ มาซามูเนะ (Date Masamune) ให้รวบรวมกำลังพลในภาคเหนือ เพื่อต้านทัพคาเงะคัตสุ ส่วนอิเอยาสุจะไปเอโดะทางตะวันออก เพื่อรวบรวมกำลังเสริม

ตอนนั้น ฐานที่มั่นของอิเอยาสุคือ “ปราสาทฟุชิมิ” (Fushimi Castle) ในเกียวโต สร้างขึ้นโดยฮิเดโยชิ แต่ทลายลงจากแผ่นดินไหวใน ค.ศ. 1596 จากนั้นอิเอยาสุก็บูรณะขึ้นใหม่ และให้อยู่ในความดูแลของ โทริ โมโตตาดะ (Torii Mototada) ไดเมียวขุนศึก เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของอิเอยาสุ

เมื่อปราสาทคือยุทธศาสตร์สำคัญ หากศัตรูพิชิตได้อาจมีผลให้อิเอยาสุปราชัย เขาจึงมอบหมายให้โมโตตาดะเป็นผู้รักษาป้อมปราการนี้ไว้อย่างถึงที่สุด

โทริ โมโตตาดะ ปกป้อง ปราสาทฟุชิมิ
โทริ โมโตตาดะ

แม้เทียบกำลังแล้ว โทริ โมโตตาดะ จะเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด เพราะน้อยกว่ามิตสึนาริถึง 20 ต่อ 1 แต่นั่นไม่ได้ทำให้เลือดนักรบของเขาหวั่นไหว โมโตตาดะตัดสินใจยืนหยัดปกป้องปราสาทฟุชิมิ ยื้อเวลาให้อิเอยาสุพร้อมที่สุดในการระดมพลรบ

เล่ากันว่า โมโตตาดะเขียนข้อความสั่งเสียไว้ “หากจะให้ตีฝ่าวงล้อมเพื่อหลบหนีก็คงไม่ยากเกินกำลัง แต่วิธีนั้นไมใช่ความหมายแท้จริงของการเป็นนักรบ ข้าจะสู้กับกองกำลังของทั้งประเทศอยู่ตรงนี้และตายอย่างเกรียงไกร” นี่อาจเป็นนัยได้ว่า โอกาสที่จะรักษาปราสาทแห่งนี้ให้อยู่รอดปลอดภัยนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

กองทัพของมิตสึนาริมาถึงปราสาทฟุชิมิ และเปิดฉากต่อสู้ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1600

“มิตสึนารินำกำลังกว่า 40,000 คนบุกปราสาทฟุชิมิ โมโตตาดะกับไพร่พล 2,000 คนก็ต้านรับอย่างดุเดือดนานถึง 12 วัน ตามตำนานกล่าวว่า ทหารฝ่ายนี้สู้ไม่ถอยจนเหลือเพียง 10 คน แล้วโมโตตาดะก็ฆ่าตัวตายอย่างสมเกียรติด้วยการกระทำเซ็ปปุกุ” สตีเฟน เทิร์นบุลล์ (Stephen Turnbull) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การรบของญี่ปุ่น บอกไว้ในสารคดี Age of Samurai : Battle for Japan

โมโตตาดะตั้งรับทัพของมิตสึนาริอย่างเต็มกำลัง ท่ามกลางเปลวเพลิงและกำลังพลของฝ่ายตนที่ปลิดปลิวเป็นใบไม้ร่วง ท้ายสุดเมื่อต้านทานไม่ไหว โมโตตาดะจึงกระทำเซ็ปปุกุ คือการฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่มีเกียรติของเหล่าซามูไร เพราะถือว่าตายด้วยน้ำมือตนเองดีกว่าถูกฆ่าตายด้วยคมดาบของศัตรู

สมรภูมิเลือดที่ “ปราสาทฟุชิมิ” แม้พันธมิตรฝ่ายอิเอยาสุจะปราชัย แต่การรบที่ยาวนานถึง 12 วัน คือตั้งแต่ 27 สิงหาคม ถึง 8 กันยายน ค.ศ. 1600 ก็เอื้อให้อิเอยาสุมีเวลารวบรวมกำลังพลจากเอโดะมาเปิดศึกกับมิตสึนาริ นำสู่ “ยุทธการเซกิงาฮาระ” (The Battle of Sekigahara) ที่พลิกโฉมหน้าญี่ปุ่นไปตลอดกาล เพราะมิตสึนาริเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ส่วนอิเอยาสุ เมื่อไม่มีใครต้านทานเขาได้อีก ก็เถลิงอำนาจเป็นโชกุนคนแรกแห่งตระกูลโทกุงาวะ เริ่มต้นยุคเอโดะที่กินเวลากว่า 250 ปี

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง:

ซีรีส์ Age of Samurai : Battle for Japan, 2021.

FUSHIMI MOMOYAMA: A Town of History, Water, and Sake. https://www.gekkeikan.co.jp/enjoy/bunko/inari-momoyama/en/fushimimomoyama.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2567