ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระนั่งเกล้าฯ (รัชกาลที่ 3) เป็นพระราชนัดดาองค์โปรดใน รัชกาลที่ 1 ด้วยมีพระพักตร์คล้ายกันมาก จริงหรือ?
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2331 (นับตามปฏิทินแบบจารีตคือ พ.ศ. 2330) ตรงกับสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงเป็นพระราชโอรสใน กรมหลวงอิศรสุนทร (ภายหลังคือ รัชกาลที่ 2) กับเจ้าจอมมารดาเรียม มีพระยศเมื่อแรกประสูติเป็น “หม่อมเจ้าชายทับ”
ว่ากันว่า หม่อมเจ้าชายทับทรงเป็นที่โปรดปรานในพระอัยกา หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอย่างยิ่ง เนื่องจากมีพระพักตร์ละม้ายคล้ายคลึงกัน
เมื่อหม่อมเจ้าชายทับมีพระชนมายุครบปีที่จะเจริญพระเมาฬี (ผมจุก) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าพระราชพิธีโสกันต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ใน พ.ศ. 2349 กรมหลวงอิศรสุนทรทรงได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระโอรสและพระธิดาทุกพระองค์ของกรมหลวงอิศรสุนทรจึงต้องเปลี่ยนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้า รวมถึงหม่อมเจ้าชายทับที่ต้องเปลี่ยนเป็น “พระองค์เจ้าชายทับ” ด้วย
ต่อมาใน พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือกรมหลวงอิศรสุนทรได้รับการอัญเชิญให้เสด็จขึ้นเครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และทรงปรับเปลี่ยนพระอิสริยยศของบรรดาพระโอรสและพระธิดาในพระองค์อีกครั้ง ในการนี้ พระองค์เจ้าชายทับได้เปลี่ยนเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ”
หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2356 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับได้รับการสถาปนาให้ทรงกรม มีพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” กำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา รวมทั้งได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่า แท้จริงแล้ว พระนั่งเกล้าฯ จะเป็นพระราชนัดดาองค์โปรดใน รัชกาลที่ 1 จริงหรือไม่ แต่จากพระราชประวัติก่อนเสด็จเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น สะท้อนว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสองค์โปรดที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไม่น้อยเลย
แต่หากว่าด้วยพระพักตร์ที่ “คล้ายคลึง” กันระหว่างพระอัยกากับพระราชนัดดาองค์โต เราพอจะเห็นเป็นประจักษ์จาก พระบรมสาทิสลักษณ์ รวมถึงพระบรมรูปของทั้ง 2 พระองค์ ที่มักมีความละม้ายคล้ายกันจริง ๆ โดยมีที่มาจากพระบรมรูปหล่อของพระเจ้าแผ่นดินจักรีวงศ์ ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 หลังทรงมีรับสั่งให้หล่อทั้งรัชกาลที่ 1-4 รวมถึงพระบรมรูปหล่อของพระองค์เอง
ตอนนั้นเกิดปัญหาเล็กน้อยในการปั้นรูปหล่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพราะหาคนที่เคยเห็นพระองค์และยังมีชีวิตอยู่เพื่อมาให้รายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงพระพักตร์ได้ยากนัก ขณะนั้นมีเพียง 4 คน คือ สมเด็จพุทธาจารย์ (โต), เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี บุรณสิริ), พระองค์เจ้าปุก (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 2) และเจ้าพระยาธรรมา (มั่ง) ส่วนรัชกาลถัด ๆ มานั้นไม่สู้เป็นปัญหา เพราะอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมาก
เหล่านี้จึงเป็นที่มาของภาพลักษณ์ดังกล่าวและพระพักตร์ที่คล้ายกันของพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 3 ทรงพระประชวรเมื่อเจดีย์ที่วัดโพธิ์ เกิดเอียง
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กษัตริย์ผู้ปราศจาก “ช้างเผือก” ไร้ช้างแก้วประจำรัชกาล
- 31 มี.ค. วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปวีณา หมู่อุบล. (2567). อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มติชน.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. บันทึกรับสั่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2567