ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการแก่สยามประเทศ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เวลา 22.30 น. ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม (ธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน)
เมื่อแรกประสูติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอ หม่อมเจ้าชายทับ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมาก
เพราะนอกจากจะทรงเป็นหลานปู่พระองค์ใหญ่แล้ว ยังมีพระพักตร์คล้ายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชยิ่งนัก จึงเป็นเหตุให้พระองค์ได้รับพระราชทานเกียรติเป็นพิเศษ เช่น เมื่อพระชันษาครบปีที่จะเจริญพระเมาฬีตามประเพณีนิยมของไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเกศากันต์ (ตัดจุก) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ใน พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ ครั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ
จน พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงกำกับราชการกรมท่า ได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต มิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด ขุนนางและพระราชวงศ์ต่างมีความเห็นว่า กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ขณะนั้นมีพระชนมายุ 37 พรรษา ทรงรอบรู้กิจการบ้านเมืองดี ทรงปราดเปรื่องในทางกฎหมาย การค้า และการปกครอง จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 พระนามเต็มตามพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมพระชนมพรรษาได้ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เฉลิมพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 3 ใหม่ เป็น “พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ออกพระนามโดยย่อว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3”
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาต่างๆ เช่น ใน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ถวายพระราชสมัญญาว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า และได้ใช้เป็นสร้อยพระนามสืบมาจนปัจจุบัน
ต่อมา พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการค้าไทย, พระบิดาแห่งการพาณิชย์นาวีไทย และใน พ.ศ. 2558 ถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันมหาเจษฎาบดินทร์ เป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และเห็นชอบให้ให้ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระมหาเจษฎาราชเจ้า” แปลว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่”
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเป็นกรุงเทพฯ ที่แท้จริง เริ่มสมัยรัชกาลที่ 3
- วัดเฉลิมพระเกียรติฯ วัดสุดท้ายในพระราชศรัทธารัชกาลที่ 3
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2562