ใครว่า “สมเด็จพระนเรศวรไม่มีพระราชโอรส” ดูเอกสารประวัติศาสตร์ อาจมีถึง 2 พระองค์?

สมเด็จพระนเรศวร พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ. เกาะคา จ. ลำปาง

สมเด็จพระนเรศวร ทรงพระประชวรสวรรคต ณ เมืองห้างหลวง (หาง) ขณะยกทัพหลวงไปตีกรุงอังวะเมื่อ พ.ศ. 2148 ด้วย “สมเด็จพระนเรศวรไม่มีพระราชโอรส” พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ

นักพงศาวดารหลายท่านเชื่อว่า “สมเด็จพระนเรศวรไม่มีพระราชโอรส” (รวมถึงไม่มีพระราชธิดา) เพราะยึดตามพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจดหมายเหตุปีเตอร์ ฟลอริส ลูกจ้างชาวฮอลันดาที่ทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษประจำเมืองปัตตานี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2155-58) ที่บันทึกว่า

Advertisement

“กษัตริย์ผู้พิชิตพระองค์นี้ [สมเด็จพระนเรศวร] สวรรคตใน ค.ศ. 1605 โดยปราศจากพระราชโอรสธิดาสืบสันตติวงศ์ ทิ้งราชบัลลังก์ไว้ให้กับพระอนุชา ซึ่งมีพระสมัญญานามว่า พระองค์ขาว [สมเด็จพระเอกาทศรถ] ผู้รักสันติและมีน้ำพระทัยอ่อนโยน”

สมเด็จพระนเรศวรไม่มีพระราชโอรส?

แต่ จดหมายเหตุสเปน ของบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา กลับกล่าวถึง “พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด” ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม (สมเด็จพระนเรศวร) ในขณะนั้นว่า

“…พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเจริญพระพุทธมนต์และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตามติดมาอย่างใกล้ชิดเรือสี่ลำนั้น…เรือแต่ละลำมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งราชสำนัก 1 คน แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่ง…สุดท้ายที่มาถึงในกระบวนพยุหยาตราโดยชลมารคคือองค์พระมหากษัตริย์ ประทับในเรือพระที่นั่งขนาดกว้างใหญ่…”

“พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด” ของสมเด็จพระนเรศวร สันนิษฐานว่าประสูติแต่พระอัครมเหสี คำให้การขุนหลวงหาวัด จดพระนามไว้ว่า “พระมณีรัตนา” สันนิษฐานว่าเป็นองค์เดียวกับ “พระแก้วฟ้า” พระราชธิดาในสมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิประสูติแต่พระสนม พระราชโอรสองค์น้อยพระองค์นี้จึงมีฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” ซึ่งโดยเสด็จสมเด็จพระราชบิดาไปในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินเมื่อ พ.ศ. 2136

จดหมายเหตุสเปน ไม่ได้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับเดียวที่กล่าวถึงพระราชโอรสของสมเด็จพระนเรศ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวถึง เรื่องพระญาละแวกทูลขอกองทัพจากกรุงศรีอยุทธยาไปปราบขบถ ว่า

“…พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ [สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ] ก็มีพระราชโองการตรัสให้แต่งทัพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา…แลทัพพญาธรรมาธิบดี พญาสวรรคโลก พญากำแพงเพชร พญาสุโขทัย พญาพันธารา ยกไปโดยทางโพธิสัตว์ 

แลมีพระราชกำหนดไปให้พญาละแวกยกทัพออกมาบรรจบด้วยกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ แลยกไปตีทัพพญาออนในตำบลเสนสโทง ครั้นตีทัพพญาออนแตกฉานแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ยกทัพคืนมาโดยทางพระนครหลวง มาถวายบังคมพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์…” 

แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า “พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด” ซึ่งโดยเสด็จสมเด็จพระนเรศวรไปในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เมื่อ พ.ศ. 2136 จะเป็นเจ้านายพระองค์เดียวกับ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา” ซึ่งยกทัพไปปราบขบถในเมืองศรีสุนทร หรือเป็นคนละพระองค์กัน

หากที่ว่า “สมเด็จพระนเรศวรไม่มีพระราชโอรส” ดูเหมือนจะไม่ใช่เสียแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. “ใครว่าสมเด็จพระนเรศไม่มีพระโอรส” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567