“ซีซาร์สลัด” ซีซาร์ที่ว่าคือใคร เกี่ยวข้องกับ “จูเลียส ซีซาร์” หรือไม่?

ซีซาร์สลัด
ซีซาร์สลัด (ภาพ : Unsplash)

“ซีซาร์สลัด” (Caeser Salad) เมนูเรียกน้ำย่อยหรือเครื่องเคียงชั้นดีที่ได้รับความนิยมตลอดกาลนี้ ทำไมถึงได้ชื่อว่าซีซาร์สลัด เกี่ยวข้องอะไรกับ “จูเลียส ซีซาร์” (Julius Caesar) เผด็จการแห่งโรมัน ?

ซีซาร์สลัดถือเป็นอีกหนึ่งเมนูเรียกน้ำย่อยหรือเครื่องเคียง ที่เมื่อไปกินอาหารตะวันตกเมื่อไหร่ ก็ต้องสั่งอยู่เสมอ ด้วยรสชาติที่อร่อยผสมกับผักและขนมปังกรุบกรอบ จึงทำให้หลายคนติดรสสัมผัสนี้ได้ไม่ยาก 

เมื่อได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก จึงทำให้คนเริ่มตามหาประวัติของเจ้าเมนูสลัดสุดอร่อยเลิศนี้ ก่อนจะเกิดความเชื่อที่ว่าซีซาร์สลัด ชื่อนี้มีที่มาจากจูเลียส ซีซาร์

แล้วความเชื่อนี้ จริงหรือไม่?

ที่จริงแล้วซีซาร์สลัดไม่ได้มาจาก “จูเลียส ซีซาร์” อย่างที่เข้าใจกัน แต่มาจากชายที่ชื่อว่า “ซีซาร์ การ์ดินี” เชฟชาวอิตาเลียน พ่วงตำแหน่งเจ้าของร้านอาหารที่เมืองติฮัวนา ประเทศเม็กซิโก ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1924

ซีซาร์ การ์ดินี ได้ริเริ่มการทำซีซาร์สลัดขึ้นเมื่อมาเปิดร้านที่ติฮัวนา เพื่อรับลูกค้าชาวอเมริกันที่ล้นหลาม ประจวบกับวัตถุดิบนั้นมีจำกัด เขาจึงได้สร้างสรรค์เมนูที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและแก้ปัญหาที่มีอยู่ กลายเป็น “ซีซาร์สลัด”

จะเห็นว่าซีซาร์สลัดเป็นเมนูที่ทำไม่ยาก มีเพียงผักกาดหอม น้ำมันมะกอก ไข่ดิบ ครูตองซ์ (คล้ายๆ ขนมปังกรอบ) พาร์เมซานชีส และวูสเตอร์ซอสรสชาติอมเปรี้ยวก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย พร้อมจ้วงด้วยมือกินอย่างเอร็ดอร่อย (ก่อนที่ต่อมาจะรับประทานด้วยมีดและส้อม)

ด้วยความอร่อย ทำง่ายและกินง่าย จึงทำให้ซีซาร์สลัดเป็นที่นิยมชมชอบจนปัจจุบัน รวมถึงกลายเป็นเมนูคู่ครัวตะวันตก และเจ้าของเมนูนี้ก็ไม่หยุดแค่นั้น เพราะต่อมาเขาได้พัฒนาสูตรซีซาร์สลัดของตัวเองจนมีแบรนด์ยิ่งใหญ่ ขายส่วนประกอบสำคัญของสลัดนี้โดยเฉพาะไปทั่วโลก เช่น น้ำสลัดหลากหลายชนิด ครูตองซ์ นั่นคือ Cardini’s

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง

https://caesarcardinis.com/our-story/

https://www.mccraystavern.com/caesar-salad


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567