อาหาร “สีน้ำเงิน” อาหารที่ไม่น่ารับประทาน?

โดนัท อาหาร สีน้ำเงิน
(ภาพโดย Alexander Grey จาก Unsplash)

อาหาร “สีน้ำเงิน” อาหารที่ไม่น่ารับประทาน?

ในบรรดาสีทั้งหมดจากเฉดสีที่มนุษย์รู้จัก มีการวิเคราะห์ว่า สีน้ำเงิน (Blue) ส่งผลต่อความรู้สึกอยากอาหาร “น้อยที่สุด” ถึงขนาดมีการแนะนำให้วางอาหารบนจานสีน้ำเงินหากต้องการ “ลดน้ำหนัก” หรือแม้แต่เปิดไฟสีฟ้าในตู้เย็น แล้วคอยดูว่าของกินในนั้นจะยังดึงดูดอยู่หรือเปล่า

ว่ากันว่า หากอาหารที่รับประทานถูกย้อมเป็นสีน้ำเงิน และเติมสีดำลงไปเล็กน้อย อานุภาพของการลดแรงจูงใจหรือความอยากอาหารจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก 2 เท่า!

เหตุใดสีน้ำเงิน” หรือ “สีฟ้า” จึงเป็นสีที่ไม่น่ารับประทาน?

เรื่องนี้พอจะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ เริ่มด้วยความรู้สึกนี้เกิดจากในอดีตอาหารสีน้ำเงินกับสีฟ้าตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่หาได้ยาก และมนุษย์เราพัฒนาการมาท่ามกลางธรรมชาติที่ไม่ได้มอบพืชผักผลไม้หรือเนื้อสัตว์สีน้ำเงินมาเป็นอาหาร

บางคนอาจเริ่มนึกถึงขนมและไอศกรีมสีสดใส หรือผลไม้อย่าง บลูเบอร์รี่ พืชผักอย่าง มันม่วง กะหล่ำปลีม่วง หรือแม้แต่อัญชัน แต่อย่าลืมว่าสัดส่วนของอาหารเหล่านี้มีน้อยมาก หากเทียบกับอาหารสีอื่น ๆ อย่าง ผักใบเขียว หรือผลไม้สีส้ม เหลือง และแดง 

ขณะเดียวกัน อาหารสีน้ำเงินก็มีน้อยมากจนนับได้เพียงไม่กี่อย่าง ยิ่งในธรรมชาติแล้ว นอกจากผัก-ผลไม้ที่กล่าวไปข้างต้นก็แทบนึกไม่ออกแล้ว บรรพบุรุษของเราจึงไม่ได้จดจำด้วยซ้ำว่าสีเฉดนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารตามธรรมชาติ

นี่เป็นเหตุผลว่า เหตุใดสมองจึงไม่มีการตอบสนองโดยอัตโนมัติเมื่อพบอาหารสีน้ำเงิน 

นอกจากนี้ ระบบประสาทของเรายังพัฒนาสัญชาตญาณการหลีกเลี่ยงอาหารเป็นพิษร่วมกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ เมื่อบรรพบุรุษของเราออกตระเวนหาของป่าเป็น อาหาร สีน้ำเงิน สีม่วง และสีดำ ยังเป็นสีแห่ง “สัญญาณเตือน” ที่สื่อว่า อาหารเหล่านั้นมีแนวโน้มเป็นพิษ และอาจอันตรายถึงชีวิต

แกรี่ บลูเมนธัล (Gary Blumenthal) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและนักโภชนาการนานาชาติ กล่าวว่า

“สีกับความน่ารับประทานของอาหารสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะแค่มองเห็นอาหารก็สามารถกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ได้แล้ว

ข้อมูลจากผู้ทดลองนำอาหารไปรับประทานในความมืดบอกว่า มีสิ่งที่ขาดหายไป นั่นคือความเพลิดเพลินจากการมองเห็นรูปลักษณ์ของอาหารนั่นเอง

ในการพิจารณา (รูปลักษณ์) ดวงตาเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้มั่นใจก่อนลองชิมอาหาร แปลว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่ล้มเหลวในการทำการตลาด ไม่ใช่เพราะรสชาติ เนื้อสัมผัส หรือกลิ่นที่ไม่ดี แต่เป็นเพราะผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้ลิ้มลองถึงระดับนั้นแต่แรก

‘สี’ มีความสำคัญ และเป็นการยากที่ผู้บริโภคเกือบทั่วโลกจะลองอาหารที่มีสีน้ำเงิน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการตีตลาดสำหรับเด็ก ๆ มากขึ้น (แต่) สีเขียว น้ำตาล แดง และสีอื่น ๆ อีกหลายสีเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป แม้ว่าสีเหล่านั้นอาจแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม…”

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Appetite ระบุว่า ผู้ที่รับประทานอาหารภายใต้แสงสีน้ำเงินหรือจานสีน้ำเงินจะบริโภคอาหารน้อยกว่าผู้ที่รับประทานอาหารจานสีแดงหรือสีเหลือง เป็นข้อมูลอีกชุดที่พิสูจน์ได้ว่า “สีน้ำเงิน เป็นสีที่ไม่น่ารับประทานเอาเสียเลย!”

มีงานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้ศึกษาปริมาณอาหารที่ผู้คนรับประทานหลังได้รับจานสีแดงหรือสีขาวเพื่อบริการตัวเองระหว่างรับประทานบุฟเฟ่ต์ นักวิจัยพบว่า ยิ่งมีความแตกต่างระหว่างสีของอาหารกับสีของจานมากเท่าใด ผู้คนยิ่งตักอาหารเสิร์ฟให้ตนเองน้อยลงเท่านั้น แม้ว่าผลลัพธ์ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็อีกข้อพิสูจน์เช่นกันว่า “สี” ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของคนจริง ๆ

ทั้งนี้ แม้มีข้อสรุป (อย่างไม่เป็นทางการ) ว่า สีน้ำเงิน กับ สีฟ้า ส่งผลต่อความอยากอาหาร ทำให้ความต้องการรับประทานน้อยลง แต่เราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า อาหารจำนวนหนึ่ง (ที่เราทราบดีว่าบริโภคได้) ก็มีสีน้ำเงินกับสีฟ้า เกิดจากการเรียนรู้และความเข้าใจในขั้นต้น โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสัญชาตญาณการป้องกันตัว ไม่ต้องพึ่งพาระบบประสาทสัมผัสหรือความรู้สึกเชิงจิตวิทยา

ด้วยเหตุนี้ เราจึงรับประทานไอศกรีมบลูเบอร์รี่อย่างเอร็ดอร่อยแบบไม่พะวงเลยว่าอาหารตรงหน้าปลอดภัยพอหรือไม่ แต่… ลองใช้สีประกอบอาหารสีน้ำเงินทาบนไก่อบทั้งตัวดูสิ เชื่อว่าใครเห็นก็ต้องหายหิว… (ฮา)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Color Matters. (Retrieved Mar 15, 2023) : “Color & Appetite Matters”. <https://www.colormatters.com/color-and-the-body/color-and-appetite-matters>

LAUREN INGRAM, Daily Mail (Jan 8, 2017) : “From pink walls to blue food: After Kendall Jenner posted THAT snap, Femail looks at whether colours really can suppress your appetite”. <https://www.dailymail.co.uk/femail/article-4098544/Can-colours-REALLY-suppress-appetite.html>

Linda Poon, npr (April 16, 2014) : “Tasting With Our Eyes: Why Bright Blue Chicken Looks So Strange”. <https://www.npr.org/sections/thesalt/2014/04/16/303215873/tasting-with-our-eyes-why-bright-blue-chicken-looks-so-strange>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2566