ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“สีแดง” ในวัฒนธรรมนานาชาติ ที่ไม่ได้สื่อความหมาย “มงคล” เสมอไป
“สีแดง” ในภาษากรีกโบราณคือ Erythros เป็นรากศัพท์ของคำว่า “Blood” (เลือด) ซึ่งสีแดงก็คือสีเลือด และชาด (ชาติ) สีแดงปรากฏอยู่ในผืนธงชาติของ 169 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก สีแดงจึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์กาชาดสากล เพื่อง่ายต่อการมองเห็นในฐานะหน่วยพยาบาลที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดท่ามกลางสนามรบ
ด้วยเหตุนี้ สีแดงจึงมักหมายถึงการต่อสู้ ความเป็นชาติ ความร้อนแรง ความคึกคัก และความรัก
เมื่อพิจารณาการแต่งกายของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งผิวขาว เหลือง และดำ ต่างนิยมนุ่งห่มสีแดง เช่น มันนิ (เงาะป่า/ซาไก) มลาบรี (ตองเหลือง) มอแกล็น (มอแกน) และบางชนเผ่าในอาฟริกา ขณะที่ชนกลุ่มใหญ่ในอุษาคเนย์ เช่น มอญ เขมร พม่า และไทย มีคติคล้ายกันว่า สีแดงเป็นสีพึงสงวนสำหรับกษัตริย์
ในทางการแพทย์ สีแดงเป็นสีที่กระตุ้นระบบประสาทของมนุษย์ได้รุนแรงที่สุด นั่นคือ ก่อให้เกิดความรู้สึกท้าทาย ตื่นเต้น ตื่นตัว เร้าใจ และฮึกเหิม ในทางจิตวิทยา สีแดงกระตุ้นจิตใจให้มีพลัง เข้มแข็ง มุ่งมั่น กระตือรือร้น และมีชีวิตชีวา ในแง่ของการรักษา สีแดงมีอิทธิพลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกาย นอกจากความหมายที่เป็นวิทยาศาสตร์และถูกใช้ในทางสัญลักษณ์สากล เช่น ป้ายจราจรและสัญญาณเตือนภัย
สีแดง ในความเชื่อของผู้คนนานาชาติ มีความหมายแตกต่างกันออกไป
ชาวยุโรป เชื่อว่า สีแดงเป็นสีในทางสงคราม ดังเช่นในอดีต ชาวโรมันใช้ธงสีแดงเป็นสัญลักษณ์ในการเริ่มโจมตีข้าศึก รวมทั้งบ่งบอกถึงความอันตราย ด้วยอาจเป็นสีที่พวกเขาคุ้นเคยจากสีและความร้อนของดวงอาทิตย์ ลาวาจากการระเบิดของภูเขาไฟ หรือไฟป่า จึงได้นำสีแดงมาใช้ควบคู่กับการจราจรเพื่อให้ผู้ขับขี่ยวดยานใช้ความระมัดระวัง เช่น สัญญาณไฟจราจร สัญญาณเตือนภัย ป้ายหยุดรถ เป็นต้น นอกจากนี้สีแดงยังเป็นสัญลักษณ์ของความรัก (รูปหัวใจ) สิ่งดึงดูดความสนใจ (ป้ายลดราคา)
ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสก็มีการตกแต่งอาคารบ้านเรือนด้วยสีเขียวและแดง ตามประเพณีอันสืบเนื่องมาจากชาวเคลติก (Celtic) โบราณที่เชื่อกันว่า ความเขียวชอุ่มของต้นฮอลลี่ (Holly Trees) ที่มีผลสีแดง จะช่วยให้โลกสวยงามท่ามกลางหิมะสีขาวโพลน และความหนาวเหน็บที่คืบคลานเข้ามา ชาวยุโรปจึงตกแต่งบ้านเรือนด้วยต้นฮอลลี่ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำความโชคดีมาสู่ครอบครัว รวมทั้งซานตาคลอสใจดีในชุดสีแดงที่จะมาพร้อมของขวัญมอบให้เด็กทั้งหลาย
ต่อมา ในช่วงศตวรรษที่ 14 สีเขียวและแดงนี้ถูกนำมาใช้วาดฉากกางเขน เพื่อแบ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งของแท่นบูชาในคริสตจักร นับจากนั้นราชวงศ์ทั้งหลายในยุโรปก็ยึดเอาค่านิยมการใช้สีแดงในทางศาสนจักรไปใช้ในทางอาณาจักรหรือราชสำนักด้วย นอกจากนี้ สีแดงยังเกี่ยวข้องกับกับลัทธิคอมมิวนิสต์และการปฏิวัติของโลกยุคใหม่ในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ฝรั่งเศส โรมาเนีย เป็นต้น
เช่นเดียวกับ ชาวอเมริกัน ที่รับเอาแบบแผนวัฒนธรรมและค่านิยมความเชื่อจากยุโรป จึงให้คุณค่ากับสีแดงไม่แตกต่างกัน เช่น การให้ความสำคัญกับสีแดง (กับสีเขียว) ในเทศกาลคริสต์มาส รวมทั้งการใช้สีแดง (กับสีขาว) ในเทศกาลแห่งความรัก (วาเลนไทน์) เป็นต้น
ชาวอาฟริกา มีความเชื่อเกี่ยวกับสีแดงที่หลากหลาย เช่น ชาวอียิปต์ เชื่อว่าสีแดงเป็นสีแห่งเสน่ห์ น่าหลงใหล ชาวไนจีเรีย เชื่อว่า สีแดงเชื่อมโยงกับความตาย การรุกราน และยังหมายถึงความมีชีวิตชีวา ส่วน ชาวแอฟริกาใต้ ให้ความหมายกับสีแดงว่าหมายถึง ความเศร้า
ชาวอะบอริจิ้น ชนพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า “ทุกๆ ที่ที่อยู่บนแผ่นดินคือบ้าน และพวกเราใช้ร่วมกัน” โดยให้ความหมายของแผ่นดินโดยแทนด้วย สีแดง น่าเชื่อได้ว่า อาจเป็นความต้องการที่จะบอกเล่าไปยังคนขาวผู้มาทีหลังว่า แผ่นดินนี้เป็นเลือดเนื้อของพวกเขา แม้พวกเขาจะเป็นเจ้าของแผ่นดินที่แท้จริง ผู้มาทีหลังสามารถใช้แผ่นดินนี้ร่วมกันได้ แต่ต้องใช้ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ใช่การรุกไล่ให้ผู้มาก่อนต้องอยู่ในสถานะต่ำชั้นกว่า
ชาวเอเชีย ส่วนใหญ่ถือคติว่าสีแดงเป็น “สีมงคล” จึงต่างนิยมใช้สีแดงในวาระสำคัญ รวมทั้งประกอบด้วยความหมายที่หลากหลาย เช่น ความสนุกสนาน (ใช้กับสีขาว) ความโชคดี และความบริสุทธิ์ เป็นต้น แต่ก็มีในบางชาติ เช่น ชาวยิว (ฮิบบรู) ที่ถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งบาป และการเสียสละ อันสืบเนื่องมาจากการเสียสละของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรับบาปแทนมนุษย์
ชาวจีน ให้ความสำคัญกับสีแดงอย่างมาก เพราะสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง ความโชคดี ในทางฮวงจุ้ย สีแดงคือ หยาง อันหมายถึง ดวงอาทิตย์ สัญลักษณ์ของพลังแห่งบุรุษเพศ การเคลื่อนไหว ความกระตือรือร้น การเคลื่อนขึ้นไปด้านบน การเจริญเติบโต ความเจริญรุ่งเรือง ความร้อนแรง ความโชคดี ความเคารพ การป้องกัน และการยอมรับนับถือ (ตรงข้ามกับ หยิน) และเนื่องจากสีแดงเป็นสี มงคล ในงานแต่งงาน ในวันตรุษจีน (ปีใหม่) และโอกาสพิเศษที่น่ายินดีล้วนต้องเป็นสีแดง
ชาวอินเดีย มีความเชื่อว่า สีแดงคือความบริสุทธิ์ ราคะ และจิตวิญญาณ นอกจากนี้ยังเป็นสีกายของพระอาทิตย์ เทพชั้นสูงตามความเชื่อของชาวฮินดู ดังตำนานว่า พระอิศวรได้นำเอาราชสีห์ 6 ตัว ป่น แล้วห่อด้วยผ้าสีแดง (Red Rose) ประพรมด้วยน้ำอมฤต กระทั่งกำเนิดเป็นพระอาทิตย์ พระอาทิตย์จึงมีกายสีแดง และชาวไทยก็ได้รับเอาความเชื่อดังกล่าวนี้ ในการกำหนดให้มีเทพคุ้มครองวันทั้ง 7 สลับสับเปลี่ยนกันไปใน 1 สัปดาห์ สีประจำวันอาทิตย์จึงเป็นสีแดงตามสีกายของพระอาทิตย์ตามความเชื่อของคนไทยในปัจจุบัน
ชาวญี่ปุ่น ถือว่า สีแดงคือชีวิต ด้วยพวกเขาเชื่อว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย ได้สัมผัสพระอาทิตย์ก่อนใคร ชาวญี่ปุ่นจึงเป็นลูกพระอาทิตย์ ธงชาติญี่ปุ่นจึงใช้รูปดวงอาทิตย์สีแดงกึ่งกลางผืนผ้าสีขาว
ชาวอิหร่าน เชื่อว่า สีแดงเป็นสีแห่งความกล้าหาญ ดังปรากฏเป็น 1 ใน 3 สี บนธงชาติอิหร่าน นอกจากขาวและเขียว นอกจากนี้ สีแดงยังเป็นสีของไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรงตามคติความเชื่อของชาวอิหร่านโบราณ
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็มีความเชื่อเรื่อง “สีแดง” เช่นกัน
ชาวกะเหรี่ยง นิยมนุ่งห่มสีแดง แม้ไม่มีข้อกำหนดชัดเจน แต่สีแดงก็มีนัยยะสำคัญในการแต่งกาย นั่นคือ ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะสวมเสื้อผ้าสีขาว ต่อเมื่อแต่งงานแล้วจะสวมผ้าถุงสีแดง สวมเสื้อสีดำหรือน้ำเงิน ส่วนผู้ชายนิยมสวมเสื้อ โพกผ้า และสะพายย่ามสีแดง
ชาวมันนิ (เงาะป่า/ซาไก) ที่ชอบสีแดง ซึ่งเป็นที่รับรู้ของชาวไทยทั่วไป ดังปรากฏอยู่ใน “สังข์ทอง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังในตอนทหารพระเจ้าสามลล่อเจ้าเงาะออกไปให้นางรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ “ต่างวิ่งชิงเก็บดอกชบา ผูกปลายไม้มาล่อเงาะ” หรือเรื่องของ “คะนัง” ผู้มีชีวิตอยู่จริงโดยได้รับการชุบเลี้ยงเป็นพระราชโอรสบุญธรรมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และชีวิตของ “คะนัง” ได้เป็นต้นแบบ “เงาะป่า” พระราชนิพนธ์ในพระองค์ ที่มีบันทึกว่า “คะนังชอบสีแดงก็ได้ผ้าห่มแดงและเสื้อแดงสวมใส่”
สำหรับสังคมไทย เนื่องจากชาวไทยเห็นว่า สีแดงเป็นสีของสูง ของเจ้าของนาย สามัญชนจึงไม่สมควรเอามานุ่งห่ม เป็นเรื่องไม่บังควร ทำนองขี้กลากจะกินหัว ดังปรากฏในเรื่องเล่าเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 6-7 ใน “เมื่อคุณตาคุณยายยังเล็ก” ของ ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ความว่า
“ทั้งผู้ชายและผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าม่วงไหมสีต่างๆ ตามชอบ ผ้าม่วงสีที่นิยมก็มีสีเทาตะกั่วตัด สีนกพิราบ สีปูนแห้ง สีแดงลิ้นจี่ หรือสีลูกหว้า สีกะปิ แต่สีแดงนุ่งไม่ได้ ถือว่าเป็นสีของเจ้า ในหลวง และเจ้านายเท่านั้นจึงจะทรงผ้าม่วงสีแดงสดได้…”
สอดคล้องกับความเชื่อตามโบราณราชประเพณีในราชสำนักพม่า ตามที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้ใน “พม่าเสียเมือง” ความว่า “เหตุที่ต้องใช้ท่อนจันทน์สำเร็จโทษและไม่ใช้ของมีคมนั้น ก็อาศัยหลักที่ว่าโลหิตพระเจ้าแผ่นดินหรือเลือดขัตติยะวงศ์นั้นจะตกลงถึงแผ่นดินไม่ได้ ถุงที่ใส่นั้นใช้ผ้าหรือกำมะหยี่สีแดง เพราะสีแดงเป็นของขัตติยะ…”
รวมทั้งความเชื่อของ ชาวลาวโซ่ง (ลาวทรงดำ/ไทยทรงดำ/ไตดำ) ที่จะไม่สวมใส่เสื้อผ้าสีแดงเป็นอันขาด เนื่องจากสีแดงเป็นสีสำหรับ “ผีผู้ท้าว” หรือผีเจ้านาย ชาวบ้านทั่วไปไม่บังควรกำเริบเสิบสานเช่นกัน
ชาวมอญ ก็ไม่นุ่งห่มผ้าแดง เพราะถือว่าสีแดงเป็นสีของพระสงฆ์และพระเจ้าแผ่นดิน ศาลพ่อปู่ ศาลพ่อปู่ตาประจำหมู่บ้าน หรือศาลเจ้าที่ในวัดประจำหมู่บ้านก็ใช้ผ้าขาวผ้าแดงผูกบูชา ทุกวันนี้ถ้าพบเห็นรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ของคนมอญในเมืองมอญ (รัฐมอญ ประเทศพม่า) ที่มีผ้าขาวผ้าแดงผูกไว้ก็รู้ได้ทันทีว่าเจ้าของเป็นมอญอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนโสร่งและผ้าถุงแดงอาจผิดไปจากขนบดั้งเดิม หากมองจากมุมของเก่า กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ฝังรากลึก
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มา “ธงชาติไตรรงค์” ไอเดียใครออกแบบ ทำไมเลือกใช้สีแดง-น้ำเงิน-ขาว
- “กระทิงแดง” มาจากไหน ทำไมเป็น “กระทิงสีแดง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
องค์ บรรจุน. “สีแดง” ในวัฒนธรรมนานาชาติ และความหมายที่เปลี่ยนไปในวัฒนธรรมมอญ, ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562