“กระทิงแดง” มาจากไหน ทำไมเป็น “กระทิงสีแดง”

ศรราม กระทิง อุทยานแห่งชาติ ศรีพังงา
“ศรราม” กระทิงหนุ่มแห่งอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ. พังงา (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 3 กันยายน 2567)

“กระทิงแดง” มาจากไหน ทำไมเป็น กระทิง “สีแดง”

ข้อมูลจาก “สารานุกรมสัตว์” องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายว่า กระทิงเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัย ในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย พม่า อินโดจีน มาเลเซีย และไทย สำหรับเมืองไทยพบกระทิง 2 สายพันธุ์ย่อย คือ Bos gaurus readei เป็นสายพันธุ์ที่พบทางป่าภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและอีสาน อีกสายพันธุ์หนึ่งคือ Bos gaurus hubbachi พบทางภาคใต้และเทือกเขาตะนาวศรี

กระทิงมีลักษณะดังนี้ “กระทิงมีรูปร่างคล้ายวัว ขนสั้นเกรียนเป็นมันสีดำหรือแกมน้ำตาล ขาสีขาวนวลคล้ายสวมถุงเท้า บริเวณหน้าผากมีหน้าโพธิ์สีเทาปนขาวหรือปนเหลือง สันกลางหลังสูง มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขาโค้ง โคนเขามีสีเหลือง ปลายเขาสีดำ ใต้ผิวหนังมีต่อมน้ำมันซึ่งน้ำมันมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย” [เน้นโดยผู้เขียน]

Advertisement
กระทิง กระทิงแดง
กระทิง (ภาพจาก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)

ข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า “ปกติ” กระทิงสีดำ หรือน้ำตาล แล้ว กระทิง “สีแดง” มาจากไหน

ย้อนกลับไปดูข่าวหน้าหนึ่ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หนังสือพิมพ์หลายฉบับมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ “กระทิงแดง”  ซึ่งในที่นี้ขออ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ขณะนั้น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกระทิงและวัวแดง ให้สัมภาษณ์ว่า

“ได้รับแจ้งจากพื้นที่ป่าที่มีกระทิงและวัวแดงอาศัยอยู่ เช่นป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ว่าขณะนี้มีการผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์ 2 ชนิด แต่อยู่ในสกุล (GENUS) และวงศ์ (FAMILY) เดียวกัน คือกระทิงและวัวแดง มีการผสมพันธุ์กันโดยกระทิงตัวผู้ ผสมพันธุ์กับวัวแดงตัวเมียก่อน แล้ววังตั้งท้องคลอดลูกออกมาเป็นตัวเมีย ลักษณะออกไปทางกระทิงและเดินตามกระทิงไปหากิน

ต่อมาลูกกระทิงที่เกิดจากการผสมพันธุ์ดังกล่าว ไปปผสมพันธุ์กับวัวแดงอีก และคลอดลูกออกมาเป็นรุ่นที่ 2 ตอนนี้อายุได้ประมาณปีเศษ ลักษณะที่พบคือตัวเล็กกว่ากระทิงและมีสีมอๆ คือไม่เข้มแบบกระทิงและไม่แดงแบบวัวแดง ยังไม่รู้ว่าเป็นเพศไหน”

โดยทั่วไปเมื่อสัตว์ต่างชนิดมาผสมพันธุ์กัน เช่น ลากับม้า หรือเสือกับสิงโต ลูกออกมาจะเป็นหมันและมีลักษณะไม่ค่อยแข็งแรงนัก แต่ในลูกผสมระหว่างกระทิงกับวัวแดง ลูกออกมามีความเด่นของกระทิง และไม่มีอาการเป็นหมัน สามารถสืบพันธุ์ต่อได้อีก

นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเวลานั้น กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จับตาลูกผสมที่เกิดจากกระทิงตัวผู้และวัวแดงตัวเมีย ที่เวลานั้นมีอายุเกือบ 2 ปี เนื่องจากการผสมข้ามพันธุ์เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เป็นสัตว์ที่มีโครโมโซมใกล้ชิดกันมาก ก่อนหน้านี้ในประเทศมาเลเซียมีโครงการผสมพันธุ์ระหว่างกระทิงกับวัวบ้าน แต่พบว่าลูกที่ออกมามีปัญหาเรื่องสุขภาพ คือมีระบบสืบพันธุ์ที่อ่อนแอฃ

กระทิงไทย กระทิง กระทิงแดง
กระทิงไทย ที่เขาแผงม้า วังน้ำเขียว จ. นครราชสีมา (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 27 มีนาคม 2565)

สำหรับชื่อของสัตว์ “ลูกผสม” ที่เกิดจากกระทิงและวัวแดง ในเวลานั้นเรียกกันเล่นๆ ว่า “กระทิงแดง” ส่วนชื่อที่เป็นทางการยังรอให้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ตั้งตามหลักวิชาการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สารานุกรมสัตว์, องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

“ฮือฮากระทิงผสมวัวแดงได้ลูกแข็งแรงไม่เป็นหมัน” ใน, หนังสือพิมพ์มติชน  ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2563