ที่มา “ธงชาติไตรรงค์” ไอเดียใครออกแบบ ทำไมเลือกใช้สีแดง-น้ำเงิน-ขาว

ภาพประกอบเนื้อหา - ธงชาติไทย

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี พ.ศ. 2459 บ้านเรือน ร้านค้า ฯลฯ ต่างพยายามจะหาธงชาติ (ธงช้างเผือก) มาประดับเพื่อรับเสด็จ แต่ด้วยธงชาติมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงได้นำผ้าทอสีแดงขาวมาห้อยหรือจีบเป็นรูปสวยงามประดับอยู่ตามทางเสด็จฯ ผ่าน เมื่อทอดพระเนตรแล้วก็มีพระราชปรารภว่า

“…การห้อยผ้าแดงผ้าขาวนี้ดูออกจะคล้ายกับว่าเมืองอุทัยธานีของเราเต็มไปด้วยประเพณีชาวจีนไปเสียแล้ว…”

หรือบางบ้านที่ประดับด้วย “ธงช้างเผือก” แต่ก็กลายเป็น “ช้างกลับหัว” ดังที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้บรรยาย

“…จะเป็นด้วยความรีบร้อนจนหมดโอกาสพิจารณา หรือสะเพร่าไม่ทันสังเกตหรือโง่เขลาเบาปัญญาอย่างไม่น่าจะเป็นได้อะไรสักอย่างหนึ่งก็ตาม ธงชาติรูปช้างผืนนั้นปลิวสบัดอยู่ในลักษณะช้างนอนหงาย เอาสี่เท้าชี้ฟ้าอยู่ โดยเจ้าของบ้านจะแสดงกิริยาแปลกประหลาดหรือรู้ตัวแต่สักนิดก็หาไม่…

นั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะธงชาติไทยครั้งสำคัญ

ครั้งแรกทรงทดลองใช้ผ้าชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงขาวเพลาะสลับกันเป็น 5 ริ้ว วิธีทำก็ง่ายวิธีใช้ก็ง่าย เพราะจะใช้ด้านไหนก็ได้ไม่ต้องกลัวจะติดผิดทางเหมือนธงช้าง ทรงใช้ธงแดงขาว 5 ริ้วนี้ชักขึ้นที่สนามเสือป่าเป็นครั้งแรก แต่เมื่อทางพิจารณาดูแล้วไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย

ต่อมาก็มีการเปลี่ยนเป็น “ธงไตรรงค์” หรือธงชาติที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน

สำหรับแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงเป็นธงไตรรงค์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช 2460 รัตนโกสินทรศก 136 ปีที่ 8 ในรัชกาล เล่ม 2  วันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 14 มกราคม ดังนี้ [จัดย่อใหม่โดยผู้เขียน]

“ความคิดเรื่อง ธงสยามใหม่วันเสาร์ที่ 18 [สิงหาคม 2460] – อนึ่งมีข้อความอัน 1 ซึ่งควรที่จะจดไว้ณที่นี้เพื่อสําหรับเป็นข้อกําหนดจดจาต่อไป คือ เมื่อวันที่ 15 เดือนนี้ [สิงหาคม 2460] ได้มีแสดงความเห็นในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล แพนกภาษาอังกฤษ ในเรื่องธงชาติสยาม แปลเปนภาษาไทย ดังต่อไปนี้ :

คําแปล (หมายเหตุ – ผู้แต่งลงนามแฝงว่า “อะแควเรียส”)

สหายของข้าพเจ้าผู้ 1 ซึ่งได้ไปเสียจากกรุงสยามนานแล้ว และ พึ่งกลับเข้ามาอีกเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้กระซิบแก่ข้าพเจ้าว่า เขาออกรู้สึก ไม่สู้พอใจ (disappointed) ในรูปพรรณแห่งธงสยามใหม่-ข้าพเจ้าหมายความว่าธงพลเรือน สหายข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สง่าพอสําหรับประเทศ

ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่าตัวข้าพเจ้าเองเห็นด้วยกับเขาในการที่ไม่พอใจในทางตาช่าง

สหายข้าพเจ้าออกความเห็นว่า ริ้วแดงกลางควรจะเปลี่ยนเปนสีน้ำเงิน ดังนี้ริ้วขาวที่กระหนาบสองข้างประกอบ กับริ้วน้ำเงินกลางก็จะรวมกันเปนสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสีแดงกับขาวที่ริมประกอบกันก็จะเป็นสีสําหรับชาติ และด้วยประการฉนี้กรุงสยามก็จะได้มีธงสีแดง, ขาว, กับน้ำเงิน อันเป็นสีธงสามสี (ฝรั่งเศส), ธงยูเนียนแย็ก (อังกฤษ), และธงดาวและริ้ว (อะเมริกัน)

ดังนี้ ถ้ามองใหม่ขึ้นเช่นว่านี้ ก็จะได้เปนเครื่องหมายกิจการสําคัญยิ่งอัน 1 ในตํานานแห่งประเทศนี้ และการที่ใช้สามสีนี้สัมพัน มิตร์สําคัญๆ ของกรุงสยามก็จะรู้สึกว่าเป็นการยกย่องเขาเปนแน่แท้ๆ การที่มีสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วยนั้น ก็จะเปนเครื่องเตือนให้ลึกถึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในสมัยเมื่อประเทศ นี้ได้ดําเนินไปในขั้นสําคัญอย่างยิ่ง

(ข้อความภาษาอังกฤษได้ตัดปิดไว้แห่งอื่นแล้ว)

ลองเขียนแบบธงอย่างที่เขาคิด อย่างที่เขาคิดนี้ ลองเขียนแบบขึ้นดูก็งามดี และต้องยอมรับว่า ของเขาขำขึ้นกว่าธงที่ใช้อยู่บัดนี้ ดังปรากฏในแบบที่ปิดไว้ข้างล่างนี้ :

(ภาพจาก จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว )

พระยาประสิทธิ์ศุภการบอกว่า ได้ไปเฝ้าน้องชายเล็ก [สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ] เนื่องด้วยกิจธุระ ได้นําเอาแบบธงไปให้เธอดู และถามความเห็นด้วย เล็กก็รับว่าของเขาดี และชมว่าเขาช่างลอดคิดสลับสีสามสีนี้ให้แปลกกับธงที่ชาติอื่นๆ ใช้อยู่แล้ว

เธอกล่าวต่อไปว่า ธงชาติตามที่ใช้อยู่ณบัดนี้ ดูคล้ายๆ ธงของบริษัทเรือเมลบริษัท 1 อยู่ ส่วนการที่จะเปลี่ยนธงชาติให้เปนอย่างแบบข้างบนนี้ ถ้าเปลี่ยนเวลานี้เหมาะ เพราะยกเหตุได้ถนัดว่าเรามีความปราถนาจะให้มีอนุสาวรีย์แห่งการที่ได้เข้าทําสงครามคราวนี้ด้วย

เราจึงได้บอกพระยาศรีภูริปรีชาให้ลองร่างประกาศแก้ธงชาติตามนี้ เพื่อจะได้นําเรื่องเข้าปฤกษาในที่ประชุมเสนาบดีฟังความเห็นกันต่อไป”

 


ข้อมูลจาก

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “การห้อยผ้าแดงเมืองอุทัยธานี: มูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงธงชาติไทย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เมษายน 2552

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส 1 สิงหาคม 2517


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก 25 มิถุนายน 2563