
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | กำพล จำปาพันธ์ |
เผยแพร่ |
ฝีดาษหรือไข้ทรพิษ : โรคระบาดประจำถิ่นของสยาม
ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหมดที่หมอบรัดเลย์รักษาอยู่ในสมัยนั้น โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) อยู่ในรายการต้น ๆ เมื่อพูดถึงหมอบรัดเลย์แล้วไม่พูดถึงไม่ได้ ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ร่นขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยา คริสต์ศตวรรษที่ 14-15 โรคที่พบการระบาดมากในหมู่ชาวสยามก็คือโรคนี้ จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือ “โรคห่า” ประเภทหนึ่งของสยาม มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ชาวฝรั่งเศสผู้เข้ามาสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้บันทึกเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ดังนี้
“มีโรคติดต่อร้ายแรงอีกหลายชนิด แต่โรคห่าอันแท้จริงของประเทศนี้ก็คือโรคฝีดาษ (หรือไข้ทรพิษ) เคยสังหารชีวิตมนุษย์เสียเป็นอันมากอยู่เนืองๆ และเขาก็ฝังผู้ตายโดยมิได้เผา แต่เพราะธรรมเนียมชาวสยามต้องการแต่จะเผาศพแสดงปฏิการสนองคุณแก่ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ต่อมาเขาก็จะขุดศพนั้นขึ้นมา แต่สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดมากก็คือ เขาจะขุดศพขึ้นมาต่อภายหลังสามปีที่ได้ฝังไว้แล้วเท่านั้นหรือนานยิ่งกว่านั้น เพราะพวกเขาเคยประสบมาแล้วว่าถ้าขุดเร็วกว่ากำหนดนั้น ไข้ทรพิษจะกลับระบาดขึ้นมาอีก” [12]
นอกจากบันทึกของชาวต่างชาติข้างต้นแล้ว หลักฐานจาก “จดหมายเหตุโหร” ก็ช่วยให้ทราบว่ามีการระบาดของโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษเกิดขึ้นเป็นประจำเรื่อยมาเป็นหลายร้อยปี สอดคล้องตามบันทึกของชาวต่างชาติ เช่น ใน พ.ศ. 2106 (รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) “ชนทั้งปวงเกิดทรพิษตายกันมาก” พ.ศ. 2164 (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) “ออกฝีตายมาก” พ.ศ. 2165 (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) “ช้างเผือกล้ม คนออกฝีตายมาก” พ.ศ. 2292 (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) “ออกหัดทรพิษคนตายชุม” [13] ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มีบันทึกกล่าวถึงการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดประจำตัวของชาวสยามดังนี้
“ไม่มีโรคอะไรเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตคนสยามได้สักครึ่งหนึ่งของโรคฝีดาษ ซึ่งระบาดในหมู่ประชาชนชาวสยามเป็นเวลา 3-4 เดือนทุก ๆ ปีไม่มีเว้น ช่วงที่ระบาดคือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งรวมตั้งแต่ปลายฤดูฝนไปจนอีกสามเดือนของฤดูหนาวที่แห้งแล้ง แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่มีครอบครัวใดอยู่ที่นี่เป็นหลายปีโดยไม่เคยมีโรคฝีดาษมาเยี่ยมเยือนขนาดหนักถึงกับคร่าชีวิตไป 2-3 ชีวิตหรือมากกว่านั้น ชาวเมืองจำนวนมากมายลดเหลือเบาบางลง เพราะถูกโรคนี้ทำลายล้าง” [14]

กำเนิดวัคซีนสู่การเอาชนะไข้ทรพิษด้วยการปลูกฝี
พ.ศ. 2379-81 เป็นช่วงปีที่กรุงเทพฯ เผชิญโรคระบาดไข้ทรพิษรุนแรงอีกครั้ง เทียบเท่ากับในอดีตสมัยอยุธยา ผู้คนล้มตายกันมาก รัฐบาลสยามยังคงรับมือโดยวิธีการดั้งเดิมคือให้หมอเป็นผู้วินิจฉัย ผู้ป่วยคนไหนจะรอด คนไหนจะตาย คนจะตายก็ปล่อยให้ตายไป คนที่หมอวินิจฉัยว่าจะรอดจึงจะทำการรักษา แต่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าหมอบรัดเลย์ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2379 หมอบรัดเลย์ได้ไปพบเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) หารือเรื่องที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคไข้ทรพิษ ด้วยวิธีการใหม่ที่สยามยังไม่รู้จัก นั่นคือการปลูกฝี เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย และยังกล่าวกับหมอบรัดเลย์ว่า “เปนการบุญอย่างยิ่ง จะหาการบุญอย่างอื่นมาเปรียบเทียบได้โดยยาก” [15]
การปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ ถึงแม้สำหรับโลกตะวันตกจะมีมาแล้วตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดย เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นายแพทย์ชาวอังกฤษเป็นผู้คิดค้นและทดลองใช้มาตั้งแต่เมื่อ ค.ศ. 1796/พ.ศ. 2339 เป็นต้นมา [16] แต่สำหรับสยามการรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก ขณะเดียวกันการนำเข้าหนองเชื้อจากอเมริกาและยุโรปใช้เวลานาน ในชั้นแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2379 หมอบรัดเลย์ได้เริ่มทดลองการปลูกฝีด้วยวิธีเดียวกับที่เจนเนอร์เคยทดลองในอังกฤษ โดยการฉีดหนองเชื้อเข้าไปในท้องวัวก่อน แล้วเอาหนองเชื้อนั้นมาฉีดใส่แขนของเด็กประมาณ 15 คน เด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็คือบุตรธิดาของมิชชันนารีในกรุงเทพฯ เวลานั้น จากที่ได้มีการนำเอาเชื้อไปฉีดใส่ท้องวัวก่อนนี้จึงเป็นที่มาของคำเรียกที่ว่า “ปลูกฝีโค” ในเวลาต่อมา การทดลองใช้เวลากว่า 4 ปีจึงสำเร็จ และเริ่มใช้วิธีปลูกฝีนี้อย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2383
เหตุที่การทดลองใช้เวลากว่า 4 ปีนั้น หมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้ในอีกที่หนึ่งคือ “จดหมายเหตุหมอบรัดเล” ซึ่งเป็นงานเขียนแบบสมุดไดอารี่ เล่าถึงความยากลำบากในการปลูกฝี แม้จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพระยาพระคลัง แต่เพราะการที่จะฉีดเชื้อฝีดาษเข้าไปในร่างกายคนที่ไม่ได้เจ็บป่วยเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันโรคนั้น นับเป็นเรื่องแปลกพิสดารสำหรับคนที่ไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์แผนตะวันตก ย่อมไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว หมอบรัดเลย์ได้ใช้วิธีทดลองในหมู่ลูกของมิชชันนารีเอง จนเมื่อเห็นผลในหมู่เด็กที่ปลูกฝีแล้ว ชาวสยามจึงเชื่อและเข้ารับการปลูกฝี [17]
เมื่อข่าวความสำเร็จแพร่ไปถึงราชสำนักรัชกาลที่ 3 ก็โปรดให้หมอหลวงทั้งหมดมาหัดฉีดปลูกฝีกับมิชชันนารี จากนั้นก็ให้หมอเหล่านั้นไปปลูกฝีแก่คนทั้งหลายทั้งในวัง นอกวัง และขยายไปราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่หมอหลวงเท่านั้น หมอเชลยศักดิ์ (หมอชาวบ้านหรือหมอกลางบ้าน) ก็พากันมาขอฝึกหัดการปลูกฝีกับมิชชันนารีอยู่หลายเดือน เป็นเหตุให้ช่วยชีวิตเจ้านาย ขุนนาง และราษฎรไว้ได้เป็นอันมาก นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ยังได้แต่งตำราชื่อ ตำราปลูกฝีโคให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้ ออกเผยแพร่อีกด้วย
แม้จะเป็นความดีความชอบอย่างใหญ่หลวง ก็น่าสังเกตว่าราชสำนักตอบแทนเพียงมอบเงินให้ถุงหนึ่ง จำนวน 250 บาท (หรือ 145 ดอลลาร์อเมริกันสมัยนั้น) ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินจำนวนมากสำหรับสมัยนั้น แต่ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่หมอบรัดเลย์ต้องการ การปลูกฝีถูกแปรเปลี่ยนเป็นความดีความชอบของหมอหลวง เพราะหมอหลวงเป็นผู้ปลูกฝีแก่คนในราชสำนัก สมัยนั้นในหมู่ชนชั้นนำสยามยังไม่มีแนวคิดที่ให้คุณค่ากับการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แต่จะให้ความสำคัญแก่ผู้ที่นำไปปฏิบัติมากกว่า อีกทั้งการที่หมอบรัดเลย์มาจากสหรัฐอเมริกาแถมยังมีความสนิทสนมกับพระวชิรญาณภิกขุและเจ้าฟ้าจุฑามณี ก็น่าจะเป็นเหตุให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจแก่ราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 3 จึงไม่ได้รับการยกย่องดังที่ควร

บทสรุปและส่งท้าย : หมอบรัดเลย์กับอเมริกันในสังคมสยาม-ไทย
แม้ว่าสมัยรัชกาลที่ 3 โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษซึ่งจัดเป็น “โรคห่า” ประจำถิ่นของสยาม จะเกิดระบาดขึ้นมาในระดับรุนแรงเทียบเท่ากับที่เคยเป็นมาในสมัยอยุธยา แต่ทว่าการจัดการของรัฐกลับแตกต่างไปจากในอดีต ซึ่งมีผลทำให้โรคฝีดาษแทบจะสูญสิ้นไปจากสยาม ก็เพราะในสมัยนั้นมีการเข้ามาของมิชชันนารีอเมริกันอย่างหมอบรัดเลย์ที่ทุ่มเทกับการวิจัยทดลองปลูกฝี เป็นวิธีการแรกๆ ของการสร้างระบบภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่า “วัคซีน” (Vaccine) ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคและการจัดการของรัฐมีทางออก ไม่ต้องพึ่งพาความเชื่อทางศาสนาเหมือนอย่างในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงนำไปสู่การยกเลิกพระราชพิธีอาพาธพินาศไม่ได้ถูกนำมาใช้อีกเลย เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกให้ผลรักษาที่มีประสิทธิภาพขึ้นกว่าวิธีการในอดีต
จากที่การเข้ามาหมอบรัดเลย์ไม่อาจเพิ่มจำนวนคนเข้ารีตให้แก่นิกายโปรเตสแตนต์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหมอบรัดเลย์และคณะมิได้ประสบผลสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนา หากแต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสยามและมีส่วนร่วมในการแก้วิกฤติที่สำคัญของสยามอย่างการจัดการโรคระบาดไข้ทรพิษ ย่อมมีส่วนทำให้ “พระเจ้า” ได้สถิตอยู่ในความรับรู้ของชาวสยามสมัยนั้นไม่น้อย จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าหมอบรัดเลย์ไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนา เมื่อมองมากกว่าเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เข้ารีต
นอกจากนี้ดูเหมือนมิชชันนารีโปรเตสแตนต์อย่างหมอบรัดเลย์จะให้คุณค่าแก่วัตถุประสงค์การเข้ามาที่มีลักษณะทางโลกย์ค่อนข้างมากเทียบเท่ากับภารกิจทางศาสนา การนำเข้าเทคโนโลยีและวิทยาการแขนงต่างๆ จึงเป็นงานบุกเบิกที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเลขจำนวนผู้เข้ารีต อีกทั้งหมอบรัดเลย์ยังเข้าใจถึงบทบาทของตนเป็นอย่างดีในฐานะตัวแทนทางวัฒนธรรมที่จะทำให้ชาวสยามได้รู้จักกับชาวอเมริกันและประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งก่อตั้งไม่นานในสมัยนั้น (นับตั้งแต่ ค.ศ. 1776-1835 อันเป็นปีที่หมอบรัดเลย์เข้ามานั้น สหรัฐอเมริกาเพิ่งเป็นเอกราชมาได้เพียง 59 ปีเท่านั้น)
ดังนั้นนอกจากบทบาททางศาสนา การแพทย์และสาธารณสุข และการนำเข้าเทคโนโลยีแล้ว หมอบรัดเลย์และภรรยายังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสยามในชั้นแรกเริ่มอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- 3 โรคระบาดสำคัญของสยาม อหิวาต์, ไข้ทรพิษ, กาฬโรค ทำแสบกับเราอย่างไรบ้าง
- เส้นทางการ “ปลูกฝี” ป้องกันฝีดาษในอดีต ช่วยบรรเทาฝีดาษลิงในปัจจุบัน?
- ความหมายเบื้องหลังเรื่องเล่า “พระเจ้าอู่ทอง” ปราบ “นาค” ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา
เชิงอรรถ :
[12] มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม (The Kingdom of Siam). แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, (นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552), น. 129.
[13] กรมศิลปากร. “จดหมายเหตุโหร,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2542), น. 14, 15, 17.
[14] วิลเลียม แอล. บรัดเลย์. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. แปลโดย ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และ ศรีลักษณ์ สง่าเมือง. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), น. 149.
[15] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม หมอ ดี บี บรัดเล แต่ง นายป่วน อินทุวงศ เปรียญ แปลเปนภาษาไทย, น. 70.
[16] Robert P. Gaynes. Germ Theory : Medical Pioneers in Infectious Diseases. (Washington D.C. : ASM Press, 2009), Chapter 7.
[17] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 12 เรื่องจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศส โปรตุเกสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ แลจดหมายเหตุของหมอบรัดเล ในรัชชกาลที่ 4 ที่ 5, (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462), น. 36.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley, M.D.) : มิชชันนารีอเมริกันกับการจัดการโรคระบาด (ไขัทรพิษ) ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2565