เส้นทางการ “ปลูกฝี” ป้องกันฝีดาษในอดีต ช่วยบรรเทาฝีดาษลิงในปัจจุบัน?

เจ้าหน้าที่ บริการ ปลูกฝี ฝีดาษ แก่ ประชาชน
หน่วยบริการสาธารณสุข ออกให้บริการปลูกฝี และมีป้ายผ้าเขียนเชิญชวน “ขอให้ไปรับการปลูกฝีทุกคน”(ภาพจาก “ก้าวสู่ 1ศตวรรษงานป้องกันควบคุมโรค”)

เส้นทางการ “ปลูกฝี” ป้องกัน “ฝีดาษ” ในอดีต ช่วยบรรเทา “ฝีดาษลิง” ในปัจจุบัน?

การระบาดของโรคฝีดาษลิง ที่ขณะนี้ (พฤษภาคม 2565) พบผู้ติดเชื้อใน 17 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน นอร์เวย์ กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และออสเตรเลีย ทีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังเฝ้าระวังอยู่นั้น

ล่าสุด (24 พฤษภาคม 2565) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะกรรมการพนักงานปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ส่วนประชาชนที่เคยได้รับการ “ปลูกฝี” ป้องกันฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) ในอดีตไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่ช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้ 80 เปอร์เซ็นต์

แต่การ “ปลูกฝี” ในโลกยุติไปตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ทั้งนี้เพราะองค์การอนามัยโลกประกาศว่า “ไข้ทรพิษ” หมดไปจากโลก หากวันนี้เราจะมาย้อนดูเส้นทาง “วัคซีนไข้ทรพิษ” หรือที่เรียกันทั่วไปว่า “ปลูกฝี” กัน

พ.ศ. 2339 เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) เริ่มทดสอบ วัคซีนไข้ทรพิษ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม และศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะตีพิมพ์ผลการศึกษาทดลองในผู้รับวัคซีนออกสู่สาธารณะใน พ.ศ. 2341

พ.ศ. 2378 หมอบรัดเลย์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ/ปลูกฝีในประเทศไทย เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ให้แก่เด็ก 15 คน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

พ.ศ. 2384 หมอบรัดเลย์ได้ทำการศึกษาทดลองเรื่องการปลูกฝีจนประสบความสำเร็จ โดยได้ทำการปลูกฝีในเด็ก 75 คน ที่บ้านเจ้าพระยาพระคลัง โดยใช้พันธุ์หนองฝีวัวจากสหรัฐ ปรากฏว่า ปลูกขึ้นเพียง 3-4 ราย ต่อมาได้ทดลองต่ออีกราว 3 เดือน มีคนที่ปลูกฝีขึ้นราว 100 คน

พ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์ได้ทดลองผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นเป็นผลสำเร็จ แทนการสั่งจากต่างประเทศซึ่งต้องใช้เวลานาน โดยทดลองฉีดหนองจากผู้ป่วยไข้ทรพิษเข้าไปในวัวหลายตัว โดยได้รับพระราชทานวัวจากรัชกาลที่ 3 ในปีนี้บุตรสาววัย 7 เดือน ของหมอบรัดเลย์เสียชีวิตจากไข้ทรพิษ

พ.ศ. 2494 หมอบรัดเลย์ปลูกฝีโดยคิดค่าปลูกฝีคนละ 1 บาท หากฝีขึ้นดีจะคืนเงินให้ครึ่งหนึ่ง โดยนำรายได้ไปซื้อพันธุ์หนองฝีจากสหรัฐ

พ.ศ. 2388 ตำราชื่อ “ตำราปลูกฝีโคให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้” ที่หมอบรัดเลย์เขียนประสบการณ์เรื่องนี้ในไทย ช่วง พ.ศ. 2383-2387 หนังสือตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ

พ.ศ. 2444 รัฐบาลส่งคนไปดูงานการทำพันธุ์หนองฝีที่มะนิลา

พ.ศ. 2445 กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นใช้เอง มีหมออะดัมสัน (พระบำบัดสรรพโรค) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการที่สำนักงานที่สี่กั๊ก ถนนเจริญกรุง แต่ยังได้คุณภาพไม่ดีนักและปริมาณไม่เพียงพอ

พ.ศ. 2446 หมอมาโนส์ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการเรื่องนี้เข้ามารับราชการ ได้รับงานนี้ไปทำโดยไปทำที่เมืองนครปฐม เมื่อได้พันธุ์หนองฝีดาษคุณภาพดีพอๆ กับของจากต่างประเทศ และปริมาณมากพอด้วย

พ.ศ. 2504 กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้า 3 ปี (พ.ศ. 2504-2506) คนไทยอย่างน้อย 80% ต้องได้รับการปลูกฝี ภายหลังขยายเวลาไปเป็น 5 ปี (พ.ศ. 2504-2508)

พ.ศ. 2523 ยุติการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

“รมช.สธ. วอน ปชช.อย่าตระหนก ‘โรคฝีดาษลิง’ ยัน คัดกรองเข้มข้นคนจาก 17 ปท.”, มติชนออนไลน์, วันที่ 24 พฤษภาคม 2565

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร บรรณาธิการ. การสาธารณสุขไทย 2559-2560. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, พ.ศ. 2562

มณี สุขประเสริฐ เรียบเรียง, ก้าวสู่ 1ศตวรรษงานป้องกันควบคุมโรค, สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ธันวาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2565