โรคระบาดโบราณกับอิทธิพลต่อแฟชั่น จากชุดแพทย์ สู่อาการที่ทำให้ร่างกายตรงคติ “ความงาม”

[ซ้าย] ภาพวาดที่เรียกกันว่า Madame X โดย John Singer Sargent เป็นภาพของ Virginie Gautreau สาวปารีสที่ตกแต่งตัวเองให้ผิวขาวด้วยแป้งลาเวนเดอร์ [ขวา] ภาพวาด สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน วาดขึ้นในวาระฉลองชนะกองทัพเรือสเปน (ในฉากหลัง)

เมื่อกล่าวถึงการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก มาตรการและการปรับตัวต่างๆ ทำให้เกิดหลายสิ่งซึ่งคนยุคสมัยนี้ไม่เคยคิดคิดมาก่อน เมื่อลองย้อนไปในอดีต การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ “ความงาม” คือ รูปแบบการประดับตกแต่งร่างกาย ไปจนถึงการแต่งกาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการต่อกรกับ “โรคระบาด” ในอดีตด้วย

โรคฝีดาษและซิฟิลิส

เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษกำลังแพร่ระบาดในยุโรป ผลของ โรคระบาด ดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยบางรายมีรอยแผลเป็นบนใบหน้าได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยหลายรายจึงเลือกใช้วิธีทาใบหน้าด้วยผงสีขาว ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำส้มสายชูและตะกั่ว หรือเรียกกันว่า “Venetian Ceruse”

จุดเริ่มต้นของการทาหน้าซึ่งต่อมากลายเป็นแฟชั่นในอังกฤษนี้ เชื่อกันว่า เกิดขึ้นหลังจากที่ควีนเอลิซาเบธที่ 1 แห่งสหราชอาณาจักร ป่วยด้วยโรคฝีดาษใน ค.ศ. 1562 เมื่อพระองค์ทรงหายดีแล้ว ผิวที่เคยขาวเนียนของพระองค์ได้ปรากฏรอยแผลเป็น ฉะนั้นพระองค์จึงเลือกใช้วิธีนื้เพื่อปกปิดรอยแผลเป็นดังกล่าว นอกจากนี้หลายคนยังเชื่อว่า เป็นเพราะสารตะกั่วในนั้นเองที่เป็นพิษและเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตของพระองค์ในเวลาต่อมา

ไม่ใช่แค่ไข้ทรพิษอย่างเดียวที่ระบาดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) อย่างซิฟิลิส ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่แพร่ระบาดที่ยุโรปในช่วงเวลานั้นด้วย ซิฟิลิสยังส่งผลอย่างมากต่อแฟชั่นในเวลาต่อมา นั่นคือ การใส่วิกผม

เดิมทีการใส่วิกผม เชื่อกันว่าถูกใช้เพื่อปกปิดศีรษะล้านในอดีต ภายหลังจึงเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อครั้งโรคซิฟิลิสระบาดในยุโรป เนื่องจากโรคนี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดแผล ตาบอด รวมถึงยังทำให้ผมร่วงอีกด้วย

ดังนั้น วิกผมที่วิจิตรบรรจงซึ่งในตอนแรกเป็นที่รู้จักในชื่อ “peruke” จึงถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการปกปิดร่องรอยจากโรค

กาฬโรค

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของกาฬโรค นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสนามว่า Charles de Lorme ผู้มีชื่อเสียงจากการรักษาพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ได้ออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับแพทย์เมื่อ ค.ศ. 1619 ประกอบด้วย เสื้อโค้ทหนังที่เคลือบด้วยแว็กซ์ซึ่งยาวตั้งแต่คอไปถึงข้อเท้า และยังมีแว่นตากับหมวกซึ่งทำจากหนังเช่นกัน

ที่โดดเด่นที่สุด คือ หน้ากาก ที่มีลักษณะคล้ายจงอยปากนกยาวครึ่งฟุต ภายในบรรจุด้วยสมุนไพรหรือเครื่องเทศ เช่น อำพันสีเหลือง การบูร และกานพลู คนในสมันนั้นเชื่อกันว่ามันจะช่วยกรองอากาศที่เป็นพิษ ซึ่งเป็นเหตุแห่งการระบาดของเชื้อโรคตามแนวคิดของคนสมัยก่อน

เครื่องแบบนี้อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จนักในแง่ตอบสนองวัตถุประสงค์หลักด้านป้องกันโรค แต่กลับมีอิทธิพลในยุคหลังในแง่มุมทางวัฒนธรรม ชุดนี้ไปปรากฏในพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายจุด เช่นในเทศกาลรื่นเริง หรือเป็นต้นแบบในวิดีโอเกมย้อนยุค

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเทียบไม่ได้กับวัณโรคที่ระบาดไปทั่วอเมริกาเหนือและยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18

วัณโรคกับคติ “ความงาม”

อาการของวัณโรคทำให้มีไข้ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียง บางรายมีริมฝีปากแดง แก้มแดง ส่วนอาการเกล็ดเม็ดเลือดแดงต่ำและแคลเซียมในเลือดต่ำ เชื่อกันว่าส่งผลให้ผมดูเรียบลื่น อาการเบื่ออาหารรวมถึงท้องเสียเรื้อรังยังส่งผลต่อน้ำหนักที่ลดลงและทำให้ผิวซีดอีกด้วย ทั้งหมดนี้เข้าข่ายตอบสนองถึงคุณลักษณะ “ความงาม” ในยุคจอร์เจียน (Georgian: 1830-1837)

ศิลปินชาวรัสเซียนามว่า Marie Bashkirtseff เขียนไว้ในบันทึกขณะมีอาการป่วยด้วยโรคข้างต้นนี้ว่า “ฉันไอติดต่อกัน แต่นั่นห่างไกลกับสิ่งที่จะทำให้ฉันดูน่าเกลียดลงได้เลย…”

นอกจากนี้ ในจินตนาการของสาธารณชน ยังเชื่อมโยงภาวะของวัณโรคเข้ากับความอัจฉริยะทางศิลปะด้วย เนื่องจากอาการหนึ่งของวัณโรคที่เรียกว่า spes phthisica ถูกเชื่อมโยงว่าจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น สืบเนื่องมาจากผู้มีชื่อเสียงบางคนในขณะนั้น เช่น นักกวีอย่าง John Keats ได้สร้างผลงานชั้นยอดของเขาเองขึ้นมาในช่วงบั้นปลายก่อนที่จะเสียชีวิต

อาการของวัณโรค และความงดงามตามสมัยนิยมในขณะนั้นส่งผลให้สตรีผู้ทันสมัยเลือกใช้วิธีการเสริมความงามที่หลากหลายเพื่อเลียนแบบอาการป่วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นวิธีที่อันตรายต่อสุขภาพ เช่น การกินสารหนูเพื่อค่อยๆ ทำให้ผิวซีด (ที่จริงแล้วเป็นเพราะป่วย) ในระยะยาว สระ/ล้างผมด้วยแอมโมเนียเพื่อทำให้ผมนุ่มสลวย และสวมชุดรัดรูป (corset) เพื่อบีบรัดร่างกายให้ได้ส่วนโค้งตามสัดส่วนความงามในสมัยนั้น

วัณโรคเป็นโรคร้ายที่สร้างความทุกข์ทรมานซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ากับภาพลักษณ์ของเสน่ห์แห่งความสวยงามและความอัจฉริยะที่นำไปสู่วาระสุดท้ายอันน่าเศร้า อย่างไรก็ดี มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เต็มใจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพียงเพื่อความสวยงามเหล่านั้น จนท้ายที่สุด วัณโรคก็หลุดพ้นจากวงโคจรของกระแสแฟชั่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19

เมื่อผู้คนเรียนรู้ว่าเป็นโรคติดต่อได้ง่าย ทำให้ผู้คนมองโรคชนิดนี้เป็นโรคร้ายแรงไม่พึงประสงค์มากกว่ามุมมองเชิงโหยหาผลข้างเคียงจากอาการป่วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Dubey, Nimish. “Suits of Sickness: How pandemics afflicted fashion over the centuries”. The Indian Express. Online. Published 18 MAY 2020. Access 16 JUL 2021. <https://indianexpress.com/article/research/coronavirus-pandemics-fashion-history-6412540/>

Hawthorn, Ainsley. “From hard pants to consumptive chic: How pandemics influence fashion”. CBC. Published 22 NOV 2020. Access 16 JUL 2021. <https://www.cbc.ca/news/canada/newfoundland-labrador/apocalypse-then-pandemic-fashion-doomed-beauty-1.5808703>

Purtill, James. “How pandemics throughout history have shaped what we wear”. ABC. Published 13 JUL 2020. Access 16 JUL 2021. <https://www.abc.net.au/triplej/programs/hack/covid-19-coronavirus-how-pandemics-shaped-fashion/12444614>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564