บทบาท Wu Lien-teh และกำเนิด หน้ากากป้องกันโรคระบาด ยุคจีนเผชิญโรคระบาดแมนจูเรีย

บรรยากาศระหว่างโรคระบาดแมนจูเรีย ช่วง 1910-11 ภาพจากรายงานของ Dr. Richard Pearson Strong จัดเก็บที่ห้องสมุดเภสัช Francis A. Countway ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (สิทธิ์ใช้งานภาพแบบ CC BY 2.0)

ปัจจุบัน คงไม่มีใครไม่รู้จัก “หน้ากากอนามัย” (surgical mask) อีกแล้ว เพราะในเวลานี้ที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤต มันได้กลายเป็นสินค้าขาดตลาดไปแล้ว

ในอดีต การใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อเกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17

อย่างที่ทราบกัน ในเวลานั้นยุคแห่งกาฬโรค (Black death) กำลังระบาดไปทั่วยุโรป คนกลุ่มหนึ่งที่คอยทำหน้าที่ควบคุมจัดการโรคคือ “หมอโรคระบาด” (Plague doctor) ซึ่งเวลาที่พวกเขาไปทำงาน ก็จะใส่เครื่องแต่งกายที่ประกอบด้วย ผ้าคลุมยาวปกปิดทั้งตัวตั้งแต่หัวถึงเท้า ถุงมือ รองเท้าบูธ หมวกปีกกว้าง และอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหน้ากาก ที่มีรูปร่างคล้ายส่วนหัวของนก

Black Death โรคระบาดครั้งใหญ่ จากจีนถึงไทย สู่ตำนานพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา

ภาพวาดเครื่องแต่งกายหมอโรคระบาด สมัยศตวรรษที่ 17 (ภาพของ Paul Fürst สิทธิ์ใช้งาน public domain)

หน้ากากนี้จะมีจงอยคล้ายปากนกติดอยู่ด้านหน้าและมีซิปรูดเปิด-ปิดได้ด้วย ตรงบริเวณตาจะเป็นทรงกลม เจาะรู มีกระจกกั้นคล้ายแว่นตา แต่สามารถเปิด-ปิดได้ ภายในหน้ากาก โดยเฉพาะบริเวณจงอย หมอโรคระบาดจะใส่บรรดาดอกไม้และสมุนไพรเอาไว้เพื่อไม่ให้อายพิศม์ (miasma) หรือ “อากาศพิษ” ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการระบาดของโรคในเวลานั้น เข้าสู่ร่างกายได้ คล้ายกับที่เราใช้หน้ากากอนามัยเพื่อกรองอากาศเสียและฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ในปัจจุบันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นการใช้หน้ากากป้องกันโรคในวงจำกัดเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่การใช้โดยผู้คนจำนวนมากเริ่มปรากฏชัดในต้นศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับ “โรคระบาดแมนจูเรีย” (Manchurian Plague)

การระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1910 ในเมืองหลายแห่งที่เป็นเขตรอยต่อระหว่างประเทศจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากเมืองแมนโจวลี (Manzhouli) (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมองโกเลีย) แล้วก็ลามไปยังเมืองฮาร์บิน (Harbin) (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียง ประเทศจีน) และระบาดไปยังเมืองอื่น ๆ ที่ทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ (South Manchurian Railway) ตัดผ่าน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหมือนคนเป็นโรคปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย และที่น่ากลัวที่สุดคืออัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 100 % นั่นแปลว่า ใครก็ตามที่ติดเชื้อล้วนเสียชีวิตทั้งหมด การควบคุมโรคทำได้ยาก เพราะภูมิภาคแมนจูเรียนั้นเป็นพื้นที่สู้รบกันอยู่ระหว่างมหาอำนาจจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ประมาณการกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 60,000 คน

ในช่วงเวลานั้น ราชวงศ์ชิงที่ปกครองจีนอยู่ได้แต่งตั้งนายแพทย์หนุ่มเชื้อสายจีนมาเลย์คนหนึ่งให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดดังกล่าว เขาชื่อว่า Wu Liande (บางแห่งสะกดว่า Wu Lien-teh ชื่อเดิมคือ Ngoh Lean Tuck เมื่อเดินทางมาจีนเมื่อปี 1908 จึงเปลี่ยนชื่อ)

Dr. Wu Lien Te, Chinese Director of Anti-Plague Bureau, Fuchiatien 7385424
Dr. Wu Lien Te แพทย์เชื้อสายจีนมาเลย์ สิทธิ์ใช้งานภาพ CC BY 2.0 (https://creativecommons.org/licenses/by/2.0/)

(ด้านบนคือภาพ Dr. Wu Lien Te (จาก Flickr/ralph repo) สิทธิ์ใช้งานภาพแบบ CC BY 2.0 

นายแพทย์ Wu เกิดวันที่ 10 มีนาคม ปี 1879 ที่เมืองปีนัง ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นอาณานิคมหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษอยู่ ในปี 1896 เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม เขาก็สอบได้ทุนราชินี (Queen’s Scholarship) ของรัฐบาลอังกฤษไปเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนกระทั่งปี 1903 ก็เรียนจบกลับมาทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยทางการแพทย์ ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ โดยความสนใจหลักของเขาในเวลานั้นคือ ผู้ป่วยจากการขาดวิตามินบี 1 และโรคจากพยาธิตัวกลม เขาทำงานที่อยู่นั่นจนกระทั่งปี 1910 สำนักงานกิจการต่างประเทศ (the Foreign Office) ของรัฐบาลราชวงศ์ชิงก็เชิญตัวไปที่เมืองฮาร์บิน เพื่อดูการระบาดโรคที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนัก และท้ายสุดก็แต่งตั้งเขาให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้

เมื่อได้ศึกษาผู้ป่วยและการระบาดอยู่ช่วงหนึ่ง นายแพทย์ Wu ก็เสนอว่าการระบาดครั้งนี้เกิดจากการติดต่อระหว่างคนสู่คนผ่านฝอยละอองขนาดเล็ก (airborne transmission) จากการที่ผู้ป่วยไอหรือจาม คนในปัจจุบันอย่างเราอาจจะรู้สึกไม่ประหลาดใจกับข้อเสนอนี้ แต่ในเวลานั้นนับว่าเป็นเรื่องใหม่อย่างมากและเป็นการท้าทายทฤษฎีหลักในช่วงดังกล่าวที่เชื่อว่าการระบาดของโรคเกิดจากสัตว์พาหะ เช่น หนู หมัด เลยทีเดียว

ไม่เพียงแค่เสนอทฤษฎีใหม่ นายแพทย์ Wu ยังเสนอวิธีการป้องกันการระบาดแบบใหม่อีกด้วย นั่นคือ การใส่ “หน้ากากป้องกันโรคระบาด” (Anti-plaque mask) ที่เขาคิดค้นขึ้น ลักษณะของหน้ากากนั้นคล้ายกันมากกับหน้ากากอนามัยในปัจจุบัน กล่าวคือ เป็นผ้าฝ้ายรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 4 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว จำนวน 2 ชิ้น ซ้อนกัน คลุมส่วนจมูก ปาก ไปจนถึงคางของผู้ใส่ แล้วใช้ผ้าพันแผลหรือผ้ากอซ (gauze) ขนาดกว้าง 6 นิ้ว ยาว 3 ฟุต พาดลงบนผ้าฝ้ายแล้วพันรอบคอผู้สวม คล้ายกับสายคล้องหูของหน้ากากอนามัยในปัจจุบัน

หน้ากากป้องกันโรคระบาดนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ในหลายโอกาส ทั้งตรวจรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ในหมู่บ้าน และขณะเผาทำลายศพผู้ป่วย นอกจากนี้ นายแพทย์ Wu ยังให้ผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปที่เสี่ยงจะติดเชื้อใส่หน้ากากเช่นกัน

การผลิตและใส่หน้ากากป้องกันโรคระบาดของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยชาวจีนในช่วงเวลาที่โรคระบาดแมนจูเรีย เกิดขึ้นนั้น นับเป็นครั้งแรกของการใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการระบาดของโรคในวงกว้าง ในเวลาต่อมาเกือบศตวรรษ แพทย์ พยาบาล และผู้คนทั่วไปในจีน ยังคงใช้หน้ากากป้องกันโรคระบาดที่นายแพทย์ Wu คิดค้นเรื่อยมาตลอด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปบ้างแต่โดยพื้นฐานองค์ประกอบต่าง ๆ แล้วยังเหมือนเดิม จนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ “ซาร์ส” (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS) รัฐบาลจีนจึงได้ยกเลิกการใช้หน้ากากป้องกันโรคระบาดทั้งหมด แล้วเปลี่ยนมาใช้หน้ากากอนามัยแบบที่ใช้ในโลกตะวันตกแทน

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สมัยร.5 เคยกักคนจากจีน-ฮ่องกงบนเกาะร้าง 9 วัน! ป้องกันกาฬโรคระบาดเข้าสู่สยาม

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กาฬโรคระบาด สู่โอกาสให้ “ไอแซก นิวตัน” สร้างแคลคูลัส-เริ่มพัฒนากฎแรงโน้มถ่วง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กำเนิด “โรงพยาบาลโรคติดต่อ” เพื่อรับมือการระบาด ในสมัยรัชกาลที่ 5



เอกสารและเว็บไซต์อ้างอิง

Lynteris, C. (2018). Plague Masks: The Visual Emergence of Anti-Epidemic Personal Protection Equipment. Medical anthropology37(6), 442-457.

https://www.sixthtone.com/news/1005177/a-brief-history-of-face-masks-in-china

https://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/Nosocomial%20infection%20%E0%B8%AD%20%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%98%E0%B8%A3.pdf


หมายเหตุ: บทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ครั้งแรกในชื่อ กำเนิด “หน้ากากป้องกันโรคระบาด” ยุคราชสำนักจีนรับมือโรคระบาดแมนจูเรีย

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2563