สมัยร.5 เคยกักคนจากจีน-ฮ่องกงบนเกาะร้าง 9 วัน! ป้องกันกาฬโรคระบาดเข้าสู่สยาม

ภาพเกาะไผ่ (Xufanc From Wikimedia Commons, public domain) และภาพหมอฮันส์ อะดัมสัน (Hans Adamsen, ในภาพเล็ก)

โรคระบาดร้ายแรงในอดีตไม่ว่าจะเป็นอหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ กาฬโรค ได้ระบาดในประเทศไทยหลายครั้ง แต่ครั้งละคร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นนับพันคน นับตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ซึ่งการแพทย์และความรู้เรื่องเชื้อโรคเหล่านี้ยังไม่เจริญ การแพร่ระบาดของโรคจึงรุนแรงมาก ทว่าโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นโรคที่แพร่ระบาดมาจากดินแดนภายนอก

เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ความรู้เรื่องโรคระบาดมีเพิ่มมากขึ้น และตระหนักถึงการตรวจและกักกันโรคไม่ให้เข้าสู่สยาม ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2437 เกิดกาฬโรคระบาดตามเมืองท่าในจีนและฮ่องกง จากนั้นจึงแพร่ระบาดไปยังอินเดีย แอฟริกา รัสเซีย ยุโรป สิงคโปร์ รวมถึงสยามด้วย มาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงนั่นคือการตั้งด่านตรวจโรค

การตรวจโรคชาวจีน ไม่ทราบสถานที่ (ภาพจากFB หนุ่มรัตนะพันทิป ณล)

รัฐบาลตั้งด่านตรวจโรคที่ “เกาะไผ่” ปัจจุบันอยู่ห่างจากพัทยาราว 8 กิโลเมตร ละแวกเดียวกับเกาะล้าน ซึ่งเป็นเกาะร้าง ไม่มีบ้านเรือนหรือผู้คนอาศัยอยู่ โดยมีพระบำบัดสรรพโรค หรือหมอฮันส์ อะดัมสัน ที่คนไทยเรียกหมอลำสั้น เป็นนายแพทย์ประจำด่าน และได้ออกประกาศจัดการป้องกันกาฬโรคลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2441

ขั้นตอนคือบังคับให้เรือที่มาจากฮ่องกงมาจอดที่เกาะไผ่เป็นระยะเวลา 9 วัน จากนั้นจะตรวจโรคทุกคนที่เดินทางโดยสารมากับเรือ เมื่อไม่พบว่าเป็นกาฬโรคก็จะออกใบรับรองและอนุญาตให้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ได้ และบังคับให้เรือจากเมืองท่าจากจีนต้องจอดเพื่อตรวจโรคทุกคนบนเรือก่อน โดยที่กรณีหลังจะไม่มีการกักเรือไว้

ด่านตรวจโรคเกาะไผ่ดำเนินงานได้ 2 ปี ได้ย้ายมาตั้งที่ฝั่งตรงข้ามกับสถานกงศุลกากรสมุทรปราการ จากนั้นย้ายไปยัง “เกาะพระ” สัตหีบ ชลบุรี ปัจจุบันเป็นหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ เนื่องจากมีความสะดวกในการทำงานมากกว่า โดยจะตรวจเรือเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดเท่านั้น

อัญชนา ประศาสน์วิทย์ ข้าราชการบำนาญ กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ สำนักโรคติดต่อทั่วไป ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเกาะไผ่ ว่า “เกาะไผ่เป็นเกาะร้างเล็กๆ อยู่อ่าวที่อ่าวไทย ห่างออกไปจากฝั่งพอสมควร เราเลยกักเรือสินค้าไว้ตรงนั้นก่อน…เสร็จแล้วจะมีหน่วยจากฝั่งเข้าไปตรวจบนเรือ หมอลำสั้นและเจ้าหน้าที่ก็ไปตรวจว่ามีคนป่วยไหม มีหนูหรือเปล่า ความสะอาดเป็นยังไง ถ้ามีคนป่วยก็รักษาบนเรือถึงจะปล่อยเข้าเมือง…

ตอนนั้นไม่ได้กักทุกลำ สมัยนั้นมีกาฬโรคระบาดที่จีน เรือจีนเข้ามาก็กัก หรือเรือที่มาจากแหล่งโรคระบาด เกาะไผ่ใช่อยู่ 2 ปี ด้วยความที่อยู่ห่างจากฝั่งเยอะ ไม่ค่อยสะดวก เลยย้ายมาเกาะพระที่ใหญ่กว่า แล้วที่นั่นมีบ้านเรือนด้วย เป็นความสะดวกในการหาน้ำสะอาดมาใช้”

การเกิดขึ้นของด่านตรวจโรคเกาะไผ่จึงนับเป็นจุดกำเนิดของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศแห่งแรกของไทย ก่อนที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องไปตามแต่ละยุคสมัย

 


ข้อมูลจาก :

ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ. UNSEEN กรมควบคุมโรค‬…เส้นทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ. นิวธรรมดาการพิมพ์, 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2563