Black Death โรคระบาดครั้งใหญ่ จากจีนถึงไทย สู่ตำนานพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา

ภาพเขียน "The Plague at Ashdod" (โรคระบาดในเมืองแอชดอด) โดย Nicolas Poussin โยงโรคระบาดในพระคัมภีร์เก่า ให้สัมพันธ์กับ กาฬโรค มีหนูตัวเล็กๆ บนฐานเทวสถาน

โรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “Black Death” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ความตายสีดำ” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดกาฬโรคระบาดไปหลายภูมิภาค จนถึงแถบอุษาคเนย์ ซึ่งเนื่องมาจากการติดต่อค้าขายทางสำเภากับจีน พื้นที่และระยะเวลายังคาบเกี่ยวกับช่วงโรคระบาดก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา

ประมาณ ค.ศ. 1350 หรือราว พ.ศ. 1893 อันเป็นช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นห้วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่อีกคราในประวัติศาสตร์โลก ในยุคปัจจุบันยังกล่าวขานถึงเหตุการณ์นั้นว่า Black Death นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นน่าจะอยู่ที่หลักล้านราย โรคระบาดไม่เพียงนำมาซึ่งความสูญเสีย แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ตามมามีผลงานเชิงสร้างสรรค์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกึ่งตำนาน ดนตรี กวีนิพนธ์ และงานศิลปะเชิงจิตรกรรมต่างๆ

เป็นที่ทราบกันว่า การแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้มีหมัดหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยหมัดหนูติดกับตัวหนูที่อยู่ใต้ท้องสำเภาซึ่งเดินทางไปติดต่อค้าขายในดินแดนต่างๆ

ผู้ป่วยกาฬโรคจะมีอาการตามชื่อที่ถูกเรียกกันว่า “ความตายสีดำ” กล่าวคือ ตามร่างกายของผู้ป่วยจะมีสีดำคล้ำอันเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังที่ตายไป ส่วนอาการของผู้รับเชื้อกาฬโรคจะมีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มตรงต่อมน้ำเหลืองต่างๆ จากนั้นจะมีไข้สูง ปวดตามแขนและขา เมื่ออาการหนักจะเจ็บปวดทุกข์ทรมาน กระทั่งเสียชีวิต

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายไว้ว่า มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่าเกิดกาฬโรคระบาดในจีนเมื่อ พ.ศ. 1876 จากนั้นก็แพร่เข้าสู่แถบอุษาคเนย์ โดยมีตัวแพร่เชื้อคือหมัดหนูที่เกาะติดตัวหนูใต้ท้องสำเภา ท่าเรือที่มีเรือซึ่งมีหนูใต้ท้องสำเภาเทียบท่าขนถ่ายสินค้า หมัดหนูก็จะนำเชื้อแพร่ระบาดในเมืองนั้น ขณะที่การสืบค้นของศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ว่าด้วยเรื่องการระบาดของกาฬโรคในตะวันออก ชี้ว่า ก่อนหน้านั้น คือ พ.ศ. 1874 มีกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน แม้ไม่มีบันทึกจำนวนผู้ประสบภัย แต่บันทึกจากผู้รอดชีวิตระบุไว้ว่า เขตพื้นที่ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 9 ใน 10 ส่วน

หลักฐานบางส่วนบ่งชี้ว่า เชื้ออาจระบาดไปตามเส้นทางสายไหมผ่านกองทัพมองโกล หรือพ่อค้า หรืออาจติดมากับการค้าขายทางเรือดังที่กล่าวข้างต้น สัญญาณการแพร่ระบาดของโรคร้ายน่าจะเริ่มต้นขึ้นภายหลังช่วงเกิดภัยธรรมชาติและภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจช่วง ค.ศ. 1331 หลังจากนั้นจึงเริ่มช่วงแพร่ระบาดอย่างรุนแรง กระทั่งในช่วงปลายปี ค.ศ. 1346 มีรายงานว่า การแพร่ระบาดกระจายไปถึงท่าเรือในยุโรป

สำหรับต้นตอของการแพร่ระบาด มีข้อสันนิษฐานโดยเชื่อกันว่า น่าจะเริ่มต้นจากเอเชียตอนกลาง หรือเอเชียตะวันออก นักวิชาการบางรายชี้จุดว่า อาจเริ่มต้นมาจากจีน แต่ที่พอจะบ่งชี้ชัดเจนแบบมีน้ำหนักกว่าคือ ข้อมูลด้านเส้นทางการแพร่ระบาด ดร. Mike Ibeji นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทหารโรมัน บ่งชี้ว่า หลังช่วงกลางศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา การเจริญเติบโตทางการค้าในยุโรปนำมาสู่เส้นทางการค้าผ่านที่ราบ และเส้นทางการค้าที่เริ่มต้นขึ้นก็เปรียบเสมือนการเปิดทางเอื้อเฟื้อต่อการแพร่ระบาดในบริเวณนั้น ดร. Mike เชื่อว่า กลุ่มผู้ป่วยชุดแรกที่ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดคือชุมชนคริสเตียนเนสตอเรียน ทางตอนใต้ของทะเลสาบบัลคาช (Balkash) ต่อมาในปีค.ศ. 1343 การแพร่ระบาดกระจายมาถึงไครเมีย

หลักฐานการแพร่ระบาดชิ้นอื่น อาทิ เรื่องเล่าชุด Decameron โดยโจวานนี บอกกาจจิโอ (Giovanni Boccaccio) นักประพันธ์ชาวอิตาเลียน บอกเล่าถึงการแพร่ระบาดมาถึงฟลอเรนซ์ ในค.ศ. 1348 เล่าถึงความยากลำบากห้วงเชื้อโรคเล่นงานเมือง และผู้คนล้มตายจำนวนมาก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : Decameron วรรณคดีอิตาลี หนุ่มสาวปลีกหนีกาฬโรคระบาด ผลัดกันเล่านิทานผสมลามก-สังวาส

ผลงานตัวอย่างอีกชิ้นคือ บทกวีของกีโญม เดอ มาโชต์ (Guillaume de Machaut) นักกวีและนักแต่งเพลงที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1300-1377 (พ.ศ. 1843-1920) เขียนบทกวีชื่อ Judgement du Roy de Navarre ในช่วงระหว่างกาฬโรคระบาด บอกเล่าชะตากรรมผู้คนในยุคนั้นด้วย

สำหรับในย่านอุษาคเนย์ ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า พ.ศ. 1893 อันเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานบันทึกในภายหลังซึ่งเล่าย้อนกลับไปว่า พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ซึ่งคนทั่วไปรู้จักจากนิทานท้องถิ่นในนาม “พระเจ้าอู่ทอง” สุจิตต์ วงษ์เทศ วิเคราะห์ว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ในนิทาน ว่าครองเมืองอู่ทอง (เมืองอู่ทองเมื่อช่วงพ.ศ. 2553 มีสภาพเป็นเมืองร้าง อยู่บนลำน้ำจรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีร่องรอยคูน้ำคันดิน มีซากสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีและสมัยหลังจากนั้น)

เอกสารโบราณหลายฉบับให้ข้อมูลคล้ายกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 หรือค.ศ. 1350 อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการระบาดของโรคร้ายในยุโรป จึงทำให้นักวิชาการเชื่อกันว่า “โรคห่า” ที่พระเจ้าอู่ทองปราบลงตามตำนานนั้น คงจะเป็นโรคเดียวกับที่คร่าชีวิตคนยุโรปจำนวนมหาศาล

คลิกอ่านเพิ่มเติม นัยยะเบื้องหลังเรื่องเล่า “พระเจ้าอู่ทอง” ปราบ “นาค” ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา

งานเขียนที่อ้างอิงบทสารคดีโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุว่า ช่วงที่เกิดโรคระบาด บริเวณประเทศไทยทุกวันนี้มีผู้คนล้มตาย และมีคำบอกเล่าในรูปแบบนิทานท้องถิ่นต่างๆ เช่น พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่าไปสร้างอยุธยา ซึ่ง “โรคห่า” ที่ว่านี้ นักวิชาการส่วนหนึ่งชี้ว่าไม่ได้หมายถึงอหิวาตกโรคแบบเฉพาะเจาะจง แต่ความหมายดั้งเดิมนั้นสื่อถึง “โรคระบาด” สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนบทความชี้ชัดเลยว่า โรคห่าระบาดในช่วงเวลานี้คือ “กาฬโรค” พร้อมอธิบายต่อด้วยว่า กรุงศรีอยุธยาช่วงกาฬโรคระบาด มีศูนย์กลางอยู่บริเวณวัดพนัญเชิง และวัดใหญ่ชัยมงคล ช่วงเวลานั้นมีชนชั้นสูงเป็นขอมในกรุงศรีอยุธยา

ขณะที่พวกเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการ และคนทั่วไป มีหลายเชื้อชาติผสมกลมกลืน พวกที่รอดชีวิตจากกาฬโรคก็สร้างเมืองใหม่ขึ้น เมื่อโรคระบาดคลี่คลาย ค.ศ. 1350 หรือพ.ศ. 1893 จึงสถาปนานามเมืองใหม่ว่ากรุงศรีอยุธยา พวกขุนนางไทย-ลาวที่รอดก็เติบโตขึ้นเป็นใหญ่แทนพวกขอมส่วนหนึ่งที่ล้มตายไป สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายพัฒนาการต่อมาว่า

“…แล้วกระชับเครือญาติตระกูลไทย-ลาวที่อยู่บ้านเมืองต่างๆ เข้าด้วยกันดังมีร่องรอยในพระราชพงศาวดารว่ากษัตริย์อยุธยาแต่งงานกับธิดากษัตริย์สุพรรณ … คนตระกูลไทย-ลาวเคลื่อนย้ายจากสองฝั่งโขง ทยอยลงมาตั้งหลักบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1500 ทำให้ภาษาตระกูลไทย-ลาว กลายเป็นภาษากลางทางการค้าภูมิภาคตอนบน

ส่วนภาษาเขมรยกย่องเป็นภาษาของกษัตริย์ ใช้พูดจาในราชสำนัก ต่อมาเรียกว่า ราชาศัพท์…”

สุจิตต์ อธิบายต่อว่า อิทธิพลของการใช้ภาษาไทย-ลาวเป็นภาษากลาง ทำให้ต้องมีตัวอักษรมาใช้งาน เมื่อมีอักษรแล้ว ชนชั้นนำจึงใช้เผยแพร่ศาสนา พุทธศาสนานิกายเถรวาทผ่านพระสงฆ์ สู่บ้านเมืองแคว้นต่างๆ จากตอนบนถึงรัฐสุโขทัย ล้านนา ตอนล่างถึงรัฐเพชรบุรี และนครศรีธรรมราช

ท้ายที่สุดแล้ว ส่งผลให้รวมรัฐเหล่านั้นเป็นราชอาณาจักรที่ต่างชาติเรียกกันว่า “ราชอาณาจักรสยาม” โดยมีศูนย์กลางอยู่กรุงศรีอยุธยา


อ้างอิง:

“BLACK DEATH โรคห่า กาฬโรค และ Decameron ยุค พระเจ้าอู่ทอง”. มติชนประชาชื่น. มติชน. ฉบับ 8 กรกฎาคม 2553.

“BLACK DEATH โรคห่า กาฬโรคยุคพระเจ้าอู่ทอง ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ ได้ ‘ราชอาณาจักรสยาม'”. มติชนประชาชื่น. มติชน. ฉบับ 1 กรกฎาคม 2553.

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “กาฬโรค” สัญลักษณ์ และตำนาน. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์. ฉบับ 5 กรกฎาคม 2553.

อติภพ ภัทรเดชไพศาล. “กีโญม เดอ มาโชต์” กับ Black Death ความเปลี่ยนแปลงในสยามประเทศ ช่วงสถาปนากรุงศรีอยุธยา. สยามรัฐ. 7 พฤษภาคม 2553

Mike Ibeji. Dr. Black Death: The Disease. BBC. Online. Updated 17 FEB 2019. Access 28 JAN 2020. <https://www.bbc.co.uk/history/british/middle_ages/blackdisease_01.shtml>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2563