Decameron วรรณคดีอิตาลี หนุ่มสาวปลีกหนีกาฬโรคระบาด ผลัดกันเล่านิทานผสมลามก-สังวาส

ภาพวาด โจวานนี บอคคัจจิโอ (Giovanni Boccaccio) นักประพันธ์อิตาเลียน จาก Sumner, Charles (1875) ฉากหลังคือภาพเขียน "The Plague at Ashdod" (โรคระบาดในเมืองแอชดอด) โดย Nicolas Poussin โยงโรคระบาดในพระคัมภีร์เก่า ให้สัมพันธ์กับ กาฬโรค มีหนูตัวเล็กๆ บนฐานเทวสถาน

โรคระบาดครั้งที่หนักหนาสาหัสอีกหนของโลกในเหตุการณ์กาฬโรคระบาด มีผู้คนล้มตายกลาดเกลื่อน ปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Black Death สภาพความเป็นอยู่ที่แสนยากลำบากเวลานั้นสามารถพบเห็นจากผลงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นบันทึก งานศิลปะ และงานเขียนเชิงวรรณคดี ตัวอย่างหนึ่งคือเรื่อง “เดอคาเมรอน” (Decameron)

ผลงานชิ้นนี้เขียนโดยโจวานนี บอคคัจจิโอ (Giovanni Boccaccio) อันเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับนิทานร้อยเรื่องที่เล่าสู่กันฟังในช่วงเวลาสิบวัน (ใช้เวลาเล่าสิบวันในช่วง 2 สัปดาห์) ที่หนุ่มสาวสิบรายปลีกตัวหนีโรคระบาดจากเขตเมือง (ฟลอเรนซ์) และเนื้อหาบางส่วนมีเล่าเรื่องลามกและเชิงสังวาสปะปนอยู่

โจวานนี บอคคัจจิโอ เป็นนักประพันธ์ชาวอิตาเลียน (1313-1375) เขามีชีวิตในสมัยเดียวกับมหากวีอิตาเลียนอย่าง เปต์ราค (Petrach) และดันเต (Dante) บอคคัจจิโอ เป็นผู้เขียนผลงานเรื่องเล่าชุด Decameron เนื้อหากล่าวถึงยุคกาฬโรคระบาดในเมืองฟลอเรนซ์ ราวค.ศ. 1348 อันเป็นช่วงแห่งกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุโรประหว่าง ค.ศ. 1347-1350 (พ.ศ. 1890-1893) ผู้คนล้มตายจำนวนมาก เนื้อหาในเรื่องเล่าที่ปรากฏใน Decameron ถูกบรรยายว่า มาจากการเล่าสู่กันฟังโดยหนุ่มสาว (เป็นเด็กหนุ่ม 3 ราย และหญิงสาว 7 ราย) กลุ่มนี้เป็น “ผู้ลากมากดี” ซึ่งพากันหลบหนีโรคระบาดจากเมืองฟลอเรนซ์ กิจกรรมที่พวกเขาทำแต่ละวันนั้นรวมถึงผลัดกันเล่าเรื่อง

เรื่องราวใน Decameron เคยถูกแปลเป็นภาษาไทยชื่อ “บรรเทองทศวาร” (บันเทิงทศวาร) เอกสารจาก “ประชาชื่น” ระบุว่าโดย พระยาอนุมานราชธน*

*Update : เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมตามคำทักท้วงแล้วพบว่า ผู้แปลเป็นไทยคือ หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) อีกท่านคือ “ยาขอบ” ผู้รู้เกี่ยวกับหนังสือเก่าเล่าเพิ่มเติมว่า ทั้งสองท่านล้วนแปลไม่จบ

คอลัมน์ “สิงห์สนามหลวงสนทนา” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2553 เล่าว่า เรื่องนี้ถูกแปลในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 แต่แปลไม่จบ พร้อมอธิบายว่า “อาจกล่าวได้ว่า เดอคาเมรอน เป็นต้นแบบงานเขียน ‘ร้อยแก้วแนวใหม่’ ที่ยุคแรกๆ ได้พัฒนาให้เกิดคำว่า ‘เรื่องสั้น’ และ ‘นวนิยาย’ ของยุโรปในเวลาต่อมา”

เนื้อหาในบันเทิงทศวาร ฉบับแปลเป็นไทยจากหนังสือ Decameron ส่วนหนึ่งที่เล่าเกี่ยวกับสภาพสถานการณ์มีใจความว่า (คัดตอนจาก กถามุข ปรับย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวกขึ้น)

“เมื่อปีคริสต์ศักราช 1348. ในกรุงฟ์ลอแรนศ์ เมืองสวยงามที่หนึ่งในประเทศอิตาลีได้อุบัติกาฬโรคร้ายแรงน่าสะพรึงกลัว จะเป็นด้วยพลานุภาพของทุรนักษัตรทั้งหลายบันดาลให้เป็นไป หรือพระเจ้าลงโทษแก่มนุษย์สัตตบาปโดยตรงก็ว่าไม่ได้, เกิดขึ้นในจังหวัดแลวันทหลายปีก่อนหน้านั้นมาแล้ว ค่อย ๆ แพร่หลายไปทีละตําบลสองตำบล ขนเอาชีวิตคนชีวิตสัตว์ไปเสียเหลือที่จะคณนา แล้วก็ลามปามมาถึงจังหวัตตะวันตก

ในจังหวัดนั้นถึงแม้ว่ามนุษย์ได้ใช้อุปเทศเลศอุบายป้องกันล่วงหน้าไว้แล้ว เช่น รักษาความสะอาดของบ้านช่องไม่ให้มีสิ่งโสโครก เชื้อแห่งโรค คือตัวจุลินทรีย์, จัดการย้ายที่โยกตําบลคนทั้งหลายที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรค, ออกประกาศแนะนําวิธีกันป่วยช่วยรักษาความสําราญไว้, ถึงกับได้มีการแห่แหนบนบานศาลกล่าวพระเจ้าให้ช่วย, ยักเยื้องใช้อุปเท่ห์ทุกเยี่ยงอย่างแล้วก็ดี; โรคระบาดนั้นยังมาแสดงอรูปินทรีย์ของมันประจักษ์แจ้งในร่างมนุษย์, กล่าวคือ มันมาผุดขึ้นในฤดูวรรษาแห่งปีนั้น เล่นเอามนุษย์พรั่นเศร้าใจไปตามกัน

ผิดกับที่เป็นในภาคบูรพา ในภาคนั้นอาการร้ายของโรคถ้าให้มีโลหิตไหลทางจมูกเป็นหมายรู้ว่ามาเอาชีวิตคนใดคนนั้นไม่มีรอด; ในภาคตะวันตก อาการของมันให้เกิดบวมนูนเป็นไตในสองช่องรักแร้, บ้างมีขนาดเท่าผลสาลี่, บ้างเท่าฟองไข่. เมื่อบวมแล้วมีเม็ดกาฬสีม่วงผุดตามเนื้อตามตัวทั่วไป, บางคราวเม็ดใหญ่ แต่จํานวนน้อยกว่าเม็ดเล็ก, บางครั้งเม็ดเล็กตื่นตาตเต็มตัว น่าสังเวช. ทั้งสองชนิดนี้เป็นมารคุเทศก์ก็นําคนไปสู่มรณะ…”

Black Death โรคระบาดครั้งใหญ่ จากจีนถึงไทย สู่ตำนานพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา

ขณะที่ตัวเนื้อเรื่องแรกเริ่มของวรรณคดีเริ่มเล่าจากการเดินทางของหนุ่มสาว 10 คน (ชาย 3 หญิง 7) ซึ่งหลีกหนีวิถีชีวิตแบบคนร่ำรวย มีบทสนทนาตกลงกันระหว่างกลุ่มว่า สมาชิกในกลุ่มจะผลัดกันขึ้นมาเป็นกษัตริย์หรือพระราชินีเหนือสมาชิกอื่น และเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้เวลาแต่ละวันทำกิจกรรมอะไรบ้าง กำหนดทิศทางการเดินเล่น หัวข้อบทสนทนา การเต้นรำ ร้องเพลง และที่สำคัญคือธีมของการเล่าเรื่อง

ช่วงเย็นของแต่ละวัน สมาชิกจะเล่าเรื่องของตัวเองในแต่ละคืน ยกเว้นวันหนึ่งในแต่ละสัปดาห์ที่เป็นวันทำงาน และวันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสมาชิกจะไม่ทำงาน ทำให้ปรากฏเรื่องเล่าตลอด 10 คืนในช่วง 2 สัปดาห์ รวมแล้วมีทั้งหมด 100 เรื่อง

ทรงยศ แววหงษ์ อธิบายว่า “เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องของคน-ผู้ชาย และผู้หญิงในอาชีพต่างๆ จึงเต็มไปด้วยเรื่องเชิงสังวาส หลายเรื่องชวนหัว (คนสวนเป็นผู้ชายปลอมเป็นบ้าหลอกมีเพศสัมพันธ์กับแม่ชี ตั้งแต่แม่ชีอธิการ จนหมดทั้งสำนัก) และชวนให้คิดไปต่างๆ

แต่หลายคนว่าเป็นหนังสือ ‘ลามกจกเปรต’

สำหรับธีมของเรื่องเล่าแต่ละวันมีหลากหลายออกไป เริ่มวันแรกคุยกันว่าด้วยการสนทนาเกี่ยวกับความชั่วร้ายของมนุษย์โดยใช้คำพูดแบบคนมีสติปัญญาหลักแหลม วันที่ 2 เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับโชคชะตาที่เล่นงานมนุษย์แต่ก็ต้องหลีกทางให้กับความอุตสาหะของมนุษย์ในธีมวันที่ 3

วันที่ 4 เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรัก ตามมาด้วยความรักอันจบแบบแฮปปี้ในวันที่ 5 พอมาวันที่ 6 กลับมาที่เรื่องราวดูสนุกสนานสำราญใจและเปี่ยมไปด้วยโทนแบบเฉลียวฉลาด

กระทั่งวันที่ 7 จนถึงวันที่ 9 เรื่องราวเริ่มดาร์กขึ้น เล่าเรื่องเต็มเปี่ยมด้วยเล่ห์กล การหลอกลวง และมีเรื่องลามกกันแล้ว และวันที่ 10 วันสุดท้ายเป็นเรื่องที่ดูโลกสวยเป็นส่วนใหญ่ เต็มไปด้วยเรื่องการกระทำอันดี และบุคคลต้นแบบ

นิทานที่ปรากฏในเรื่องโดยรวมแล้วบอคคัจจิโอ ชาวอิตาเลียนหยิบนิทานที่ตัวละครบอกเล่าในแต่ละวันโดยดัดแปลงหรือหยิบยกมาจากคติชาวบ้านและตำนานนิทานปรัมปรา บางตัวละครในนิทานก็อ้างอิงมาจากตำนานที่เชื่อมโยงกับบุคคลที่เชื่อกันว่ามีตัวตนจริงบ้าง ร้อยแก้วของเขายังส่งอิทธิพลต่อนักเขียนยุคเรเนซองส์อีกหลายราย

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนมองว่าผลงานของบอคคัจจิโอ เป็นเรื่องหยาบคายและเต็มไปด้วยน้ำเสียงเชิงเสียดสีถากถาง แต่ฐานของโครงเรื่องโดยรวมแล้ว ผู้เขียนยังคงรักษาแก่นเชิงศีลธรรมแทรกไว้แม้แต่ในเรื่องเล่าแบบบริบทที่ดูไร้ศีลธรรมตัณหาจัดก็ตาม


อ้างอิง:

“Black Death โรคห่า กาฬโรค และ Decameron ยุคพระเจ้าอู่ทอง”. ประชาชื่น. ใน มติชน. ฉบับ 8 กรกฎาคม 2553.

“Black Death โรคห่ากาฬโรคยุคพระเจ้าอู่ทอง ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ ได้ ‘ราชอาณาจักรสยาม'”. ประชาชื่น. ใน มติชน. ฉบับ 1 กรกฎาคม 2553.

Bosco, Umberto . WGiovanni Boccaccio-The Decameron”. Encyclopaedia Britannica. Access 24 MAR 2020. <https://www.britannica.com/topic/Decameron>

Decameron. Encyclopaedia Britannica. Access 24 MAR 2020. <https://www.britannica.com/topic/Decameron>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2563