“พิบูลย์เวศม์” หมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกของไทย ที่ตั้งตามชื่อ “จอมพล ป.” 

บ้าน หมู่บ้านจัดสรร
หมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกของไทย (ซ้าย) หมู่บ้านพิบูลย์เวศม์ โดยรัฐ (ขวา) หมู่บ้านมิตรภาพ โดยเอกชน (ภาพจาก การเคหะแห่งชาติ)

โครงการ “หมู่บ้านจัดสรร” แห่งแรกของไทย ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2498 และยังเป็นโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบอาคารสงเคราะห์เป็นแห่งแรกอีกด้วย โดยมีธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อรองรับการอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองหลวงที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2493

หมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกนี้ชื่อว่า “โครงการพิบูลย์เวศม์” ตั้งตามชื่อของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โครงการตั้งอยู่ท้องที่พระโขนง คลองตัน (สุขุมวิท 71) บนพื้นที่ 80 ไร่ ลักษณะบ้านเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวที่ปลูกสร้างจากไม้ ใต้ถุนโล่ง แต่ละหลังมีพื้นที่ประมาณ 114 ตารางวา มีจำนวนทั้งหมด 258 หลัง

ปี 2499 เกิดโครงการต่อเนื่อง คือ “โครงการพิบูลวัฒนา” เป็นบ้านเดี่ยวที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง มีจำนวน 288 หลัง โดยมีที่ดินเฉลี่ยหลังละ 130 ตารางวา โครงการตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 25 ไร่ ถนนพระราม 6 สามเสน

ปี 2509 เอกชนเริ่มมีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น และเกิด หมู่บ้านจัดสรร เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทยคือ “หมู่บ้านมิตรภาพ” เป็นบ้านเดี่ยวประมาณ 800 หลัง ดำเนินการโดยบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำหรับผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตนเอง ด้วยการขอกู้เงินเพื่อเช่าซื้อบ้านของโครงการ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนชำระคืนระยะยาว

เมื่อธุรกิจดำเนินไปด้วยดี เอกชนผู้ประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร เริ่มแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีราคาถูกกว่า ประหยัดกว่า “บ้านเดี่ยว” นั่นก็คือ “ทาวน์เฮ้าส์” ออกสู่ท้องตลาด

ระหว่างปี 2510-2518  ช่วงแรกๆ ยังไม่มีผู้ดำเนินการหมู่บ้านจัดสรรรายใหญ่ ส่วนมากเป็นรายเล็กๆ หากมีโครงการหนึ่งที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายก็คือ “หมู่บ้านเปรมฤทัย” ของอาจารย์สุนทร เปรมฤทัย (เจ้าของโรงเรียนช่างก่อสร้างเปรมฤทัย หรือโรงเรียนเทคโนโลยีเปรมฤทัยในปัจจุบัน)

ปี 2518-2522 เกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ที่เป็นการขายที่อยู่อาศัย, ที่ดิน และระบบสาธารณูปโภครวมอยู่ด้วยกัน เช่น หมู่บ้านเสรี, หมู่บ้านเมืองทอง, หมู่บ้าน ช. อมรพันธ์ ซึ่งหมู่บ้านจัดสรรส่วนมากจะเน้นผู้มีรายได้ปานกลาง มักทำเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีกว่า 100 หลังคาเรือน ยึดทำเลแถบชานเมืองย่านหัวหมาก ได้แก่ หมู่บ้านปัฏฐวิกรณ์, หมู่บ้านสวนสน, หมู่บ้านรามอินทรา, หมู่บ้านเสรี ฯลฯ หรือทางทิศเหนือของแถบแถบพหลโยธินก็จะเป็น หมู่บ้านเมืองทอง, หมู่บ้านชลนิเวศน์, หมู่บ้าน ช. อมรพันธ์ ฯลฯ

ช่วงปี 2520 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มซบเซา อันเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ถึงปี 2522 และ 2523 ยังมีปัญหาน้ำมันแพงในสมัยรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซ้ำเติม ธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรของเอกชนจึงซบเซา หลายโครงการจึงปรับตัวไปเจาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง เช่น หมู่บ้านปัญญา หัวหมาก ขณะที่หมู่บ้านสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางก็ลดขนาดที่ดินของของบ้านเดี่ยวเป็น 50 ตารางวา

ปี 2525 โครงการ “หมู่บ้านเสนานิเวศน์” เสนอจุดขายใหม่ ด้วยการริเริ่ม “พื้นที่ส่วนกลาง” เช่น สระว่ายน้ำ, สโมสร, สนามเด็กเล็ก ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และสามารถเข้ามาดูบ้านตัวอย่างก่อนเข้าอยู่จริงที่โครงการ และมีการติดต่อตามผลจากทางโครงการ (Direct sale) ถือเป็น “ต้นแบบ” ธุรกิจบ้านจัดสรรจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

พิพิธภัณฑ์เสมือนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย, เว็บไซต์การเคหะแห่งชาติ  (www.housingvm.nha.co.th) สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2566  

นิพนธ์ พัวพงศกร, ณรงค์ ชวนใช้. ที่อยู่อาศัย เอกสารโครงการแผนแม่บทกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2540-2549 ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, มีนาคม 2542.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2566