“ตึกแถว” ในเมืองนอก-ในเมืองไทย มีที่มาจากไหน?

ตึกแถวริมถนนเจริญกรุง ตึกแถวยุคแรกๆ ของไทย

“ตึกแถว” หรือเรียกให้ดูแพงว่า “อาคารพาณิชย์” ส่วนใหญ่เป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นที่พักอาศัยหรือบ้าน และเป็นที่ทำงานประกอบอาชีพตั้งแต่เป็น ร้านอาหาร, ร้านค้า, สำนักงาน ฯลฯ และตึกแถวหลายแห่งมีการใช้งานในแบบที่คาดไม่ถึง คือเป็นโรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงกลึง, โรงเหล็ก, โรงพิมพ์, โรงไม้ ฯลฯ

นั่นคือภาพตึกแถวที่เห็นในวันนี้ แล้ว “ตึกแถว” มีมาตั้งแต่เมื่อใด มาจากไหน

Advertisement

ตึกแถวในต่างประเทศ

รูปแบบอาคารประเภท “ตึกแถว” มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายพันปี ในสมัยกรีก มีอาคารหรือเรือนแถวยาวริมทางเดิน ความสูง 1-2 ชั้น ภายในมีผนังกั้นเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ติดกันหลายห้อง เรียกว่า สโตอา (Stoa) ที่ใช้เป็นห้องเรียน, ร้านค้า ฯลฯ มีปรากฏอยู่ในหลายเมือง

สมัยโรมัน มีตึกแถวสร้างติดกันเป็นแถวยาวตลอดสองฝั่งถนน ผนังอาคารก่ออิฐฉาบปูน มีความสูง 1-4 ชั้น ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ไม่มีหน้าต่าง เรียกว่า Artrium House มักอยู่ในย่านของผู้มีรายได้น้อย อาคารลักษณะที่ก่อสร้างกันอยู่อย่างหนาแน่น

ถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุโรป รูปแบบของตึกแถวได้พัฒนาให้ดูดี หรู และกว้างขวางขึ้น โดยใช้เป็นอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว

ศตวรรษที่ 17-18 ประชาชนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเป็นจำนวนมาก ที่พักที่เคยเป็น “บ้านหลังเดี่ยว” ก็เปลี่ยนไปเป็น “ตึกแถว” ความสูง 2-3 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมหันหลังชนกันเรียงเป็นแถวยาว เพื่อให้เพียงพอที่จะรองรับจำนวนคนที่อพยพเข้ามา และไม่นานตึกแถวในยุโรปก็กลายเป็นต้นแบบอาคารประเภทหนึ่งที่แผ่ขยายไปสู่ประเทศอาณานิคมในทวีปต่างๆ

ตึกแถวในไทย

แม้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าตึกแถวเข้ามาในเมืองไทยเมื่อใด แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นภาพวาดของจิตรกรชาวฮอลันดา และบันทึกของช่างฝรั่งที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2198) ว่ามีอาคารยาวเป็นแถวขนานสองข้างถนนในบริเวณใจกลางเกาะเมืองอยุธยา สร้างด้วยอิฐและหิน เป็นอาคาร 2 ชั้น ส่วนใหญ่เป็นที่พักของแขกมัวร์และชาวจีน

ส่วนตึกแถวที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นพัฒนาการของตึกแถวในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งยุคแรกที่ตึกแถวขึ้น คือรัชกาลที่ 4 ในพื้นที่ชั้นใจกลางของเมือง บริเวณถนนเจริญกรุง, ถนนบำรุงเมือง, ถนนเฟื่องนคร ตลาดน้อย ฯลฯ ตึกแถวยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นของหลวงและเจ้านายต่างๆ ที่สร้างขึ้นเก็บค่าเช่าเพื่อใช้ดูแลเหล่าสมาชิก ส่วนรูปแบบอาคารได้รับอิทธิพลจากจีนและชาติตะวันตกที่ถ่ายทอดรูปแบบผ่านประเทศสิงคโปร์ ที่เรียกว่า Chino-Colonial Style ดัดแปลงให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศประเทศอาณานิคมในย่านนี้ ก่อนจะแพร่หลายเข้ามาในไทย ปัจจุบันตึกแถวรุ่นนี้ยังคงเหลืออยู่ในย่านอาคารเก่าของจังหวัดภูเก็ต

ถึงรัชกาลที่ 5-6 การก่อสร้างตึกแถวเริ่มขยายออกไปสู่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง เช่น ถนนพระสุเมรุ, บางลำพู, เยาวราช, ฯลฯ ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น โครงสร้างมีการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก มีการตกแต่งด้วยกระจกและลวดลายแบบตะวันตก

สมัยรัชกาลที่ 7-8 ขณะที่รูปแบบของตึกแถวมีพัฒนาเฉพาะตัวขึ้น เพราะมีกฎหมายเพื่อควบคุมอาคารเรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479” ซึ่งระบุขนาดอาคารสิ่งก่อสร้าง ทำให้อาคารในยุคนี้มีขนาดใกล้เคียงกัน นอกจากนี้เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ตึกแถวในช่วงนี้จึงเน้นประโยชน์ใช้สอย มักมีโครงสร้างอาคารแบบเรียบง่าย ไม่มีการประดับหรือตกแต่งที่สิ้นเปลือง ตัวอาคารเพรียวบางลงเพราะเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดีขึ้น

สมัยรัชกาลที่ 9-ปัจจุบัน ตึกแถวมีรูปแบบ, ขนาด, การใช้งาน, วัสดุก่อสร้าง, เทคโนโลยี ฯลฯ ที่หลากหลาย และก้าวหน้าไปมาก ตึกแถวบางแห่งจึงมีสูงถึง 9 ชั้น ทั้งใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยลง เพราะการใช้พื้นสำเร็จรูป, คานสำเร็จรูป ฯลฯ

ทว่า ตึกแถวที่สร้างกันอย่างแพร่หลายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่เคยตอบโจทย์ที่ดีสำหรับสังคมสมัยหนึ่ง ก็กำลังประสบปัญหา เช่น ตัวอาคารเองล้าสมัย, เสื่อมโทรม ขาดการดูแลจากผู้อาศัย หรือเจ้าของอาคาร, การเติบโตของเมืองและผังเมืองส่งผลให้ตึกแถวที่เคยรุ่งเรือง ร้างในพริบตา ฯลฯ

หากปัญหาสำคัญสุดที่สกัดทางรุ่งของตึกแถวเกือบทุกแห่งก็คือ “ที่จอดรถ” เพราะตึกแถวเดิมๆ ที่ตั้งอยู่ริมถนน เพื่อสะดวกในการเดินทาง ถึงวันนี้ที่ “รถยนต์” เป็นพาหนะสำคัญ แต่มันกลับไม่มีที่จอดรถให้เจ้าของตึกและลูกค้าที่จะมาติดต่อ ตึกแถวจึงค่อยสูญหายและกลายเป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ และศูนย์การค้าแทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เพ็ญศรี ฉันทวรางค์. แนวทางการเปลี่ยนแปลงของตึกแถว ในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566