ถนนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : ถนนเก้าสายสั้นๆ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน

คลองคูเมืองเดิม และถนนอัษฎางค์

กรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงมีพระราชดำริว่า ฝั่งฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชัยภูมิดีกว่าฝั่งฟากตะวันตกด้วยเป็นแหลม มีลำน้ำเป็นขอบเขต แม้นข้าศึกยกมาชิดชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า เสียแต่ว่าเป็นที่ลุ่ม ในขณะที่ฝั่งตะวันตก แม้จะเป็นที่สูง แต่ก็เป็นท้องคุ้งน้ำ ตลิ่งทรุดพังอยู่เสมอ อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถาน ตั้งอยู่ในอุปจารมีวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่ทั้งสองข้าง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กอง ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ โดยมีพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ในวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325

พระนครที่สถาปนาขึ้นใหม่นั้น อาศัยคลองคูเมืองเดิมหรือคลองหลอด ที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากทางด้านเหนือที่ท่าช้างวังหน้ามาจนถึงด้านใต้ที่ปากคลองตลาด ภายในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังยังมีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และวังต่างๆ ที่อยู่รายรอบภายในและนอกกำแพงเมือง อาคารสิ่งก่อสร้างดังกล่าว ปัจจุบันเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ

ในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี รัฐบาลฯ จึงมีมติให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดยขนามนามว่า รัตนโกสินทร์ ด้วยเปรียบได้ดั่งอัญมณีล้ำค่าประดับอยู่บนยอดเรือนแหวนแห่งกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2453 บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน

ถนนรอบพระบรมมหาราชวัง

พระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นมาแต่ครั้งสถาปนาพระนครกรุงเทพเป็นราชธานีนั้น นอกจากจะเป็นที่ประทับของบรรดาพระรามาธิบดี และเป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องเรื่อยมา แม้ในภายหลังมีการย้ายที่ประทับออกไป แต่พระบรมมหาราชวังยังคงบทบาท ศูนย์กลางบริหารแผนดินในเชิงสัญลักษณ์และยังใช้ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ส่วนขอบเขตของพระบรมมหาราชวังนั้น นอกจากจะมีป้อมปราการและแนวกำแพงแล้ว ยังมีแนวถนนโดยรอบทั้งสี่ด้าน ได้แก่ ถนนหน้าพระลาน ถนนมหาไชย ถนนมหาราช และถนนท้ายวัง

ถนนหน้าพระลาน เริ่มจากถนนสนามไชย ตรงมุมป้อมเผด็จดัสกร เลียบกำแพงพระบรมมหาราชวังไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทาง 550 เมตร

ถนนหน้าพระลาน เป็นถนนทางด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นทางโบราณที่มีมาแต่ครั้นสถาปนาพระนคร เดิมเรียกขานกันว่า ถนนท่าช้างวังหลวง เพราะเป็นเส้นทางช้างหลวงลงท่าอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ ให้เรียกขานว่า ถนนหน้าพระลาน ต่อมามีการปรับขยายถนนให้สวยงาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้พระราชพิธีต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพถ่ายทางอากาศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นแนวถนนหน้าพระลานจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านหน้าพระบรมมหาราชวัง และถนนหลักเมืองข้างกระทรวงกลาโหม
(ที่มา ภาพถ่ายทางอากาศโดยปีเตอร์ วิลเลียม ฮันท์)

ถนนสนามไชย เริ่มจากถนนหน้าพระลาน ตรงป้อมเผด็จดัสกร ไปสิ้นสุดที่ถนนมหาราช รวมระยะทาง 1,070 เมตร

ถนนสนามไชย เป็นถนนทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เป็นถนนสายสำคัญมีมาแต่โบราณ เดิมเรียกขานกันว่า ถนนหน้าจักรวรรดิวังหลวง เฉกเช่นทางหลวงในพระนครศรีอยุธยา เมื่อครั้งเป็นราชธานี นอกจากจะใช้เป็นทางสัญจรแล้ว ถนนสายกว้างนี้ยังเป็นพื้นที่ฝึกอาวุธ กระบี่กระบอง ชกมวย รวมทั้งทรงช้าง ทรงม้า ของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ทั้งนี้ยังเป็นเส้นทางในพระราชพิธีต่าง ๆ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งไชยชุมพล พลับพลาสำหรับประทับออกรับฎีกา และทอดพระเนตรการฝึกต่างๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกขานพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า สนามไชย จึงเป็นที่มาของนาม ถนนสนามไชย ตั้งแต่รัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้นมา

ถนนมหาราช เริ่มจากถนนจักรเพชร ตรงสะพานเจริญรัชไปสิ้นสุดที่ถนนพระจันทร์ รวมระยะทาง 1,730 เมตร

ถนนมหาราช เป็นถนนทางด้านทิศตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง มีมาแต่เมื่อครั้งสถาปนาพระนครเป็นราชธานี แต่เดิมเป็นเพียงทางดินเล็กๆ ข้างกำแพงวังหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนให้สวยงาม เพื่อแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองตามแบบตะวันตก อีกทั้งขยายยาวต่อเนื่องไปจนถึงถนนพระอาทิตย์

ถนนท้ายวัง เริ่มจากถนนสนามไชย ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทาง 450 เมตร

ถนนท้ายวัง เป็นถนนทางด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ด้านที่ติดกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  แม้จะเป็นทางโบราณ มีมาแต่เมื่อครั้งสถาปนาพระนครแต่แนวถนนอาจไม่เป็นเช่นในปัจจุบัน ด้วยเดิมที พื้นที่ด้านหลังของพระบรมมหาราชวัง จนถึงวัดโพธิ์ท่าเตียนนั้น เคยเป็นพื้นที่โล่ง มีชาวบ้านนำสินค้ามาขาย ให้บรรดาข้าหลวงฝ่ายในที่เรียกขานกันว่า ตลาดท้าย(วัง)สนม หรือ ถนนท้ายสนม จนกระทั่ง ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการขยายกำแพงวัง ไปจนถึงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

สะพานผ่านพิภพลีลา เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินในและราชดำเนินกลาง

ถนนริมคลองคูเมือง

ด้วยพระนครในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีคลองคูเมืองทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขยายพื้นที่พระนคร โดยขุดคลองคูเมืองใหม่เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันคือ คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง)

ส่วนคลองคูเมืองเดิม กลายเป็นเส้นทางสัญจรภายในพระนคร แม้เมื่อผู้คนเปลี่ยนมาสัญจรทางบก ก็ยังอาศัยทางดินริมคลองเป็นทางสัญจร จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับขยายเป็นถนนแบบตะวันตก รวมทั้งปลูกต้นไม้ทั้งสองฝั่งคลอง คือ ถนนราชินี อยู่ริมคลองคูเมืองด้านในหรือทิศตะวันตก ส่วนถนนเจ้าฟ้าและถนนอัษฎางค์ อยู่ริมคลองด้านนอกหรือทิศตะวันตก

ถนนราชินี เริ่มจากถนนพระอาทิตย์ ตรงท่าช้างวังหน้าเลียบคลองคูเมืองไปสิ้นสุดที่ ถนนมหาราช ตรงปากคลองตลาด รวมระยะทาง 2,230 เมตร

ถนนราชินี เป็นถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม (ทางทิศตะวันตก) คู่ขนานไปกับถนนอัษฎางค์ ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประพาสสิงคโปร์ ปัตตาเวีย และสมารัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับทางดินริมคลองคูเมืองเดิมให้กว้างขวาง และเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อสร้างเสริมทัศนียภาพอันงดงามให้แก่บ้านเมือง ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำท่าสำหรับคนลงน้ำ และท่าสำหรับช้างม้าลงน้ำ รวมทั้งปลูกต้นขนุน และต้นจำปีริมถนนทั้ง 2 ฟาก เมื่อแรกสร้างในปี พ.ศ. 2413 ถนนเส้นนี้ เริ่มจากปากคลองตลาด มาถึงปลายถนนจักรวรรดิวังหน้า ต่อมา พ.ศ. 2438 โปรดเกล้าฯ รื้อพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ขยายถนนสายเดิมไปจนถึงถนนพระอาทิตย์

ถนนราชินี เป็นนามพระราชทาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของประเทศสยาม และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440

ถนนเจ้าฟ้า เริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่ถนนราชดำเนินกลาง รวมระยะทาง 570 เมตร

ถนนเจ้าฟ้า เป็นถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ทางทิศตะวันออก ต่อเนื่องกับถนนอัษฎางค์  ถนนเจ้าฟ้าก่อสร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับนามพระราชทาน เพื่อให้ระลึกว่า ถนนสายนี้ อยู่ในพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล พระเจ้าราชวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระโอรสใน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่สาม

บนถนนเจ้าฟ้านี้ มีอาคารสำคัญ คือ หอศิลป์ ซึ่งเป็นโรงกษาปณ์แห่งแรกของสยามที่ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2418 ด้วยอาคารเดิมอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่ถนนประดิพัทธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2515 และที่รังสิต ในปัจจุบัน

ด้วยความงดงามของอาคารโรงกษาปณ์ จึงมีการอนุรักษ์และปรับปรุง เพื่อใช้แสดงงานศิลปะไทยและตะวันตกรวมทั้งผลงานศิลปะร่วมสมัยเป็นที่รู้จักในนาม หอศิลป์เจ้าฟ้า

ถนนอัษฎางค์ เริ่มจากถนนราชดำเนินกลาง เลียบขนานไปกับคลองคูเมืองเดิมไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด รวมระยะทาง 1,580 เมตร

ถนนอัษฎางค์ เป็นถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ทางทิศตะวันออก คู่ขนานไปกับถนนราชินี   เดิมเป็นเพียงทางเดินดินเลียบกำแพงและคลองคูเมืองเดิม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับขยายขึ้นใหม่พร้อมกับถนนราชินี ตามแบบอย่างถนนเลียบคลองในสิงคโปร์ ในราวปี พ.ศ. 2413

ภาพจากโปสการ์ด ไม่ทราบปี (คำบรรยายภาพอาจระบุผิดว่าเป็นคลองมหานาค) บริเวณด้านหลังอาคารกระทรวงกลาโหม คลองคูเมืองเดิม และถนนอัษฎางค์ที่มีเส้นทางรถรางผ่าน เริ่มจากข้างศาลหลักเมืองผ่านถนนอัษฎางค์ ถนนเจริญกรุงไปสิ้นสุดที่ถนนต

ถนนอัษฎางค์ เป็นนามพระราชทาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ภายหลังทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

ต่อมา หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ จัดสร้างอาคารริมถนน ตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมยุโรป เป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูนสองชั้น เฉพาะบริเวณหัวมุมตึกบนอาคารจะมีหน้าจั่ว ประดับลวดลายปูนปั้น ที่ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสวยงาม กรมศิลปากร ยังได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ตึกแถวบนถนนอัษฎางค์ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544

ถนนพระอาทิตย์และถนนพระจันทร์

ถนนพระอาทิตย์ เริ่มจากถนนพระสุเมรุ ไปสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมระยะทาง 770 เมตร   ส่วนถนนพระจันทร์ เริ่มจากท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่ถนนราชดำเนินใน รวมระยะทาง 600 เมตร

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ สถาปนาพระนครเป็นราชธานีมีการย้ายพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีการขุดคลองคูและก่อสร้างกำแพงเมือง ตามแบบแผนยุทธศาสตร์การป้องกันพระนคร เช่นในอดีต รวมทั้งสร้างป้อมปราการ 14 แห่ง เรียงรายตามแนวกำแพงทางทิศตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากป้อมพระสุเมรุ ที่อยู่เหนือสุด ตรงหัวมุมแม่น้ำกับปากคลองคูเมือง (คลองบางลำพูในปัจจุบัน) ที่ขุดขึ้นใหม่ ป้อมพระอาทิตย์ จะอยู่ถัดมาทางใต้ ตรงหัวมุมแม่น้ำเจ้าพระยา กับปากคลองคูเมืองเดิม ส่วนป้อมพระจันทร์ อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง และวังหน้า

ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณพระบรมมหาราชวัง พ.ศ. 2465 (ที่มา กรมแผนที่ทหาร)

เมื่อมีการปรับทางดินที่มีอยู่เดิม ริมคูที่กั้นระหว่างวัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์) พระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้า กับพระบรมมหาราชวัง จึงเรียกขานกันว่า ถนนพระจันทร์ ตามชื่อป้อมที่ตั้งอยู่ริมน้ำ

ทั้งนี้ ถนนพระจันทร์ เดิมเริ่มตั้งแต่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงถนนราชดำเนินใน ครั้งเมื่อมีการสร้างสนามหลวง ถนนพระจันทร์ จึงมาถึงแค่ถนนหน้าพระธาตุ

ส่วน ถนนพระอาทิตย์ เดิมเริ่มจากป้อมพระสุเมรุ ไปจนถึงป้อมพระจันทร์ เดิมเป็นทางดินริมด้านในกำแพง กลายเป็นถนน เมื่อมีการรื้อป้อมและกำแพงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ผู้คนจึงเรียกขานตามชื่อป้อม มีการก่อสร้างห้องแถวและบ้านพักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เรียงรายตามแนวถนน

ครั้นเมื่อมีการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง มีการผนวกรวมถนนพระอาทิตย์บางส่วน ไว้เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ถนนพระอาทิตย์ในปัจจุบันจึงสิ้นสุดแค่ประตูมหาวิทยาลัย

ระบบถนนในเกาะรัตนโกสินทร์ ถอดจากแผนที่เป็นเส้นตรงเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง (ที่มา หน่วยปฏิบัติการวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ)

ถนนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ถนนเก้าสายในพื้นที่อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะเป็นถนนสายสั้นๆ แต่ทว่าเป็นถนนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งสถาปนาพระนครกรุงเทพเป็นราชธานี เมื่อเป็นถนนที่อยู่รายรอบพระบรมมหาราชวัง จึงเป็นเส้นทางหลักในพระราชพิธีต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะเรียนรู้ที่มาของถนนสายต่างๆ ที่เล่าขานสภาพผังเมืองในอดีต ซึ่งเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2565