กำเนิด “โรงพยาบาลโรคติดต่อ” เพื่อรับมือการระบาด ในสมัยรัชกาลที่ 5

(ภาพจากหนังสือ ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย)

เมื่อพูดถึงโรคระบาดในยุคปัจจุบัน ก็หนีไม่พ้นเชื้อไวรัส แต่ถ้าเป็นในอดีตโรคระบาดที่สร้างความตระหนักแก่ผู้คนคงหนีไม่พ้นอหิวาตกโรค, ไข้ทรพิษ และกาฬโรค ที่เกิดขึ้นเมื่อใดก็สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมาก

ไปดูกันว่าความรุนแรงของโรคระบาดในอดีตเป็นอย่างไร

ขอยกตัวอย่าง การระบาดของอหิวาตกโรค ในรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2392 ซึ่งตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2389-2405) โรคระบาดจากอินเดียไปทั่วยุโรป อเมริกา ระบาดเข้าประเทศไทยโดยผ่านเข้ามาทางปัตตานี สงขลา ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ระบาดโดยทางเรือเข้าสมุทรปราการและกรุงเทพฯ ระบาดหนักอยู่ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

เมื่อสํารวจศพที่วัดสระเกษ, วัดบพิตรพิมุข และวัดสังเวช รวม 28 วัน มีศพ 5,457 หรือประมาณวันละ 194 ศพ มีผู้ตายด้วยอหิวาตกโรคครั้งนี้ประมาณ 10% ของพลเมือง เสนาบดีคนสำคัญสมัยนั้น ได้แก่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชาก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอหิวาตกโรคในคราวนี้ด้วย

ในรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรค มีการระบาด 4 ครั้งคือ 1. พ.ศ. 2416 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2406-18) การระบาดทั่วโลกเกิดจากชาวมุสลิมซึ่งกลับจากแสวงบุญที่เมืองเมกกะได้นําโรคมาระบาดไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย 2. พ.ศ. 2424 ตรงกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2424-2439) คาดว่าโรคระบาดมาจากเมกกะเช่นเดียวกัน ครั้งนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชอื่นรวม 48 คน ช่วยจัดตั้งโรงรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนมาก ส่วนครั้งที่ 3 และ 4 เกิดขึ้นในพ.ศ. 2435 และปี พ.ศ. 2443 ไม่มีบันทึกไว้ในที่ใด

ความเสียหายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทางการเห็นว่าควรมีโรงพยาบาลสำหรับรับมือโรคระบาดโดยเฉพาะ

ใน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้สร้าง “โรงพยาบาลโรคติดต่อ” ขึ้นในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ บริเวณตําบลปากคลองสาน อําเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี โดยให้ขึ้นกับกรมพยาบาล กระทรวงนครบาล มีนายแพทย์คาร์ทิว (พระยาอายุรเวทย์วิจักษณ์) เป็นผู้ดําเนินงาน ต่อมา พ.ศ. 2480 โอนกิจการให้ขึ้น กับกองสาธารณสุข เทศบาลนครกรุงเทพ และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลเทศบาล”

แม้จะตั้งโรงพยาบาลโรคติดต่อ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในพระนครและธนบุรี โรงพยาบาลก็รับผู้ป่วยได้ไม่หมด และการเดินทางไม่สะดวก (ก่อน พ.ศ. 2475 ไม่มีสะพานพุทธยอดฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา) เมื่อมีโรคระบาดขึ้นจึงจําเป็นต้องตั้งโรงพยาบาลพิเศษขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่วัดเทพศิรินทร์ วัดสุทัศน์ วังเสด็จในกรมขุนชัยนาทนเรนทร สุขศาลาบางรัก เป็นต้น

ดังนั้นใน พ.ศ. 2487 กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับเทศบาลนครกรุงเทพฯ และกระทรวงมหาดไทย จัดหาสถานที่ก่อสร้างใหม่บริเวณถนนดินแดง ตําบลสามเสนใน อําเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เพื่อใช้เป็นที่รักษาพยาบาลโรคติดต่ออันตรายที่จะระบาดในคราวต่อไป หากในยามปกติก็ใช้เป็นที่ตรวจรักษาโรคอื่นทั่วไป และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงพยาบาลโรคติดต่อพญาไท” เปิดดําเนินงานเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2492

ใน พ.ศ. 2501-02 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในพระนคร โรคระบาดครั้งนั้นร้ายแรงมาก ได้คร่าชีวิตของผู้เจ็บป่วยไปมากมาย พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้ดำเนินการควบคุมโรคจนสงบลง และเห็นความจําเป็นต้องมีโรงพยาบาลที่มีความสามารถสูงพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาโรคระบาดที่รุนแรง “โรงพยาบาลโรคติดต่อ พญาไท” ตั้งอยู่ในย่านชุมชน อาจมีปัญหาโรคติดต่อแพร่ระบาดไปในชุมชนได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงสั่งการให้ย้ายโรงพยาบาลไปตั้งในที่ซึ่งห่างจากชุมชน

โดยขอแบ่งที่ดิน โรงพยาบาลศรีธัญญา ตําบลตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี ประมาณ 40 ไร่ เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลโรคติดต่อแห่งใหม่ เปิดดําเนินงานใน พ.ศ. 2503 โดยให้ชื่อว่า “โรงพยาบาลบําราศนราดูร” ปัจจุบันเป็น “สถาบันบําราศนราดูร” สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจในด้านดูแลระบบการ คัดกรอง คัดแยก ผู้ที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อจากโรคระบาด ตลอดจนร่วมสร้างงานวิจัยพัฒนาการป้องกันควบคุมโรค

เมื่อมีการระบาดของ โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) พ.ศ. 2555 หรือการระบาดของไวรัสโคโรน่า(โควิท 19) ในปัจจุบันก็มีการส่งต่อผู้ป่วยมายังสถาบันบําราศนราดูร เพื่อรับการรักษาตัวในห้องแยกความดันลบเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

 


ข้อมูลจาก

ประเมิน จินทวิมล. “ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย”, อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505

โกมาตร จึงเสถียรทรัพน์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย, หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, พ.ศ. 2561


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563