อิเอนากะ ซาบูโระ ผู้ที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมใส่ “เหตุการณ์สังหารโหดที่นานกิง” ลงในตำรา

อิเอนากะ ซาบูโระ ต้องการ ใส่ สังหารโหดที่นานกิง ใน หนังสือเรียนประวัติศาสตร์
อิเอนากะ ซาบูโระ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1997 (TORU YAMANAKA / AFP)

อิเอนากะ ซาบูโระ นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ผู้ต่อสู้กับรัฐบาลญี่ปุ่น เพราะต้องการใส่เนื้อหาเกี่ยวกับการ “สังหารโหดที่นานกิง” ลงในหนังสือประวัติศาสตร์ของเขาเอง แต่ถูกทางการญี่ปุ่นขัดขวาง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” ในยุโรปโดยนาซี และ “สังหารโหดที่นานกิง” โดยกองทัพญี่ปุ่น ที่ถือเป็นพฤติกรรมโหดร้ายที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกัน

Advertisement

หลังสงครามยุติ รัฐบาลเยอรมันจัดการกับอาชญากรสงครามอย่างชัดเจน มีการระบุตัวนาซี และระบุตัวผู้บงการในรัฐบาลด้วย ขณะที่รัฐบาลและสังคมญี่ปุ่นไม่เคยกระทำในสิ่งเหล่านี้เลย พวกเขาถือว่าพฤติกรรมที่เกิดระหว่างสงครามเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลของทหารแต่ละนาย

เดือนกันยายน ปี 1986 ฟูจิโอะ มาซายูขิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่า การสังหารโหดที่นานกิง “เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงคราม” ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นก็เกินความจริง เขายังกล่าวอีกว่าการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามที่โตเกียวเป็น “การแก้แค้นทางเชื้อชาติ” ซึ่งต้องการ “ปล้นเอาอำนาจไปจากญี่ปุ่น” ผลจากการให้สัมภาษณ์ นาคาโซเน ยาสุฮิโร นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งปลดมาซายูขิ ออกจากตำแหน่ง

ปี 1988 โอคุโนะ ไซสุเขะ หัวหน้าฝ่ายตำรวจลับอันเลื่องชื่อ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการกระทรวงที่ดิน เดินทางไปศาลยาสุขุนิ-สถานที่ตั้งป้ายวิญญาณอาชญาสงคราม กล่าวถึงความรู้สึกต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า

“พวกผิวขาวเข้ามาทำให้เอเชียกลายเป็นเมืองขึ้น แต่ญี่ปุ่นกลับถูกตำหนิอยู่เพียงประเทศเดียว แล้วใครล่ะ…ที่เป็นผู้รุกราน? ก็พวกผิวขาวนั่นแหละ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมญี่ปุ่นถึงถูกเรียกว่าพวกนิยมลัทธิทหาร…พวกนิยมความก้าวร้าวรุนแรง?”

ภายหลังไซสุเขะจะถูกบีบให้ลาออก แต่เขาก็ยังยืนความคิดเดิม โดยกล่าวว่า “ผมลาออก…เพราะถูกรัฐบาลบีบให้ทำอย่างนั้น…แต่ไม่เคยคิดจะถอนคำพูด…”

ปี 1990 อิชิฮารา ชินทาโร สมาชิกระดับนำของพรรคลิเบอรัล เดโมเคติก ผู้เขียนหนังสือ The Japan That Can Say No ให้สัมภาษณ์นิตยสารเพลย์บอย เมื่อปี 1990 ว่า “คนพูดกันว่าฝ่ายญี่ปุ่นไปก่อเหตุสังหารหมู่ที่นั่น (นานกิง) แต่เรื่องนั้นมันไม่จริง เป็นเรื่องที่พวกคนจีนกุขึ้นมา เป็นเรื่องโกหกที่ทำให้ญี่ปุ่นเสียภาพลักษณ์…”

แม้ต่อมาจะเผชิญหน้ากับหลักฐานจำนวนมาก ชินทาโรยังคงยืนยันหัวชนฝา ว่าแม้เยอรมนีจะยอมกล่าวขอโทษที่ได้สังหารหมู่ชาวยิว แต่ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นต้องทำเช่นนั้นด้วย

แต่ที่น่าตกใจกว่าคือ ระบบการศึกษาของญี่ปุ่น “เลือกที่จะลืม” เหตุการณ์ที่นานกิง

เมื่อปี 1994 นักเรียนญี่ปุ่นเพิ่งได้เริ่มเรียนว่ากองทัพญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบต่อความตายของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งพลเรือนชาวเอเชียอย่างน้อย 20 ล้านคน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่สงครามยุติไปตั้งแต่ปี 1945

ตำราเรียนที่ใช้ในโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมของญี่ปุ่นต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการตรวจตราอย่างถี่ถ้วน เช่น เมื่อปี 1977 กระทรวงศึกษาธิการตัดเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนหลายร้อยหน้า ให้เหลือเพียง 6 หน้ากระดาษ เนื้อหาที่เหลือไว้คือ ภาพและเหตุการณ์การทิ้งระเบิดเพลิงถล่มโตเกียวของอเมริกัน การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา

แต่ใช่ว่าชาวญี่ปุ่นจะเห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น

เมื่อปี 1965 อิเอนากะ ซาบูโระ นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ฟ้องร้องรัฐบาลญี่ปุ่น เพราะต้องการใส่เนื้อหาเกี่ยวกับการสังหารโหดที่นานกิงลงในหนังสือประวัติศาสตร์ของเขา แต่กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาขัดขวาง

ตัวอย่างเช่น ซาบูโระเขียนว่า “ทันทีที่ยึดครองนานกิงได้ กองทหารญี่ปุ่นก็ฆ่าทั้งทหารและพลเรือนชาวจีนไปเป็นจำนวนมาก เหตุนี้ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม ‘การสังหารโหดที่นานกิง’” ซึ่งทางการญี่ปุ่นวิจารณ์ว่า ผู้อ่านจะแปลความว่าทันที่ที่เข้ายึดเมืองได้ กองทัพญี่ปุ่นสังหารคนจีนอยู่ฝ่ายเดียว จึงควรมีการแก้ไข

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจตำรายังสั่งให้ซาบูโระลบข้อความที่เขาบรรยายเกี่ยวกับการข่มขืน โดยให้เหตุผลว่า

“การขืนใจผู้หญิงเกิดในทุกสนามรบ และในทุกๆ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องนำมาเอ่ยราวกับว่ากองทัพญี่ปุ่นทำอยู่เพียงฝ่ายเดียว”

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการเองก็ไม่พอใจกับงานเขียนของซาบูโระที่ประณามพฤติกรรมนักรบญี่ปุ่น โดยเฉพาะข้อความที่ว่า

“สงครามครั้งนั้นได้รับการยกย่องให้เป็น ‘สงครามศักดิ์สิทธิ์’ พฤติกรรมเหี้ยมโหดของกองทัพถูกปกปิดมิดชิด ทำให้คนญี่ปุ่นไม่มีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริง และเมื่อไม่มีทางเลือก จึงต้องให้ความร่วมมือในสงครามบ้าระห่ำนั้น”  [เน้นโดยผู้เขียน]

กระทรวงศึกษาธิการสั่งลบข้อความย่อหน้าดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า คำว่า “พฤติกรรมเหี้ยมโหดของกองทัพ” และ “สงครามบ้าระห่ำ” เป็นการกล่าวโทษญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงฝ่ายเดียว

ปี 1970 ผู้พิพากษาศาลโตเกียวตัดสินให้ซูบูโระชนะคดี โดยวินิจฉัยว่า ขั้นตอนการตรวจตำราไม่ควรก้าวก่ายไปไกลกว่าการดูข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง และแก้ไขตัวพิมพ์ผิดเท่านั้น

การต่อสู้ของซูบูโระได้รับควาสสนใจอย่างท้วมท้น และปลุกให้เกิดกระแสประท้วงขึ้นในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ทำให้กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นที่มีแนวคิดล้าสมัยต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ปี 1982 เรื่องราวการบิดเบือนตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสังหารโหดที่นานกิงกลายเป็นเรื่องถกเถียงไปทั่วประเทศ กระทั่งทำให้เกิดวิกฤตทางการทูตระหว่างประเทศ หนังสือพิมพ์ชั้นนำของญี่ปุ่นพาดหัวข่าวเรื่องนี้ รัฐบาลจีนและเกาหลีประท้วงอย่างเป็นทางการว่า ญี่ปุ่นพยายามลบประวัติการรุกรานของตนออกจากหน้าประวัติศาสตร์ เพื่อฟื้นฟูลัทธิทหารขึ้นอีกครั้ง

สิ่งที่ตามมาหลังวิวาทะเกี่ยวกับตำราประวัติศาสตร์เล่มนี้ 2 ประการ คือ 1. การปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฟูจิโอะ มาวายูขิ ผู้ยืนยันในนโยบาย “ล้างประวัติศาสตร์” ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2  และ 2. คือเรื่องการสังหารโหดที่นานกิงไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะละเลยได้อีกต่อไป

ก่อนปลดมาซายูขิ สภาให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันตนเองของญี่ปุ่นจัดเตรียมตำราที่เขียนโดยฝ่ายขวา ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับการสังหารโหดที่นานกิงไว้ว่า

“การต่อสู้ที่นานกิงเป็นไปอย่างรุนแรงที่สุด จีนได้ขอให้ญี่ปุ่นไตร่ตรองเกี่ยวกับจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายทั้งในส่วนกองทัพและพลเรือนชาวจีน”

แต่หลังการปลดมาซายูขิ กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับข้อความข้างต้นใหม่เป็น

“การต่อสู้ที่นานกิงเป็นไปอย่างรุนแรงที่สุด หลัง (รัฐบาล) นานกิงแพ้แล้ว มีรายงานว่ากองทัพญี่ปุ่นสังหารและทำร้ายทหารและพลเรือนจีนจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุในนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไอริส จาง-เขียน, ฉัตรนคร องคสิงห์-แปล. หลั่งเลือดที่นานกิง, สำนักพิพม์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 10 มีนาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2565