จอห์น ราเบ้ นาซีเปี่ยมน้ำใจ พ่อพระของชาวนานกิง

ทหาร นานกิง
กองกำลังญี่ปุ่นบุกเข้าสู่นานกิง

จอห์น ราเบ้ (ค.ศ. 1882-1950) เกิดที่เมืองฮัมบวร์ก เยอรมนี เขาเริ่มฝึกงานที่บ้านเกิด ก่อนจะไปทำงานที่แอฟริกา 2-3 ปี หลังจากนั้นในปี 1908 เขาย้ายมาทำงานที่บริษัทซีเมนส์ สำนักงานกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ถึงปี 1931 ก็ย้ายไปประจำสำนักงานที่นครนานกิง ทำหน้าที่ขายเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แก่รัฐบาล

ราเบ้ยังเป็นสมาชิกพรรคนาซี มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคนาซีสาขานานกิง สำหรับเขาพรรคนาซี คือองค์กรสังคมนิยมเบื้องต้น ซึ่งเขาสรุปเกี่ยวกับปรัชญาแห่งพรรคนาซีตามความเชื่อของตนเองว่า “เราคือหน่วยทหารเพื่อการทำงาน เราคือรัฐบาลแห่งคนงาน เราคือมิตรของชาวแรงงาน และเราจะไม่มีวันละทิ้งพวกคนงานไปในช่วงเวลาวิกฤต”

จอห์น ราเบ้
จอห์น ราเบ้ (คนกลางสวมแว่น) หน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการสากล (ภาพจากห้องสมุดภาพคณะศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล)

ดังนั้นเมื่อมีข่าวว่ากองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดนานกิง ขณะที่เพื่อนชาวเยอรมันอพยพออกจากเมืองตามคำแนะนำของสถานทูต ราเบ้กลับเลือกที่จะอยู่ และไม่นานเขาก็ได้รับตำแหน่งประธานเขตปลอดภัยในนานกิง การกระทำของเขาทำให้พันตรีโอขะแห่งกองทัพญี่ปุ่น ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับให้คอยดูแลความปลอดภัย ถึงกับออกปากว่า “นี่คุณยังอยู่ทำซากอะไรในเมืองนี้?”

ราเบ้นิ่งอึ้งไป ก่อนจะตอบว่า “ผมอยู่เมืองจีนมานานกว่า 30 ปี แล้ว ลูกๆ และหลานๆ ของผมล้วนเกิดที่นี่ ผมมีความสุข และหน้าที่การงานก็ประสบความสำเร็จ ชาวจีนปฏิบัติต่อผมเป็นอย่างดี แม้แต่ในสงคราม ถ้าผมได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลานานถึง 30 ปี คุณแน่ใจได้เลยว่าในช่วงเวลาฉุกเฉินอย่างที่กำลังเผชิญกันอยู่นี้ ผมก็จะไม่ละทิ้งประชาชนชาวญี่ปุ่นเช่นกัน”

ราเบ้ในฐานะเป็นหัวหน้านาซีแห่งนานกิงยังมีเหตุผลส่วนตัวที่ไม่หนีเพื่อความปลอดภัยของตนเอง นั่นคือเขารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของพวกลูกจ้างชาวจีน ซึ่งก็คือทีมช่างของบริษัทซีเมนส์ที่คอยดูแลชุดกังหันที่เครื่องปั่นไฟฟ้าเครื่องใหญ่ของตัวเมือง เครื่องโทรศัพท์และนาฬิกาเรือนใหญ่ๆ ในทุกกระทรวง สัญญาณเตือนภัยตามสถานีตำรวจและธนาคาร และเครื่องเอ็กซเรย์อีกหลายเครื่องที่โรงพยาบาลกลาง

นั่นทำให้ราเบ้ต้องอดทนกับเสียงสัญญาณหลบภัยทางอากาศนับครั้งไม่ถ้วน กับหลุมหลบภัยเล็กๆ ที่ไม่ปลอดภัยนัก เพราะมีกระดานไม่กี่แผ่นปิดปากหลุม และการขาดแคลนข้าวของสารพัดที่ทยอยตามมา

แต่สิ่งที่ราเบ้กังวลมากที่สุดคือการจัดตั้งเขตปลอดภัย คณะกรรมการฯ ต้องการให้พื้นที่เป็นเขตปลอดจากทหารทั้งสองฝ่าย แต่กองทัพญี่ปุ่นปฏิเสธข้อตกลง นอกจากนี้ยังแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะผลักดันทหารจีนออกไปจากพื้นที่ ราเบ้ตัดสนใจขอความช่วยเหลือจากพรรคนาซี ทั้งการโทรเลขถึงฮิตเลอร์ด้วยตนเอง และการติดต่อผ่านเพื่อนที่เป็นที่ปรึกษาของฮิตเลอร์ ซึ่งนับว่ามันได้ผลระดับหนึ่ง เครื่องบินญี่ปุ่นเปลี่ยนวิธีระเบิดแบบกระจายไปทั่วเมือง เป็นการทิ้งเฉพาะพื้นที่เป้าหมายทางทหาร

นั่นทำให้เขตปลอดภัยฯ ที่ราเบ้ดูแลบริหารจัดการ มีจำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความตั้งใจจะสงวนไว้เฉพาะประชาชนที่ยากจน เพราะมีพื้นที่จำกัดเพียง 4 ตารางกิโลเมตร เป็นอันต้องล้มเลิก เมื่อถึงวันที่เสียนานกิง เขตปลอดภัยฯ ซึ่งแสดงพื้นที่ด้วยธงและสัญลักษณ์กาชาดสากล ก็แน่นราวรังผึ้งด้วยจำนวนชาวจีน 250,000 คน แต่เขตปลอดภัยฯ ก็ยังต้องรับผู้อพยพเพิ่มเติมเพราะมนุษยธรรม

ขณะที่ราเบ้ช่วยรักษาชีวิตชาวจีน แม้หลายครั้งทหารญี่ปุ่นจะดื้อดึงขัดขืน แต่ก็ต้องยอมลงให้เขา เมื่อราเบ้จะยื่นแขนที่มีปลอกตราประจำตัวอยู่ออกไป ชี้ไปที่ระดับนาซี (ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในประเทศจีน) แล้วถามว่า “รู้ไหมว่านี่หมายความว่ากระไร?”

เมื่อสงครามนานกิง (ค.ศ. 1937-1938) ยุติ ราเบ้กลับบ้านเกิด พร้อมกับสัญญาที่ให้ไว้กับชาวจีนว่าจะเล่าเรื่องโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นทำในนานกิง

ที่เยอรมนี ราเบ้และครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ รัฐมนตรีว่ากระทรวงต่างประเทศกล่าวยกย่องอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการกระทำของเขาในประเทศจีน ที่เบอร์ลิน ราเบ้ได้รับเหรียญเกียรติคุณในฐานะผู้ช่วยเหลืองานสภากาชาด, ที่สตุ๊ทการ์ด ได้เหรียญอิสริยาภรณ์ “เยอรมันสดุดีซิลเวอร์ปาสทัวร์” และสร้อยเกียรติคุณเพชรสามสี จากรัฐบาลจีน

ราเบ้ยังเดินทางไปทั่วเบอร์ลินเพื่อบรรยายและฉายภาพยนตร์เหตุการณ์ในนานกิงที่จอห์น แมกีถ่ายไว้ แม้ราเบ้ไม่มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะฮิตเลอร์ แต่เขาได้ส่งสำเนาภาพยนตร์ชุดนั้นและรายงานเกี่ยวกับการสังหารโหดที่นานกิงไปให้ และหวังว่าฮิตเลอร์จะแสดงความเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

หากผลที่ตามมากลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ไม่กี่วันถัดมา ตำรวจลับเกสตาโป 2 นายมาจับเขาถึงที่พักไปสอบสวนที่สำนักงานใหญ่ของเกสตาโปเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อนายจ้างจากบริษัทซีเมนส์เข้าไปรับรองว่า ราเบ้จะหยุดการบรรยายเกี่ยวกับการกระทำของญี่ปุ่นต่อสาธารณชนอีก และส่งเขาไปประจำสาขาของบริษัทในต่างประเทศเพื่อให้เขาพ้นภัย

ขณะที่รัฐบาลเยอรมันส่งรายงานของเขาไปยังกระทรวงเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายกระทรวงได้อ่าน แต่พร้อมกันบอกว่า เอกสารชุดนั้นคงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายต่างประเทศที่รัฐบาลเยอรมนีที่มีต่อญี่ปุ่น

หลายปีต่อมา อะพาร์ตเมนต์ของราเบ้ถูกถล่มจาการบุกเข้าลุยกรุงเบอร์ลินของรัสเซีย ยังโชคดีอยู่บ้างที่บ้านของเขาอยู่ในเขตชาวอังกฤษจึงทำให้รอดพ้นมาได้ แม้รายได้ของครอบครัวขาดหายไปจำนวนมากจนแทบไม่พอยังชีพ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) สิ้นสุด ราเบ้ถูกกล่าวร้ายรุนแรง เริ่มจากถูกฝ่ายโซเวียตจับไปสอบสวนนานสามวันสามคืน จากนั้นถูกฝ่ายอังกฤษสอบอีกหนึ่งวันเต็มๆ

หากเรื่องน่าอัปยศสุดท้ายเกิดเมื่อฝ่ายเยอรมนีด้วยกันเองบอกยกเลิกสถานะ และลากเขาเข้าสู่กระบวนการ “ล้างความเป็นนาซี” ซึ่งราเบ้ต้องจ่ายค่าต่อสู้ในชั้นศาลด้วยตนเอง ต้องสูญเสียใบอนุญาตให้ทำงาน ทำให้ทั้งครอบครัวต้องทนเบียดเสียด ยัดเยียดอยู่ในห้องแคบๆ ด้วยความหิวโหยกับอากาศหนาวเหน็บ

บันทึกประจำวันของราเบ้ บอกให้รู้ถึงภาวะอารมณ์ของเขา ในช่วงปี 1945-1946 ว่า

“บริษัท (ซีเมนส์) ไม่มีงานให้ผมทำ ผมกลายเป็นคนว่างงาน รัฐบาลบอกว่าผมต้องไปลงทะเบียนตามนโยบายการครองชีพมาตรฐานในเขต ‘สปันเดา’ ซึ่งอยู่ที่ สตั๊ดท์คอนทัวบั๊งค์

…………

ตอนนี้มอมมี [ภรรยาของเขา] หนัก 44 กิโลเท่านั้น เราผอมลงมาก ฤดูร้อนผ่านไปแล้ว เราจะทำยังไงกันในหน้าหนาว? จะไปหาน้ำมันและอาหารได้จากที่ไหน? ที่สำคัญ…ไม่มีงานทำ…ตอนนี้ผมแปลหนังสือของทิมเพอร์ลีย์ เรื่อง ‘What War Means’ (หนังสือที่รวบรวมเอกสารเกี่ยวกับการสังหารโหดในนานกิง) อยู่ งานนี้ยังไม่ให้รายได้อะไรเลย แต่บางทีผมน่าจะได้บัตรปันส่วนอาหารที่ดีกว่านี้บ้าง ชาวเยอรมันอื่นๆ ก็ต้องทนทุกข์เหมือนเรา

………..

เมื่อวานนี้คำร้องเรียนขอยกเลิกการเป็นนาซีของผมถูกปฏิเสธ นี่ขนาดผมช่วยชีวิตคนจีนไว้ถึง 250,000 คน แต่พวกเขากลับปฏิเสธคำขอของผม โดยบอกว่าเพราะผมเคยเป็นหัวหน้าเขต ออทสกรูปเพนไลเทอร์’ ในนานกิง เขาบอกว่าคนฉลาดขนาดผมต้องไม่ยอมตัวเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้…ผมจะต้องยื่นอุทธรณ์

ถ้าพวกเขาไม่ให้ผมทำงานที่บริษัทซีเมนส์ ชูคเคอร์ท แวคเค ผมก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ดังนั้นจึงต้องสู้ แต่ก็เหนื่อยเหลือเกิน ตอนนี้ถูกตรวจสอบทุกวัน

ถ้าผมรู้เกี่ยวกับเรื่องโหดร้ายที่นาซีทำในประเทศจีน ผมก็คงไม่ไปเป็นสมาชิกของพรรคฯ หรอก และหากความคิดเห็นในฐานะคนเยอรมันของผมต่างไปจากเพื่อนชาวต่างชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษ อเมริกัน เดนมาร์ก หรือชาติไหนก็ตาม พวกเขาก็คงไม่เลือกผมเป็นประธานคณะกรรมการสากลของเขตปลอดภัยในนานกิง ตอนอยู่ที่นั่น ผมคือพ่อพระที่ช่วยเหลือคนนับแสนๆ แต่ที่นี่ผมกลายเป็นคนชั้นต่ำ! ที่ถูกขับออกจากสังคม! โธ่…ทำยังไงผมถึงจะหายคิดถึงบ้าน

ในที่สุดคณะกรรมการพิจารณายกเลิกการเป็นนาซี ในส่วนของอังกฤษ (ที่ชาร์ลอตเทนบวร์ก) ก็อนุญาตให้ผมพ้นสภาพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน”

คำตัดสินนี้ช่วยให้ชีวิตทรมาทรกรรมของราเบ้สิ้นสุดลง เพื่อนๆ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่บริษัทฯ ต่างเข้ามาแสดงความยินดี แต่ครอบครัวของยังเผชิญกับความยากแค้น ต้องนำของมีค่าเท่าที่มาออกไปแลกอาหาร

ในปี 1948 รัฐบาลท้องถิ่นที่นานกิงประกาศว่าราเบ้ลำบาก ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลเข้ามามหาศาล เพียงไม่กี่วันกลุ่มผู้รอดชีวิตในนานกิงรวบรวมเงินบริจาคได้ถึง 100 ล้านหยวน (เท่ากับประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งขณะนั้นนับเป็นเงินจำนวนไม่น้อย

เดือนมีนาคมปีเดียวกัน นายกเทศมนตรีนครนานกิงเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาซื้อนมผง ไส้กรอก ชา กาแฟ เนื้อวัว เนย และแยมส่งไปให้ราเบ้ถึงสี่กล่องใหญ่ๆ นับจากเดือนมิถุนายน ปี 1948 ไปกระทั่งถึงเวลาที่นานกิงตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ชาวนานกิงแสดงความขอบคุณอย่างลึกซึ้งจากใจให้อดีตผู้นำเขตปลอดภัยในนานกิงเห็น ด้วยการส่งพัสดุอาหารกล่องใหญ่ๆ ไปให้ราเบ้ทุกเดือน ส่วนรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ถึงกับเสนอให้บ้านพักฟรี รวมทั้งเบี้ยบำนาญตลอดชีวิตแก่ราเบ้ด้วย หากเขาเลือกที่จะกลับมาประเทศจีน

เพราะในประวัติศาสตร์การสังหารโหดที่นานกิง “ราเบ้คือนาซีผู้เปี่ยมน้ำใจ” ประธานคณะกรรมการสากลของเขตปลอดภัยในนานกิง ผู้ช่วยชีวิตชาวจีนหลายแสนคน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ฉัตรนคร องคสิงห์ แปล. หลั่งเลือดที่นานกิง, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 10 มีนาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2565