วิลเฮลมินา วอทริน แม่พระแห่งนานกิง ที่ช่วยเด็ก-ผู้หญิงจากการย่ำยีของทหารญี่ปุ่น

ผู้หญิง ต้อน นานกิง
ทหารญี่ปุ่นที่รุกเข้ามาทั่วแผ่นดินจีนกวาดต้อนเอาผู้หญิงนับพันๆ คนไปย่ำยี ในสงครามนานกกิง

วิลเฮลมินา วอทริน หรือที่ใครๆ เรียกว่า “มินนี” เธอเติบโตขึ้นในครอบครัวชาวไร่เล็กๆ ในรัฐอิลลินอยส์ หลังมารดาเสียชีวิต เธอต้องใช้ชีวิตวัยเด็กด้วยความยากลำบากและขัดสน หากมินนีก็บากบั่นเรียนหนังสือ กระทั่งจบปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ในปี 1912 หลังเรียนจบ มินนีเข้าร่วมกับสมาคมผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์แห่งอเมริกา เดินทางมายังเมืองเหอเฝย ในมณฑลอานฮุย

วิลเฮลมินา วอทริน
วิลเฮลมินา วอทริน หรือ “มินนี”

มินนีเรียนภาษาจีนพร้อมๆ การทำงานในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสตรี จากนั้นเธอย้ายมานานกิง ปี 1937 มินนีในวัย 51 ปี ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ของ “วิทยาลัยศิลปะและวิทยาศาสตร์สตรีจินหลิง” เธอเป็นสตรีตะวันตกหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่อยู่ในนานกิงในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการสังหารหมู่ ที่ต่อมาได้รับการระลึกถึงในฐานะ “วีรสตรี” ผู้ช่วยปกป้องเพศแม่ชาวนานกิงนับพันๆ ไว้จากการถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืน

ฤดูร้อนของปี 1937 ระหว่างไปพักผ่อนที่เมืองตากอากาศ “ชิงต่าว” มินนีกับเพื่อนๆ ได้ยินข่าวว่ามีทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ใกล้ตัวเมืองปักกิ่งนายหนึ่งหายตัวไป ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นปะทะกับทหารจีนในพื้นที่หลายครั้ง จนเพื่อนร่วมกลุ่มถึงกับเอ่ยว่า เหตุที่คนเพียงสองคนถูกสังหารในซาราเจโวเมื่อปี 1914 เคยทำให้คนถึง 11 ล้านคนต้องตายตามมาแล้ว แม้ได้ยินอย่างนั้นแต่มินนีก็ยังปฏิเสธที่จะอพยพตามชาวอเมริกันอื่นๆ ออกจากนานกิง

กระทั่งสถานทูตต้องให้ยืมธงชาติอเมริกันผืนใหญ่ ขนาด 9 ฟุต ไปขึงกลางสนามหญ้ากลางวิทยาลัยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ไม่ให้นักบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดลงมา นักการทูตบอกว่า หลังเรือปืนพาเจ้าหน้าที่สถานทูตจากไป และกองทัพจีนปิดประตูเมืองทุกด้านแล้ว ทางเดียวที่จะเอาตัวรอดได้ก็คือปืนข้ามกำแพงออกมา

แต่มินนีไม่มีเวลาคิดเรื่องหนี เพราะคณาจารย์ส่วนใหญ่หายหน้าไปหมด (อาจารย์เหล่านี้ยอมทิ้งบ้าน หนีจากนานกิงสู่เมืองอื่น เช่น เซี่ยงไฮ้และเฉิงตู) เธอจึงต้องรับตำแหน่งอธิการบดีของวิทยาลัยโดยปริยาย

วิลเฮลมินา วอทริน อธิการบดีคนใหม่ทำงานหนักมากในการเตรียมที่ทางรอรับผู้อพยพหญิง อพยพทหารป่วยออกจากพื้นที่ สั่งเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เครื่องเรือนไปไว้ในห้องใต้เพดาน เก็บของออกจากตู้เซฟ ห่อของมีค่าต่างๆ ด้วยกระดาษน้ำมันก่อนนำไปซ่อน ทำความสะอาดหอพักนักศึกษา วิทยาลัยจึงเปลี่ยนสภาพเป็นศูนย์อพยพ และเพื่อไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นรู้ว่าคนไหนเป็นทหารจีน มินนีสั่งเผาเอกสารประจำตัวรวมทั้งเครื่องแบบ นอกจากนั้นยังสั่งทำสัญลักษณ์บนป้ายและปลอกแขน เพื่อให้เจ้าหน้าที่แสดงตัวว่าทำงานให้เขตปลอดภัยสากลในนานกิงด้วย

ถึงสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม สตรีและเด็กหลายพันคนก็มุ่งหน้าสู่ค่ายอพยพในวิทยาลัยจินหลง ผู้อพยพเดินทางผ่านเข้าประตูเมืองในอัตราวันละหนึ่งพันคน คนเหล่านี้มาในสภาพหิวโหย หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่รู้เหนือรู้ใต้ มีเพียงเป้ใบเล็กที่มีเสื้อผ้าไม่กี่ชิ้น

มินนียอมให้หญิงสาวและเด็กๆ เข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ ได้อย่างเสรี แต่สำหรับผู้สูงอายุ เธอขอร้องให้พวกนางอยู่เฝ้าบ้าน ทั้งนี้เพื่อให้มีที่เหลือพอสำหรับสาวๆ ซึ่งต้องเสี่ยงอันตรายมากกว่า แต่ก็มีไม่กี่คนที่ยินดีทำตามนั้น หญิงส่วนใหญ่อ้อนวอนขอแค่มีที่นั่งบนสนามหญ้าก็พอ

ถึงคืนวันที่ 15 ธันวาคม ปี 1937 จำนวนผู้อพยพในวิทยาลัยจินหลิงมีจำนวนกว่า 3,000 คน

เช้าวันรุ่งขึ้น ทหารญี่ปุ่นกว่าร้อยนายบุกเข้ามาที่วิทยาลัย สั่งให้เปิดประตูทุกบานเพื่อค้นหาทหารจีน ทหารญี่ปุ่นเข้ามาลากภารโรง ซึ่งคงต้องถูกฆ่าแน่ๆ หากรักษาการอธิการบดีอย่างมินนีต้องวิ่งออกไปร้องตะโกนบอกเสียงหลงว่า “กุลี! ไม่ใช่ทหาร!”

เธอรู้ในเวลาต่อมาว่า ฝ่ายญี่ปุ่นเตรียมปืนกลมาที่วิทยาลัยถึง 6 กระบอก ทั้งยังมีทหารจำนวนมากเฝ้าอยู่ข้างนอกพร้อมจะยิงทุกคนที่คิดหนี เหตุการณ์ในวันถัดมายิ่งเลวร้าย หญิงชาวจีนอพยพเข้าสู่วิทยาลัยแน่นขนัดกว่าเก่า

ตลอดเวลาหลายเดือน มินนีคอยปกป้องผู้อพยพสตรีและเด็กที่วิทยาลัยจินหลิง ขณะที่ทหารญี่ปุ่นก็ตามรังควานไม่ลดละ ไมว่าจะเป็นการทำร้าย/สังหารคนงานชาวจีนของวิทยาลัย, แอบลักพาเด็กสาวที่วิทยาลัยไปไว้ในซ่องของกองทัพ, มินนีเองก็ถูกทหารญี่ปุ่นทำร้ายร่างกายหลายครั้งเช่นกัน

หากหลายครั้งมินนีก็ถูกกดดันแบบไม่มีทางปฏิเสธ เช่น วันที่ 24 ธันวาคม ปี 1937 มินนีถูกเรียกไปพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่มินนีบันทึกไว้ว่า “พวกเขาขอเข้าไปเลือกเอาเฉพาะโสเภณีออกไปจากกลุ่มผู้อพยพนับหมื่นคนในค่าย…บอกด้วยว่า หากให้ทหารมีสถานที่ (ปลดปล่อย) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว พวกนั้นจะได้ไม่เที่ยวตามรบกวนผู้หญิงดีๆ”

มินนีเฝ้าคอยขณะฝ่ายญี่ปุ่นเข้าไปเลือกผู้หญิงอยู่เป็นเวลานาน และที่สุดได้ไป 21 คน หากก็ไม่ค่อยพอใจเพราะคิดว่าในค่ายน่ามีเลือกโสเภณีได้มากกว่ากว่านี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ฉัตรนคร องคสิงห์. หลั่งเลือดที่นานกิง, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 10 มีนาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2565