Don’t Cry Nanking 1937 อนุสรณ์แห่งความขมขื่น การสังหารหมู่แห่งนานกิง

ปฏิมากรรมนูนสูงบนผนังเรื่อง "สังหารโหด" แสดงการทารุณกรรมต่อชาวจีนในเหตุการณ์ การสังหารหมู่แห่งนานกิง

การสังหารหมู่แห่งนานกิง บทเรียนประวัติศาสตร์อันแสนขมขื่น

“อดีตไม่ลืม เป็นบทเรียนแห่งอนาคต”

วลีอมตะของอดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินหลาย แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้ให้ไว้ในคราวฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อคริสต์ศักราช 1972 หรือหลังจากที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีนได้ 41 ปี

“ประวัติศาสตร์คือเครื่องเตือนใจ มิให้หวนคืน”

อีก 2 วลีที่อดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ได้ให้ไว้ในคราวเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในคริสต์ศักราช 1998 ภายหลังจากได้ฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาได้ 26 ปี

ปัจจุบันวลีทั้ง 4 วรรคนี้ ได้ถูกจารึกไว้บนผนังกําแพงที่อนุสรณ์สถานรําลึกการสังหารหมู่ของกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานประเทศจีนแห่งหนานจิง ณ นครหนานจิง  มณฑลเจียงซู ..เสมือนหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องเตือน ความทรงจําอันเจ็บปวดและขมขื่นจากประวัติศาสตร์ในอดีต และเพื่อใช้เป็นบทเรียนสอนใจแห่งอนาคต

ผมยังจําได้ดีว่า เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2544 ท่ามกลางฝนพรําฟ้าเปียกชื้น และรถติด อย่างสาหัสสากรรจ์ ผมมาอยู่ที่หน้าโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร ยืนดูใบปิดโฆษณาภาพยนตร์จีนเรื่อง “Don’t Cry Nanking” หรือในชื่อพากย์ภาษาไทยว่า “สงครามอํามหิตปิดตาโลก” ผมมาถึงที่นี่ช้าเกินไป 30 นาที จึงพลาดโอกาสเข้าชมรอบสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปอย่างช่วยไม่ได้ แม้ว่าผมจะได้เผื่อเวลามากว่าครึ่งชั่วโมงแล้วก็ตามที

“ไม่เป็นไร อีกไม่ถึง 2 เดือน วิดีโอหรือวีซีดีของหนังเรื่องนี้ก็จะออก เมื่อนั้นค่อยดูกัน”

ผมปลอบใจตัวเองแล้วกางร่มเดินไปขึ้นรถกลับบ้าน กลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ผมได้มีโอกาสเดินทางลุยเดี่ยวมายังนครหนานจิง หรือที่คนไทยเราเรียกกันมาติดปากว่า “นานกิง” เมืองหลวงของมณฑลเจียงซู อดีตราชธานีอันเก่าแก่ใน 6 ราชวงศ์ ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน

ในช่วงระยะเวลา 1 วันครึ่ง ผมพยายามจัดสรรเวลาที่มีอยู่เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมและเก็บข้อมูลในสถานที่ต่าง ๆ ตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ และสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งผมมิยอมให้พลาดในรายการอย่างเด็ดขาดนั่นก็คือ อนุสรณ์สถานรําลึกการสังหารหมู่แห่งหนานจิง ตัวแทนสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ อันเป็นที่สุดแห่งความขมขื่นของชาวจีนทั้งประเทศที่มีต่อชาวญี่ปุ่น

เพราะก่อนหน้าจะเดินทางมาเพียง 2 วัน ผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากที่พลาดจากจอเงิน จึงมาดูผ่านจอแก้วทางแผ่นวีซีดีอีกครั้ง ภาพทุกภาพของเหตุการณ์ได้สร้างความหดหูใจแก่ผมเป็นอย่างยิ่ง และในเวลาเดียวกันก็ได้สร้างปรัศนีขึ้นในหัวใจของผมว่า เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้มีภาพจริงทางประวัติศาสตร์หรือไม่? และทําไมชาวจีนถึงมีความคุมแค้นอย่างลึก ๆ กับชาวญี่ปุ่นมาจวบจนถึงปัจจุบัน และพร้อมที่จะปะทุขึ้นในทุกโอกาส เมื่อมีเหตุการณ์มาเป็นเชื่อจุดระเบิดขึ้น?

ผมมาถึงอนุสรณ์สถานแห่งนี้ในเวลาบ่าย 4 โมงเย็น ท้องฟ้าดูขมุกขมัว เสมือนหนึ่งกําลังร่วมสร้างบรรยากาศอันเศร้าสร้อย ในการได้มารําลึกถึงอดีตอันน่าสลดใจที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติบนผืนโลก

สัญลักษณ์อันโดดเด่นที่ผมมองเห็นมาได้แต่ไกลของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ก็คือ เสาหินที่ก่อด้วยอิฐสีเทาทีมเป็นรูปกากบาท สูงชะลูดกว่า 12.13 เมตร ด้านบนจารึกเป็นตัวเลข

“1937.12.13-1938.1”

นั่นคือช่วงระยะเวลาราว 6 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่กองทหารแห่งจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นได้บุกเข้ารุกรานนครหนานจิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐจีนในขณะนั้น ภายใต้การนําของจอมพลเจี่ยงเจี้ยสือ (เจียงไคเช็ค) และในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่กองทหารญี่ปุ่นได้ก่อเหตุการณ์สังหารหมู่กับทหารและพลเรือนผู้บริสุทธิ์ชาวหนานจิง

อนุสาวรีย์ การสังหารหมู่แห่งนานกิง
เสาหินสีเท่าทึบเป็นรูปกากบาท แสดงระยะเวลา 6 สัปดาห์ของ การสังหารหมู่แห่งนานกิง (หนานจิง)

ถัดมาที่ตอนกลาง มีเสาสามเหลี่ยมสีดํา 3 เสา ด้าน บนมีห่วงกลมล้อมอยู่ด้านใน 5 ห่วง เสาสีดํา 3 เสาเป็น สัญลักษณ์แทนเลข “3” วงกลม 5 ห่วงเป็นสัญลักษณ์แทน เลข “0” 5 ตัว เมื่อรวมกันแล้วนั่นคือ “300,000” หมายถึงกองทหารญี่ปุ่นได้สังหารโหดชาวจีนในช่วงเหตุการณ์เพียง 6 สัปดาห์นั้นไปถึง 300,000 คนเลยที่เดียว!

มองไปเบื้องหน้าทางขวามือ แลเห็นตัวอักษรจีน 16 ตัว จารึกด้วยสีขาวอยู่บนแผ่นหินสีดํา “อดีตไม่ลืม เป็น บทเรียนแห่งอนาคต” “ประวัติศาสตร์คือเครื่องเตือนใจ มิให้หวนคืน” เป็นวลีของอดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินหลาย รวมกับอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ที่ได้ให้ไว้ในต่างกรรมต่างวาระกัน

เมื่อเดินเลี้ยวซ้ายไปยังด้านหลังจะเห็นรูปสลักหินสูง 4 เมตร ที่มีชื่อเรียกว่า “เสียงโหยหวนแห่งมารดา” รูป สลักหินนี้สร้างขึ้นตามภาพถ่ายจริงในช่วงเหตุการณ์นั้นของบาทหลวงชาวอเมริกันคนหนึ่งผู้มีนาม โยฮัน มาเกส ซึ่งท่านได้จับภาพหญิงสาวในวัยราว 30 ปีคนหนึ่ง ผู้กําลังอยู่ในอิริยาบถมือซ้ายยื่นไปเบื้องหน้า ขณะที่มือขวากําหมัดแน่น ท่วงท่ากําลังวิ่ง และดวงตาทั้งคู่เสมือนหนึ่งกําลังมองหาบุตรน้อยอันเป็นที่รักของนางซึ่งได้ถูกพลัดพรากไป รูปสลักนี้สร้างขึ้นเพื่อเสมือนเป็นภาพตัวแทนแห่งความทุกข์ระทมของชาวหนานจิงทั้งปวงที่ได้ถูกกระทําจากผู้รุกราน

จากรูปสลักเดินไปตามทางด้านหลัง มีอาคารที่ก่อสูงขึ้นมาราวชั้นครึ่ง สายตาเมื่อมองไปปราดแรกก็พลันตะลึงทันทีที่พบเห็น เพราะภาพที่ปรากฏเบื้องหน้านั่นคือกองกระดูกที่ถูกฝังทับซ้อนกันนับได้ถึง 208 ศพ ในพื้นที่ประมาณ 170 ตารางเมตร หลุมศพที่จัดแสดงเฉพาะบางส่วนให้เห็นนี้ถูกขุดค้นพบเข้าโดยบังเอิญในบริเวณที่ตั้งของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1998 ที่ผ่านมา หรือหลังจากที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้เปิดทําการมาราว 13 ปี มีชื่อเรียกว่า “หลุมหมื่นศพ”

จากการขุดแต่งหลุมและผลการตรวจสอบจากห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า มีซากศพตั้งแต่เด็กอายุ 3 ขวบ ไปจนถึงคนชราอายุเกือบ 70 ปี กองกระดูกเหล่านี้ถูกฝังอยู่ชั้นใต้ดินมานานแล้วกว่า 60 ปี หลาย ๆ ศพมีร่องรอยของการถูกทารุณกรรมก่อนถูกสังหาร เช่น บนกะโหลกศีรษะมีรูจากการถูกตอกตรง หรือแขนขาและลําตัวอยู่ในสภาพที่เสมือนหนึ่งถูกของมีคมฟาดฟันก่อนสิ้นใจ

เดินตรงมุ่งหน้าต่อไปจะเข้าสู่อาคารแสดงภาพเหตุการณ์ 6 สัปดาห์แห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ห้องนิทรรศการที่จัดแสดง เรียงตามลําดับเหตุการณ์ได้อย่างสมจริง ก็ทําให้ผมเสมือนหนึ่งได้หลุดเข้าไปสู่ ณ ห้วงยามของเหตุการณ์ที่ย้อนกลับเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ในวันที่กองทัพแห่งลูกพระอาทิตย์ได้เหยียบย่างเข้ารุกรานสู่ผืนแผ่นดินมังกรแห่งนี้ ตัดสลับกับภาพเหตุการณ์จากภาพยนตร์ที่ราวกับว่ายังคงโลดเต้นอยู่อย่างเร่า ๆ ในทุกโสตประสาทของผมมาจนถึงปัจจุบัน

18 กันยายน ค.ศ.1931

กองทัพจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นได้กรีธาทัพใหญ่เข้ายึดครองดินแดน 3 มณฑลทางภาคอีสานของจีน หรือที่เรียกว่า ดินแดนแมนจูเรีย อันได้แก่มณฑลเฮยหลงเจียง, เหลียวหนิง และจี้หลิน จากนั้นจึงได้อุปโลกน์อัญเชิญอดีตจักรพรรดิผู่อี๋ (ปูยี) จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง ที่ถูก ดร.ซุนจงซาน (ซุนยัตเซ็น) โค่นล้มลงไปในปี ค.ศ.1911 ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนที่เรียกชื่อใหม่ว่า “แมนจูกัว” (หม่านจูกัว) ภายใต้เงื่อมเงาของญี่ปุ่น แม้จะมีการต่อต้านจากขุนศึกจอมทัพและขบวนการชาตินิยมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากแต่รัฐบาลส่วนกลางที่นําโดยจอมพลเจี่ยงเจี้ยสือกลับนิ่งเฉย ทําให้แลดูเสมือนหนึ่งยอมก้มศีรษะให้กับชาติจักรวรรดินิยม และกลับหันมามุ่งแต่จะกําจัดพรรคคอมมิวนิสต์ภายในประเทศที่กําลังแข็งแกร่งขึ้น แทนที่จะทําลายล้างศัตรูผู้รุกราน

7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937

ได้เกิดเหตุการณ์สําคัญที่ชาวจีนเรียกกันว่า “เหตุการณ์ตองเจ็ด” หรือ “หลูโกวเฉียวซื่อเปี้ยน  วิกฤตการณ์สะพานมาร์โคโปโล” นั่นคือ วันที่ 7 เดือน 7 ปี 1937 กองทหารลูกพระอาทิตย์ได้ก่อเหตุการณ์ตะวันเพลิงขึ้นที่สะพานหลูโกวเฉียว หรือรู้จักกันดีในนามสะพานมาร์โคโปโล ใกล้กรุงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) จุดพลิกฝันเหตุการณ์ที่สําคัญของสงครามกล่าวคือ ในวันนั้นทหารญี่ปุ่นได้มาซ้อมรบอยู่ที่อําเภอหว่านผิง ใกล้สะพานมาร์โคโปโล แล้วอ้างว่ามีทหารญี่ปุ่นได้สูญหายไปคนหนึ่ง จึงเข้าบุกค้นบ้านเรือนของราษฎรและสถานที่สําคัญต่าง ๆ ฝ่ายทหารจีนที่รักษาการณ์อยู่ได้ประท้วง แต่กองทหารญี่ปุ่นไม่พอใจ จึงเกิดการปะทะกันขึ้นครั้งแรกที่สะพานมาร์โคโปโลแห่งนั้น

นับจากเหตุการณ์ในวันนั้น กองทัพจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นก็ได้เสริมกําลังเข้าภาคเหนือของจีน เพื่อเปิดฉาก สงครามรุกรานจีนทั้งประเทศ จนกระทั่งในปลายเดือนกรกฎาคมนั้นเอง ทหารญี่ปุ่นก็ได้บุกเข้าโจมตีกรุงเป่ยจิง และนครเทียนจิน (เทียนสิน) อย่างหนัก และสามารถยึดทั้งสองเมืองดังกล่าวไว้ได้ จากนั้นจึงกระจายกําลังเข้ายึดครองจีนภาคเหนือเป็นการใหญ่

13 สิงหาคม ค.ศ. 1937

ทหารญี่ปุ่นขยายสงครามเข้าสู่จีนภาคบูรพา บุกเข้าโจมตีเมืองเศรษฐกิจที่สําคัญในภูมิภาคนี้คือนครช่างไห่ (เซียงไฮ้) ได้สร้างกระแสคุกคามรัฐบาลกว๋อหมินต่าง (ก๊กหมินตั๋ง) ที่นครหนานจิงที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่ไกลอย่างรุนแรง ในสภาพเช่นนี้นี่เอง จอมพลเจี่ยงเจี้ยสือจึงถูกบีบคั้นอย่างหนัก จําเป็นต้องหันมาสู้รบกับกองทัพลูกพระอาทิตย์

ภายใต้สถานการณ์ที่คับขันดังกล่าว กองทัพกว๋อหมินต่างได้เกณฑ์ทหารชาวจีนกว่า 700,000 คน ผสานกับกองกําลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมีจอมพลเจี่ยงเจี้ยสือมาบัญชาการรบในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อต่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นผู้รุกราน การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านในทุกสมรภูมิ แต่แล้วกองกําลังของพรรคกว๋อหมินต่างก็มิอาจต้านทานแสนยานุภาพของทหารญี่ปุ่นได้ นครช่างไฮได้ถูกยึดในวันที่ 12 พฤศจิกายน หลังจากการต่อสู้อันยาวนานกว่า 3 เดือน ผลจากการศึกในครั้งนั้น ทหารญี่ปุ่นตายไปมากกว่า 40,000 คน ฝ่ายทหารจีนบาดเจ็บและล้มตายไปถึงกว่า 200,000 คน

เมื่อช่างไห่แตก ชาวจีนต่างแตกฉานซ่านเซ็นกันไปคนละทิศละทาง บางคนก็อพยพหนีมาอยู่ที่นครหนานจิง เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ได้เล่าสะท้อนถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ คือเชงเสียน ศัลยแพทย์ชาวจีน ตัวเอกของเรื่อง ผู้แต่งงานกับเรโกะ สาวชาวญี่ปุ่น ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน รวมทั้งที่ยังอยู่ในท้องของเรโกะด้วย ได้พากันอพยพหนีภัยสงครามจากช่างไฮ่ เพื่อหมายมาอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หนานจิง แต่ทั้งคู่ก็เหมือนหนึ่งหนีเสือมาปะจระเข้

เพราะหลังจากที่ช่างไห่ถูกยึด กองทัพทหารญี่ปุ่นก็มิรอช้าที่หมายจะยึดนครหนานจิงให้ได้ทันที โดยได้ยกพล เคลื่อนผ่านเข้ายึดเมืองซูโจว ในวันที่ 19 พฤศจิกายน, เมืองหวูซี ในวันที่ 27 พฤศจิกายน, เมืองฉางโจว ในวันที่ 29 พฤศจิกายน และเมืองเจิ้งเจียง ในวันที่ 9 ธันวาคม

20 พฤศจิกายน ค.ศ.1937

ในระหว่างที่กองกําลังญี่ปุ่นทางบกได้บุกเคลื่อนทัพมายังข้างหน้า บนน่านฟ้าก็ได้ระดมทิ้งระเบิด โดยมีเป้าหมายที่จะยึดนครหนานจิง เมืองหลวงของรัฐบาลกว๋อหมินต่างประมาณการว่าในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนได้มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่หนานจิงถึงกว่า 650 เที่ยว ได้ทําลายชีวิต บ้านเรือน และทรัพย์สินไปอย่างคณานับ

เป็นเหตุให้รัฐบาลพรรคกว๋อหมินต่างต้องตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากนครหนานจิง ถอยร่นไปอยู่ที่เมืองฉงชิง (จุงกิ่ง) ทางตอนกลางของประเทศแทน ในวันที่ 20 ของเดือนพฤศจิกายน โดยได้ทิ้งทหารไว้รักษานครหนานจิง 100,000 คน และแต่งตั้งให้แม่ทัพถึงเซิงจวื้อ เป็นผู้บัญชาการทหารรักษานครหนานจิง

10 ธันวาคม ค.ศ. 1937

กองทหารซามูไรก็เคลื่อนพลมาถึงชานนครหนานจิง แม่ทัพถังเซิงจวื้อได้ระดมพลยกทัพออกไปต้าน ทว่าหลังจากที่สู้รบกันอยู่ในหลายสมรภูมิได้ราวเพียง 3 วัน กองทัพกว๋อหมินต่างก็ได้ล่าถอยยอมแพ้ต่อกองทัพลูกพระอาทิตย์ ในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 12 ธันวาคมนั้นเอง

13 ธันวาคม ค.ศ. 1937

วันแห่งประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติได้ถูกจดจารจารึกไว้ เมื่อกองทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนทัพเข้าสู่ประตูเมืองอันมั่นคงแข็งแกร่ง ที่สร้างมาแต่ครั้งสมัยราชวงศ์หมิงของนครหนานจิงทั้ง 13 ประตู โดยเริ่มเข้าทางประตูจงฮวาเหมินเป็นแห่งแรก และนับจากนั้นไปอีก 6 สัปดาห์ กองทหารญี่ปุ่นก็ได้เริ่มปฏิบัติการเข่นฆ่าหมู่ต่อประชาชนชาวหนานจิงไปถึงกว่า 300,000 คน!!

จากภาพในหอนิทรรศการผสานกับฉากในภาพยนตร์ ทําให้เราเห็นภาพนี้ได้อย่างแจ่มชัดที่กองทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนทัพผ่านเข้ามายังประตูเมืองเหล่านี้ แล้วไล่ฆ่าผู้คนพร้อมจุดไฟเผาบ้านเรือนจนเมืองทั้งเมืองแทบร้างเต็มไปด้วยซากปรักหักพังและขี้เถ้ากองเพลิง ในขณะที่เชงเสียนและเรโกะ ต้องอาศัยอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะจะเปิดตัวอยู่ข้างชาวจีน ชาวจีนก็รับไม่ได้ จะอยู่ข้างญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็รับไม่ได้เช่นกัน เพราะความเป็นคนญี่ปุ่นของเรโกะ ทําให้คนจีนไม่ยอมรับ เพราะเลือดรักชาติกําลังคุกรุ่นร้อนแรง เมื่อประเทศชาติกําลังถูกญี่ปุ่นย่ำยีรุกราน หรือความเป็นคนจีนของเชงเสียน หัวหน้าครอบครัวก็ต้องประสบภัย เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองเมืองได้สําเร็จ และดําเนินการปราบปรามกวาดล้างชาวจีนให้สิ้นซาก

ภาพถ่ายของการเข่น ฆ่า สังหาร จนศพท่วมถมทับดุจกองภูเขาเลากา บางภาพก็ถ่ายให้เห็นศพที่ถูกนําไปกองทิ้งไว้เต็มเกลื่อนบนฝั่งแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี) บางภาพก็แสดงถึงการทรมานเพื่อสังหารอย่างเลือดเย็น มองชีวิตเพื่อนมนุษย์ “อีกฝ่ายหนึ่ง” เป็นดังผักปลา จะกระทําย่ำยีบีฑาอย่างไรก็ได้ และภาพอื่น ๆ อีกมากมายอันน่าประหวั่นพรั่นพรึงและสยดสยองในความรู้สึกเป็นยิ่งนัก

ภาพที่สะท้านใจผมมากที่สุดอีกภาพหนึ่งก็คือ ภาพของนายทหารนักฆ่า 2 คน ที่ยืนอย่างมาดมั่นอหังการให้ช่างภาพของหนังสือพิมพ์โตเกียวเดลินิวส์ (Tokyo Daily News) ถ่ายภาพหลังจากในวันนั้น ทั้งสองเพิ่งสังหารหมู่ชาวจีนที่เชิงเขาจื่อจินซาน  ชานนครหนานจิงโดยบินสุเกะ มูไก (Binsuke Mukai) ได้สังหารไป 106 คน ส่วนของอิวา โนดะ (Iwa Noda) ได้คร่าชีวิตไป 105 คน และทั้งสองยังให้สัมภาษณ์อย่างเลือดเย็นอีกว่า การเข่นฆ่ายังจะคงดําเนินต่อไปจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่ 150 ชีวิตต่อคนต่อวัน! โอ้พระเจ้า!!!

หนังสือพิมพฺโตเกียวเดลินิวส์ ลงภาพข่าวสดุดีการฆ่าของมือเพชฆาตสองคน

ในตอนนี้ภาพยนตร์ได้สร้างฉากให้เห็นตอนหนึ่งว่าทําไมชาวจีนจึงถูกสังหารมากถึงเพียงนี้ โดยถ่ายทําฉากนายทหารญี่ปุ่นสั่งฆ่ายิงกราดต่อทหารจีนที่ตกเป็นเชลยศึกรวดเดียวถึงหลายพันคน เพียงเพราะต้องการแก้ปัญหาความลําบากที่จะหาข้าวให้ทหารเหล่านี้ได้กินกัน ที่น่าสลดหดหู่กว่านั้นก็คือ คนจีนที่รอดตายได้หนีกระเสือกกระสนไปหลบภัยอยู่ในเขตปลอดภัยที่หน่วยกาชาดสากลและองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติ ที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเป็นเขตภัยสงคราม ปลอดอาวุธ และปลอดทหาร บนเนื้อที่ประมาณ 3.8 ตารางกิโลเมตร แต่แออัดยัดเยียดไปด้วยผู้ประสบภัยถึงกว่า 250,000 คน แต่ถึงกระนั้นทหารซามูไรก็ยังไม่หนําใจ นํารถถังบุกเข้าทําลายเขตลี้ภัยสงครามนี้ โดยไม่ฟังเสียงตัวแทนจากนานาชาติที่เข้าขวางกั้น

พวกเขาเหล่านี้บุกเข้าไปก็เพียงเพื่อต้องการปล้น ฆ่า และฉุดคร่ากระทําชําเรา ไม่ว่าจะเป็นสาวแก่แม่ม่ายหรือแม้กระทั่งแต่เด็ก ๆ รวมถึงเชงเสียนและเรโกะ ก็ได้จบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า ณ เขตภัยสงครามแห่งนี้ด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ในครั้งนี้นี่เองที่ได้ถูกบันทึกไว้ และได้รับการขนานนามว่าเป็นความอัปยศครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกที่เรียกว่า “การกระทําชําเราแห่งหนานจิง” หรือ “The Rape of Nanking”

เลือดของประชาชนและทหารไหลนองไปทั่วลําน้ำหวงผู่ ย้อมมหาธาราฉางเจียงที่ไหลผ่านกลางนครหนานจิงจนแดงฉาน ย้อมแผ่นดินจีนภาคตะวันออกให้กลายเป็นสีเลือด ประวัติศาสตร์หน้านี้ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยเลือดสด ๆ ของประชาชาติจีนที่โลกจะไม่มีวันลืมเลือน!!!

ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงเมื่อทหารคนหนึ่งได้พาสาวคนรักซึ่งเป็นครูสอนหนังสือที่อยู่ในสภาพอาการปางตายให้หลบหนีไปได้พร้อมกับเด็ก ๆ ผู้เป็นความหวังแห่งอนาคตอีกจํานวนหนึ่ง นั่งบนเรือสําเภาออกไปสู่ผืนท้องทะเลกว้าง แม้พวกเขาเหล่านั้นยังไม่รู้ถึงจุดหมายว่ากําลังจะมุ่งไปสู่อะไร? หากแต่คันหางเสือเรือสําเภาลํานั้นกําลังฝ่าเกลียวคลื่นอันเชี่ยวกรากมุ่งไปสู่ทิศทางแห่งขอบฟ้าที่มีแสงแห่งอรุโณทัยอันเรื่องรองรออยู่แต่ ณ เบื้องหน้า ก็คงจะพอให้เห็นถึงความหวังของชีวิตที่ยังไม่สิ้นไร้ไม้ตอกไปเสียเลยทีเดียว

Don’t Cry Nanking ได้รุดม่านปิดฉากลงแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ชะตากรรมของคนจีนทั้งประเทศยังคงต้องแบกรับกับความยากแค้นอย่างแสนสาหัสของสงครามการต่อต้านผู้รุกรานไปอีกถึงกว่า 7 ปี รัฐบาลกว๋อหมินต่างกับกองกําลังพรรคคอมมิวนิสต์ที่นําโดยเหมาเจ๋อตง ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น การต่อสู้เกิดขึ้นเกือบทุกสมรภูมิในประเทศจีน

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1944 ญี่ปุ่นได้เริ่มเพลี่ยงพล้ำในหลายสมรภูมิ เพราะการเปิดศึกหลายด้านและความอ่อนล้าของกองกําลังและหลังจากที่เยอรมนีได้ยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไขใน วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ถัดจากนั้นมาอีก 3 เดือน คือในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม สหรัฐอเมริกาก็ได้ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกลงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เวลา 12.00 น.

หลังจากถูกระเบิดนิวเคลียร์ทําลายล้าง 2 เมืองใหญ่ ไปได้ 6 วัน ผู้นําสูงสุดของญี่ปุ่นคือจักรพรรดิฮิโรฮิโตจึงได้ประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศในเอเชียบูรพาทั้งหลายต่างโห่ร้องไชโยกันไปทั่วโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวจีนทั้งประเทศ

เติ้งจวอหลิน ภรรยาของเติ้งเสี่ยวผิงได้เคยเล่าให้เหมาเหมา บุตรสาวฟังถึงความปีติลิงโลดใจของกองทหารพรรคคอมมิวนิวต์จีนที่ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองหยานอาน ทางตอนเหนือของมณฑลส่านซี ต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ทันทีที่คนทยานอานได้ยินข่าวชัยชนะ ทั่วทั้งภูเขาก้องกระทุ่มไปด้วยเสียงไชโยโห่ร้อง ผู้คนหัวเราะ กระโดดโลดเต้น ตีฆ้องกลองจุดประทัด คนไหนหาประทัดจุดไม่ได้ ก็อุตส่าห์ฉีกเสื้อผ้าหรือฉีกสําลีออกมาจากผ้าห่มเอามาจุดไฟ แสดงความยินดีปรีดา

ทั่วทั้งหยานอาน ทั่วทั้งประเทศจีน พริบตาเดียวกลายเป็นมหาสมุทรแห่งความเริงร่า…”

สงครามต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นผู้รุกราน ในช่วง 8 ปีอันขมขื่นที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ได้จบลงด้วยชีวิตของทหารจีนกว่า 4 ล้านคน และประชาชนจีนบาดเจ็บล้มตายลงอีกกว่า 18 ล้านคน โดยเฉพาะการสังหารหมู่ที่หนานจิงนี้ ถือเป็นตัวแทนแห่งความโหดร้ายและอัปยศที่สุดของ มหาสงครามโลกครั้งที่ 2

มีซากศพที่ถูกขุดค้นพบโดยองค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ นับรวมได้ถึงกว่า 185,000 ศพ ยังไม่รวมถึงอีก กว่า 100,000 ร่างที่ถูกเผาและสูญหายไป เมื่อรวมแล้วจึงคะเนผู้เสียชีวิตได้ราว 300,000 คน จะเป็นรองก็เพียงเฉพาะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่า 6 ล้านชีวิตของนาซีเยอรมันเท่านั้น

ผู้บัญชาการทหารของญี่ปุ่นที่สั่งการสังหารหมู่แห่ง หนานจิงใน 6 สัปดาห์นั้น คือโคโซอูฟู (Kosoufu) ในวัย 66 ปี ได้ถูกตัดสินคดีโดยคณะตุลาการจาก 11 ชาติ ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1947 ให้ประหารชีวิตโดยการยิงเป้าที่ประตูจงฮวาเหมิน ประตูเมืองแห่งแรกที่เขาได้เคลื่อนพลทั้งกองทัพเข้าเหยียบย่ำนคร หนานจิงแห่งนี้ ให้ตกตายไปรับใช้กรรมร่วมกับอาชญากรสงคราม ผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่อีก 28 คน ที่ได้ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว

ผู้กระทําความผิดได้ถูกชดใช้กรรมไปแล้ว แต่เหยื่อผู้บริสุทธิที่ถูกกระทํา และยังมีลมหายใจอีกจํานวนมาก ใครล่ะที่จะชดใช้ความรู้สึกอันเจ็บปวดอย่างทุกข์ทร ทรมานที่พวกเขาได้รับอยู่ บาดแผลทางกายนั้นรักษาได้ไม่ยาก..แต่บาดแผลทางใจนี้สิ จะรักษาได้ฉันใด?

เสา หินอ่อน ไถ่บาป ของ ญี่ปุ่น การสังหารหมู่แห่งนานกิง
เสาหินอ่อนศิลปะญี่ปุ่นจารึกอักขระเสมือนเป็นการขอไถ่บาป

ผมเดินออกจากห้องนิทรรศการนั้นมาด้วยความรู้สึกที่สลดหดหูจนพูดไม่ออกบอกไม่ถูก แล้วเดินไปตามทางขึ้นบันไดไปราว 8 ขั้น แลเห็นกําแพงหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “กําแพงร่ำให้” จดจารรายชื่อ 3,000 นามของผู้วายชนม์ ตัวแทนแห่ง 300,000 ดวงวิญญาณที่ถูกปลิดปลงราวใบไม้ร่วงไปจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่ด้านหน้ามีผู้นําช่อดอกไม้มาเซ่นสรวงรําลึก ที่ใกล้ ๆ กันนั้นมีเสาหินอ่อนสีขาวที่ด้านบนทําเป็นรูปหลังคาเก๋งศิลปะแบบญี่ปุ่น สลักตัวอักษรไว้ 5 ตัว แปลความได้ว่า “ชดใช้ความผิด เพื่อปลอบขวัญดวงวิญญาณ”

ถัดจากกันมาไม่ไกล มีพวงมาลาที่เขียนตัวอักษรญี่ปุ่นมาวางไว้เพื่อสักการะ ด้านข้างมีแผ่นพับที่ผูกแขวนด้วยเส้นด้ายสีแดง เป็นตัวอักษรภาษาจีนและญี่ปุ่นเขียนไว้ว่า

“จีน-ญี่ปุ่น มิตรภาพอันนิรันดร์กาล ท่าน-เรา ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 สมาคมมิตรภาพทั้งสองประเทศได้ร่วมกันปลูกต้นเชอร์รี่ที่สวนสาธารณะมิตรภาพแห่งเมืองหวูซี โดยในปีแรกมีมิตรสหายชาวญี่ปุ่น 1,200 คน มาเยี่ยมเยือนประเทศจีน พร้อมนําพันธุ์ต้นเชอร์รี่ 3,000 ต้น มาร่วมปลูกกับชาวจีนและนับจากนั้นมาทุกปี เพื่อนชาวญี่ปุ่นจะมาเยือนที่สวนมิตรภาพแห่งนี้ เพื่อผูกร้อยเป็นเส้นทางแห่งมิตรภาพอันยืนยาวของเราทั้งสองประเทศ

ประเทศจีนมีประชากร 1,200 ล้านคน ญี่ปุ่น 120 ล้านคน (ในขณะนั้น-ผู้เขียน) รวมกันแล้วเท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรโลก ฉะนั้น มิตรภาพของเราทั้งสองประเทศ ย่อมจะรังสรรค์สันติภาพให้แด่มวลมนุษยชาติได้อย่างสถาพรสืบไป”

ส่วนด้านหลังมีบทเพลงที่คีตกวีจีน-ญี่ปุ่น ได้ร่วมกันประพันธ์ขึ้นเพื่อให้นักร้องของทั้งสองประเทศเกี่ยวแขนคล้องใจกันร้องเพื่อสดุดีมิตรภาพอันยืนยาว บทเพลงนี้มีชื่อว่า “นกกระเรียนพันตัวเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น” มีเนื้อร้องในตอนหนึ่งว่า

“เส้นด้ายสีแดง ผูกร้อยดวงใจ ฉันฝากนกกระเรียนพันตัว ไปคล้องในใจของเธอ
นกกระเรียนนํามิตรภาพอันล้ำลึกยิ่งกว่าหัวงท้องมหาสมุทร
โบยบินไปอยู่เคียงข้างกายเธอ เชื่อมร้อยความสัมพันธ์เพื่อเป็นหนึ่งเดียว
เส้นด้ายสีแดง ผูกร้อยดวงใจ ฉันฝากนกกระเรียนพันตัว บินข้ามขอบนภาและปุยเมฆขาว
เพื่ออํานวยพรให้มิตรภาพของเรา ยืนหยัดอย่างยาวนาน ผ่านทุกห้วงฤดูกาล
โบยบินไปอยู่เคียงข้างกายเธอ เชื่อมร้อยความสัมพันธ์เพื่อเป็นหนึ่งเดียว

ดอกเชอร์รี่กําลังบานสะพรั่งอยู่ที่บ้านเธอ ช่วยเสริมสร้างความงาม
เป็นตัวแทนแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ของเราทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียว
ปุยหิมะขาวบนยอดเขาฟูจิที่บ้านฉัน ช่วยเสริมสร้างความงาม
เป็นตัวแทนแห่งมิตรภาพที่คล้องใจฉันและเธอ ให้อยู่ยืนยงไปตราบนิรันดร์กาล”

นี่อาจเป็นเพียงความเพียรพยายามบางส่วนในการ “สมานรอยร้าว เชื่อมความสัมพันธ์” ในระดับขององค์กร เอกชน หรือสมาคมมิตรภาพของชนทั้งสองชาติ ที่ได้พยายามกระทําต่อเนื่องกันมาในระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา

แต่ในระดับที่เป็นทางการแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่เคยเอ่ยคํา “ขอโทษ” ต่อเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ และแบบเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นฉบับที่ผ่านการอนุมัติ แก้ไขล่าสุด (5 เมษายน พ.ศ. 2548) ก็ยังคงเรียก “เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ 300,000 คนแห่งหนานจิง” นี้ เพียงว่า “เหตุการณ์หนานจิงมีชาวจีนเสียชีวิตเป็นจํานวนมาก” เท่านั้น จนทําให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในปัจจุบัน ต้องตกต่ำเลวร้ายลงเป็นที่สุดในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ได้ฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันมา

หรือว่าทางการญี่ปุ่นจะมีแนวความคิดชาตินิยมจนทําให้เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเพียง “โศกนาฏกรรม ของเผ่าพันธุ์ชาวจีนที่โลกลืม” ดังคําโปรยของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเสียแล้ว?!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “Don’t Cry Nanking 1937 อนุสรณ์แห่งความขมขื่น จีน-ญี่ปุ่น” เขียนโดย ปริวัฒน์ จันทร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2548 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2562