ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2540 |
---|---|
ผู้เขียน | มนัส โอภากุล |
เผยแพร่ |
เฉพาะเสือร้ายที่มีชื่อเสียงในเขต เมืองสุพรรณบุรี และใกล้เคียง หรือที่เรียกกันให้เข้าใจว่า “เสือสุพรรณ” มีอยู่จํานวนมาก นับแต่เสือสม เสือศักดิ์ เสือแพรว เสือพักตร์ เสือหนอม เสือแบน เสือเว้า ฯลฯ แต่เสือชื่อดังที่สุดคือ เสือฝ้าย เสือมเหศวร เสือใบ และเสือดํา
บนเส้นทางของ “เสือสุพรรณ” หลายคนเป็นด้วยความไม่ตั้งใจ อาทิ
เสือฝ้าย นามเดิม ฝ้าย เพชร์นะ เกิดบ้านท่าใหญ่ หมู่ 5 ตําบลเดิมบาง อําเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี อาชีพเดิมทํานา นายฝ้ายเป็นคนสู้คน เคยเป็นถึงผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 แต่ถูกกลั่นแกล้งให้ได้รับข้อหาปล้นทรัพย์ พ้นโทษออกจากคุกก็ถูกหลานเขยลอบยิงปางตาย ด้วยวิสัยนักเลงประเภทฆ่าได้หยามไม่ได้ สุดท้าย นายฝ้ายกลายเป็นเสือฝ้ายเต็มตัว ก่อนจะถูกหลอกไปวิสามัญฆาตกรรมที่ป่าช้าในเขตอําเภอวิเศษชัยชาญ
ยายเกียด ทรัพย์จีน เผยตํารวจน่ากลัวกว่าเสือ
“เสือฝ้ายเป็นพี่แม่ ฉันเลยต้องส่งเสบียงให้ชุม โน้นอยู่ห้วยระแหง ป่าระกํา ป่าไผ่ ป่าตะโกครึ้มไปหมด ตอนส่งเสบียงต้องเอาโคลนทาทั่วตัว กองปราบเค้าดักอยู่ เราแกล้งว่าไปหาปลาไหล
เป็นเสือปล้นนี้ไม่มีเงินเก็บหรอก ก็ปล้นเขานะ คนมันมากแบ่งคนละพันคนละร้อยอย่างนั้นซิ ปล้นทีแบกรุงรังมาเลย บางทีก็ปล้นเรือโยงไปกันนอกถิ่นถึงคุ้มสําเภาชัยนาทโน่น ของเป็นทองเป็นนาก ได้มาขายหมดที่ร้านยายยิ้มท่าช้าง ที่นั่นรับซื้อ ไม่รู้จะว่าไง ช่างปล้นจริงจริ้ง มันมาตายนี่บ้านเมืองก็สงบ”
เสือใบ นามเดิม วัน สะอาดดี เกิดในชุมชนลาวที่บ้านพันตําลึง ตําบลดอนกํายาน อําเภอเมืองสุพรรณบุรี ช่วงหนุ่ม ๆ ครอบครัวถูกปล้นวัว นายวันบุกฆ่าหัวขโมยเป็นการแก้แค้นถึงถิ่น เสือใบเป็นสมุนคู่ใจของเสือฝ้าย เมื่อชุมโจรสุพรรณถูกปราบกระเจิง ตัวเองหนีรอดแต่ไปถูกจับที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เสือใบใช้ชีวิตในบางขวางนานเกือบ 17 ปี
เมื่ออายุ 76 ปี หันหน้าเข้าวัดเป็นมรรคนายกอยู่ที่วัดพันตําลึง พร้อมอดีตถูกฝังไม่มีการพูดถึงโดยสิ้นเชิง
เสือมเหศวร บุตรนายฉัตร นางตลับ เภรีวงษ์ บิดาเป็นผู้ใหญ่ บ้านเขาดิน หมู่ที่ 7 ตําบลนางบวช อําเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี อดีตของ เสือมเหศวร เคยผ่านสงครามอินโดจีนก่อนบวชเป็นพระถึง 2 พรรษาที่วัดท่าช้าง กระทั่งเกิดเรื่องร้ายในครอบครัว ผู้ใหญ่ฉัตรบิดาถูกหมื่นชนนิยมยิ่ง กํานันตําบลทุ่งคดีลอบยิง ตัวเองต้องหนีตายหลบซ่อนหลายจังหวัด กระทั่งเข้าสังกัดกับชุมเสือฝ้ายในที่สุด
ใน พ.ศ. 2492 เสือมเหศวร เข้ามอบตัวสู้คดีแต่ไม่มีโจทก์ชี้ตัว กระนั้นยังต้องโทษติดคุกนานกว่า 3 ปี เมื่ออายุ 86 ปี ทํามาหากินสุจริตในวิถีทางเกษตรกรที่บ้านไพรนกยูง อําเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
ความในใจของมเหศวร ไม่จําเป็นไม่ปล้น
“ไอ้ดําไม่สู้คน ตอนพ่อมันถูกยิงมันยังไม่สู้ เป็นเราไม่ได้นะ แต่ไอ้ดํานี่วิชาแคล้วคลาดมันดี ตํารวจล้อมบ้าน มันโดดหนีทีเดียวหายตัวไปเลย ข้างไอ้ใบนี้รูปหล่อผู้หญิงติดเกรียว เคยจะยิงกับเสือฝ้ายครั้งหนึ่ง เจ็บใจมาเตะหลาน เลยแยกไปอยู่ที่หนองสามเอกหลังเขาใหญ่โน่นมีชุมเสือกว่าสิบชุม ต่างคนต่างอยู่ไม่ยุ่งกัน
เป็นเสือความจริงไม่อยากปล้น เราขอแค่พอกิน ไอ้ที่มีเงินพอมีพออยู่นี่ก็เมื่อพ้นโทษ ได้จากเล่นหนังเรื่องจอมโจรมเหศวร เราเล่นเป็นตัวพ่อออก 2 ฉากถูกยิงตาย มิตร ชัยบัญชา เล่นเป็นตัวมเหศวร ได้ค่าประวัติค่าตัว 1 แสนบาทเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เยอะนะเอามาซื้อที่ได้ เป็นร้อยไร่ที่นี่ ตอนนี้ (พ.ศ. 2540) อยู่เงียบ ๆ ทําไร่เลี้ยงวัวเข้าวัดบ้างตามเรื่อง ลูกน้องเก่าที่ยังไม่ตายยังมาเยี่ยมอยู่บ่อย ๆ ปลายปีที่แล้วไอ้ใบยังมาถึงที่นี่”
เสือดํา นามเดิม ดํา สะราคํา บุตรกํานันผาบ้านดอนมะเกลือ ตําบลป่าสะแก อําเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เสือดําเป็นนักเลงมาตั้งแต่หนุ่มกระทั่งเส้นทางชีวิตหักเหไปยังชุมใหญ่เสือพรหมแห่งบ้านหนองหญ้าปล้อง อําเภอสามชุก เมื่อเสือพรหมตาย เสือดํารับหน้าที่หัวหน้าต่อ โดยตั้งชุมใหญ่ที่ “ไร่อ้อย” ใกล้ ๆ วัดขวางเวฬุวัน ตําบลป่าสะแก
กองโจรเสือดํามีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยเครื่องแบบสีดําสนิท สวมหมวกปีกขี่ม้าขาวคาดเข็มขัดปืน เป็นชุมโจรที่ไม่ขึ้นกับเสือฝ้าย ครอบครองอาณาเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนไปจนถึงเขตอําเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เสือดําไม่เพียงเป็นเสือร้ายยังเป็นนักเลงฝิ่นขาใหญ่เจ้าประจําที่โรงฝิ่นหน้าวัดป่าสะแก จึงเป็นเหตุให้ถูกล่อไปฆ่าที่บ้านหนองโสน ตําบลเลาขวัญ ปิดตํานานตัวเองเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
เรื่องราวในบางเสี้ยวชีวิตเหล่านี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นอมตะตํานานที่มีคุณค่าคู่ควรต่อการบันทึก และคงไม่ใช่ความบังเอิญอย่างแน่นอนที่เรื่องราวดังกล่าวนี้จะถือเป็นรอยต่อแห่งประวัติศาสตร์สยามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- สุพรรณบุรี เป็น “เมืองโจร เมืองคนดุ”!
- โจรใต้ เสือร้ายทะเลน้อย
- ร่องรอย “เสือผ่อน” โจรดังสมัย ร.5-7 จากลำตัดเก่าแก่ที่สาบสูญ ชีวิตวัยเด็ก ถึงจุดน่าเศร้า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2561