ร่องรอย “เสือผ่อน” โจรดังสมัย ร.5-7 จากลำตัดเก่าแก่ที่สาบสูญ ชีวิตวัยเด็ก ถึงจุดจบน่าเศร้า

เจ้าหน้าที่ จับโจร
ภาพประกอบเนื้อหา - เจ้าหน้าที่จับผู้ร้าย 7 รายที่ปล้นเกวียนพ่อค้า ที่บ้านประทาบ แขวงอำเภอนอก เป็นภาพตัวอย่างการจับโจรแถบอีสาน (ภาพไม่ระบุปี ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

สืบร่องรอย “เสือผ่อน” โจรดังสมัยรัชกาลที่ 5-7 จากลำตัดเก่าแก่ที่สาบสูญ ชีวิตวัยเด็ก ถึงจุดจบน่าเศร้า

“เขาหมูดุด” เป็นชื่อของภูเขาลูกหนึ่งในบริเวณบ้านหมูดุด [1] ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ดินแดนแห่งนี้ถูกอ้างว่าในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 เคยเป็น “รังโจร” ของเสือมีชื่อในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ผู้มีนามว่า “เสือผ่อน”

เรื่องราวของเสือผ่อนได้รับการถ่ายทอดในรูปแบบของ “ลำตัด” สื่อมวลชนชาวบ้านที่เล่าขานสืบต่อกันมานานนับ 8 ทศวรรษ เรียกกันว่า “ลำตัดเสือผ่อน”

พระครูมหานทีคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด และ ก๋งสิม เกษโกวิท กรุณาเล่าว่า เรื่องลำตัดเสือผ่อนนี้ครั้งแรกแต่งโดยหะยีเขียด ใช้ชื่อว่า อ้ายเสือจอมโจรชลบุรี อ้ายเสือผ่อน มี 2 เล่มจบ พิมพ์ที่โรงพิมพ์เขษมพานิช เมื่อ พ.ศ. 2472

การพิมพ์ครั้งแรกนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก ภายหลังปราชญ์ชาวบ้านท่าพริก เมืองตราด ชื่อ นายทอง เจริญสุข [2] นำมาแต่งใหม่จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เล่ากันว่านายทองนี้เป็นผู้มีความรู้ในทางกาพย์กลอนมาก มีอาชีพเป็นเสมียนของทางการ เป็นกวีชื่อดังของเมืองตราดคนหนึ่งในสมัยนั้น คู่กันกับสหายรักคือ พระสาธนธนากร (มุ่ย ชพานนท์) อดีตสรรพากรเมืองตราด

ผู้ใหญ่ประจวบ เกษโกวิท วัย 82 ปี ปราชญ์ชาวบ้านของบ้านท่าพริก อันเป็นถิ่นกำเนิดของเสมียนทอง เล่าถึงเรื่องลำตัดเสือผ่อนนี้ก่อนถึงแก่กรรมว่า ลำตัดเสือผ่อน แต่งโดยเสมียนทอง เจริญสุข พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีจันทร์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 7 (พิมพ์หลัง พ.ศ. 2474) ราคาขายเล่มละ 25 สตางค์ กล่าวถึงชีวิตของ “เสือผ่อน” ซึ่งเป็นโจรชื่อดังของภาคตะวันออก ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นชาวอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี อาศัยอยู่ที่เกาะมันใน และเขาหมูดุด ที่จันทบุรี ในคราวนั้นพิมพ์ 4 เล่มจบ โดยแต่ละเล่มมีเนื้อหาดังนี้

เล่ม 1 ประวัติเสือผ่อนว่าเกิดที่ไหน เหตุใดจึงได้เป็นโจร เจ็บใจอะไรอย่างไร
เล่ม 2 เริ่มเป็นเสือ วีรกรรมการปล้นของเสือผ่อน
เล่ม 3 โกนจุกหลาน
เล่ม 4 เสือผ่อนตาย

ลำตัดเสือผ่อนทั้ง 4 เล่มนี้ ปัจจุบันถือเป็นของหายาก และยังหากันไม่พบ (ข้อมูลเมื่อ 2549-กองบรรณาธิการ) อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดเนื้อหาบางส่วนของเล่ม 3 จากผู้ใหญ่ประจวบ เกษโกวิท ผู้ที่เคยได้อ่านและร้องลำตัดเสือผ่อนนี้เมื่อวัยเยาว์ ซึ่งจะได้เล่าร้อยกันไปกับชีวิตของเสือผ่อน [3]

เสือผ่อน จาก “เด็กชาย” ถึง “นายโจร”

บุญจริง เสนาะสรรพ์ วัย 78 ปี (เมื่อ 2549 – กองบรรณาธิการ) ไวยาวัจกรวัดท่าแคลง ทายาทเสือผ่อน เล่าถึงบิดาของตนไว้ว่า เสือผ่อนเกิดราวปี พ.ศ. 2432-37 (คำนวณจากอายุของทายาท) เป็นชาวจังหวัดระยองโดยกำเนิด บริเวณอ่าวมะขามป้อม หาดแหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง ก๋ง ประจวบ เกษโกวิท (ถึงแก่กรรม) อายุ 82 ปี เล่าถึงรูปร่างหน้าตาของเสือผ่อนว่า “เสือผ่อนนี่ เขาว่าร่างใหญ่ เห็นเขาถ่ายรูปน่ากลัวเหมือนเสือ เป็นคนตัวโตสูง เคยมีคนถ่ายรูปเสือผ่อน”

ในขณะที่ลุงบุญจริงกล่าวว่า “คนที่เคยเห็นพ่อเขาว่าผมหน้าตา รูปร่าง ทรงผม ไม่ผิดจากพ่อ แล้วก็ชอบใส่กางเกงจีน ไม่สักยันต์แต่ชอบแขวนพระ”

บิดาเสือผ่อนชื่ออะไรไม่มีใครจำได้ ทราบแต่เพียงมารดาว่าชื่ออ่อน ส่วนพี่น้องมีเท่าไรไม่ปรากฏแน่ชัด เท่าที่ทราบกันปรากฏเพียง 5 คน ดังนี้

ที่ 1 ชื่อเล็ก (ญ)
ที่ 2 ชื่อหน่าย (ญ)
ที่ 3 ชื่อผ่อน (ช)
ที่ 4 ชื่อผัน (ช)
ที่ 5 ชื่อเพียร (ญ)

ญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ของเสือผ่อนปัจจุบัน (2549 – กองบรรณาธิการ) ก็ยังคงอยู่ ณ นิวาสสถานเดิม คือที่แหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง ทำอาชีพประมงสืบกันมา ปรากฏชื่อสกุลว่า “มัจฉาเกื้อ” ส่วนเสือผ่อนนั้นเป็นสมาชิกคนเดียวของตระกูลที่หันมาเอาดีทาง “โจรสลัด”

เสือผ่อนเดินทางเทียวไปเทียวมาระหว่างเกาะมันใน แหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง และเขาหมูดุด จังหวัดจันทบุรี จนกระทั่งเสือผ่อนได้เมียคนแรกชื่อ “แม่มี” ชาวจันทบุรี มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ผู้ใหญ่บุญลือ (หนู) เสนาะสรรพ์ (ถึงแก่กรรม) เมียคนที่ 2 ชื่อ “แม่ถ้วน” มีบุตรด้วยกัน 1 คนเช่นกัน คือ ลุงบุญจริง เสนาะสรรพ์

นอกจากนี้แล้วเสือผ่อนยังมีเมียรายทางไประหว่างไปปล้นอีก เช่น แม่ละมุน ที่ก้นอ่าว จังหวัดระยอง แม่หลี ที่หาดพลา จังหวัดระยอง แม่จ้อย ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น [4]

เสือผ่อน เป็นหนึ่งในบรรดา “เสือ” ทั้งหลายที่เรียนวิชาอาคมแก่กล้า เล่ากันว่า เสือผ่อนนี้เรียนคาถาอาคมมาจากหลวงพ่อเปรม เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดท่าแคลง จังหวัดจันทบุรี พระผู้มีชื่อเสียงเรื่องอยู่ยงคง กระพันในสมัยนั้น ทำให้เสือผ่อนเคารพรักหลวงพ่อเปรมมาก เล่ากันว่า อุโบสถหลังเก่าของวัดท่าแคลงนี้ เสือผ่อนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการสร้าง

“ชาติเสือต้องไว้ลาย” กับการท้าทายอำนาจรัฐ

ไม่มีใครบอกได้ว่าเสือผ่อนเริ่มเป็นโจรสลัดตั้งแต่เมื่อใด และเขามีเหตุผลอะไรจึงได้หันเหชีวิตมาท้าทายกฎหมายเช่นนี้ บุตรชายของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่คนเดียวเล่าว่า อาวุธที่บิดาใช้ปล้นคือปืนสั้นบราวนิ่ง โดยมีเรือใบเป็นพาหนะสำคัญ ยาวราวๆ 3-4 วา เสือลูกน้องที่สำคัญๆ ได้แก่ เสือชั้น เสือหม้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเสือชื่อดังเป็นพวกอีกจำนวนมาก และนักเลงท้องถิ่น เช่นที่เมืองตราดเล่ากันว่า เสือผ่อนมีเพื่อนชื่อผู้ใหญ่ เจียก เป็นผู้ใหญ่บ้านที่เกาะช้าง ดังปรากฏในลำตัดเสือผ่อน [5] ว่าเสือผ่อนมาปล้นถึงที่เกาะช้าง เกาะหมาก รวมทั้งมีเพื่อนโจรสลัดอยู่ที่นี่จำนวนมาก ดังปรากฏในตอนที่เสือผ่อนมาเชิญเพื่อนไปร่วมงานโกนจุกหลานสาว ความว่า

เกาะช้างเพื่อนมาก เกาะหมากเพื่อนจัง
ถึงเกาะกงเขตฝรั่ง จึงมีคำสั่งส่งไปฯ
อ่าวช่อธรรมชาติ จังหวัดตราดเพื่อนฝูง
เชิญมาบำรุง แต่ล้วนพวกฝูงสหายฯ

เวลาเสือผ่อนจะออกไปปล้น มักจะไปกับลูกน้องประมาณ 4-5 คน ซึ่งก่อนจะไปปล้นเสือผ่อนจะดูฤกษ์ยามก่อนออกปล้น และมีพิธีบวงสรวงเทวดาทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล

วิธีการปล้นของเสือผ่อนนี้ปล้นทั้งบนบกและในน้ำ โดยมากมักปล้นบ้านเรือนบนเกาะ หรือชายฝั่งที่ติดทะเล เนื่องจากมีเรือใบเป็นพาหนะสำคัญ ผู้เฒ่าหลายคนที่ได้ยินได้ฟังเรื่องเสือผ่อนจากบรรพบุรุษต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า เสือผ่อนนี้เวลาปล้นนี้ดุร้ายมาก ฆ่าไม่เลือก

ครั้งหนึ่งเคยไปปล้นบ้านคหบดีที่เกาะช้าง ได้เงินและทองไปมาก แต่ก็ไม่วายที่จะปลิดชีวิตเจ้าบ้านและลูกน้อย หรือตอนไปปล้นที่เกาะหมาก ซึ่งเป็นเกาะของ “เจ้าสัวเส็ง” หรือพระประเสริฐวานิช ที่ถูกเสือผ่อนแวะมาปล้นอยู่บ่อยครั้ง เป็นเหตุให้ภายหลังเจ้าสัวเส็งจึงขายเกาะหมากให้กับหลวงพรหมภักดี

เล่ากันว่าผู้ที่มาเริ่มจับจองพื้นที่บนเกาะหมาก เพื่อสร้างเป็นสวนมะพร้าวเป็นคนแรกนั้น ชื่อว่าเจ้าสัวเส็ง มีตำแหน่งเป็นปลัดฝ่ายจีนในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาเจ้าสัวเส็งได้ขายสวนมะพร้าวบนเกาะหมากให้กับหลวงพรหมภักดี (เปลี่ยน ตะเวทีกุล) ปลัดจีนอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านเกาะปอ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์…[6]

ลุงบุญจริงยังเล่าว่า ที่บางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีคนเก่าแก่เล่าว่าเคยเห็นรอยขวานที่เสือผ่อนไปฟันบ้านขณะปล้นที่บางเสร่ นอกจากนี้ยังเล่ากันว่าเสือผ่อนนี้ไปปล้นถึงที่คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ก็มี

อุปนิสัยดุร้ายและพฤติกรรมการปล้นของเสือผ่อนข้างต้น แตกต่างไปจากที่บุตรชายของเสือผ่อนเล่าว่าบิดา “เป็นคนใจดี เอื้ออารี เวลาปล้นมักไปขอมากกว่า ไปขอเฉพาะคนรวยๆ”

นอกจากอาชีพหลักคือการปล้นแล้ว เสือผ่อน ยังทำหน้าที่อารักขาคหบดีบางคนด้วย เช่น เจ๊กจง ซึ่งเป็นเถ้าแก่ใหญ่แห่งบ้านศาลา ซึ่งเสือผ่อนได้รับฝิ่นของเถ้าแก่จงเป็นสิ่งตอบแทนน้ำใจ

ชื่อของเสือผ่อนเป็นที่ยำเกรงและเกรงกลัวของคนทั่วไป ทั้งประชาชนหรือแม้กระทั่งตำรวจเอง เพราะเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งที่เสือผ่อนไปตัดผม มีตำรวจนายหนึ่งเดินมาคนเดียวมาเจอเสือผ่อนเข้าก็ยังไม่กล้าจับ เพราะไม่มีพวก กลัวว่าจะถูกเสือผ่อนยิง และจากชื่อเสียงเรื่องความโหดร้ายนี้เองจึงทำให้บรรดาเสือลูกน้องทั้งหลายมักขอให้เสือผ่อนเป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอผู้หญิงให้ เพราะไปขอใครก็ยกให้ เนื่องจากต่างก็กลัวเสือผ่อน รวมทั้งลูกน้องมักเอาชื่อเสือผ่อนไปอ้างเพื่อสวมรอยเวลาปล้นด้วยก็มี

นอกจากเรื่องปล้นที่เป็นที่กล่าวขวัญกันแล้ว เรื่องของเสือผ่อนยังได้รับการกล่าวขวัญเกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้วย

เรื่องที่ทำให้เสือผ่อนมีชื่อเรื่องอาคมมากที่สุดคือ หนีตำรวจที่เกาะมัน เพราะคนคิดว่าเสือผ่อนหายตัวได้ แต่ความจริงแล้วเสือผ่อนหนีไปตอนกลางคืน แล้วดำน้ำเข้าไปหลบที่ถ้ำเล็ก ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยใช้ขอนไม้ข้ามทะเลไปเกาะมัน แล้วมีปลาโลมาคุ้มกันไป 2 ข้างขนาบไป เชื่อกันว่าน่าจะเป็นครูบาอาจารย์ของเสือผ่อนแปลงกายมาช่วย

เรื่องราววีรกรรมของเสือผ่อนนี้เป็นที่โจษขานไปทั่ว จนเมื่อทราบไปถึงทางการ จึงมีการส่งนายตำรวจออกมาปราบปราม นั่นคือหลวงจิตใจดล ภายหลังไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. 2483-84

อย่างไรก็ตามในประวัติของพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 นายตำรวจชาวเมืองนครศรีธรรมราช ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปในภาคใต้และในจังหวัดอื่นๆ ในฝีมือการปราบปรามโจรผู้ร้าย ในประวัติของ “ท่านขุน” ปรากฏว่า เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2489 ท่านย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น

จากประวัติดังกล่าวปรากฏชื่อ “เสือผ่อน” รวมอยู่ด้วย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นคนเดียวกับ “เสือผ่อน” ของภาคตะวันออกหรือไม่…

“มิตรแท้ไม่มีในหมู่โจร” : อมตะภาษิตที่ปิดฉากตำนาน เสือผ่อน ผู้ยิ่งใหญ่

ลำตัดเสือผ่อนเท่าที่สืบค้นมาได้ในปัจจุบันทราบว่ามี 4 เล่ม แต่มีผู้จดจำไว้ได้เพียง 2 เล่ม คือ เล่ม 2 และเล่ม 3 ส่วนต้นฉบับนั้นยังหาไม่พบ

อย่างไรก็ตามในเล่ม 4 ซึ่งเป็นตอนจบนั้นได้ถูกอ้างถึงไว้โดยย่อในท้ายเล่ม 3 ว่า

เล่มสี่มีต่อ สนุกพอน่าฟัง มีตำรวจกองกลาง ออกไปยังกลุ่มใหญ่ฯ
ให้จับเสือตัวเอ้ ที่ทะเลชายหาด
ให้ถูกปืนพิฆาต ถึงชีวาตม์วางวายฯ

สรุปได้ว่าเล่ม 4 นี้กล่าวถึงจุดจบของเสือผ่อนนั่นเอง บุญจริง เสนาะสรรพ์ บุตรชายเสือผ่อนเล่าว่า ก่อนเสือผ่อนตายเพียงไม่กี่วัน เสือลูกน้องก็เป็นไส้ศึก เป็นสายให้กับตำรวจ เนื่องจากทางการให้สัญญาว่าหากเป็นสายให้แล้วจะผ่อนผันโทษให้ เสือลูกน้องของเสือผ่อนนี้ไม่ปรากฏว่าชื่ออะไร ส่วนภารกิจของสายลับคือ ให้เมียของตนนำเอาระดูไปผสมกับอาหารให้เสือผ่อนกิน เพื่อทำลายความเข้มขลังของเครื่องราง และวิชาทางไสย ศาสตร์ของเสือผ่อนที่ติดตัวมาตั้งแต่เริ่มเป็นเสือ

เมื่อเสือผ่อนกินข้าวที่ผสมกับระดูนั้นเข้าไป ปรากฏว่าตะกรุดที่ห้อยคอตั้งแต่ที่เริ่มเป็นเสือมาก็ลั่นแตกทันที จึงได้รู้ว่าวิชาอาคมที่ได้ร่ำเรียนมาสูญสิ้นแล้ว ความคงกระพันฟันแทงไม่เข้าก็เสื่อมลงไปในคราวเดียวกัน เล่ากันว่าครั้งนั้นน้ำตาเสือก็ไหลลงอาบหน้า เพราะทราบว่าชีวิตเสือจะจบลงในไม่ช้า

ต่อมาไม่นานตำรวจก็ได้เข้าจับกุมเสือผ่อน และมีการยิงต่อสู้กัน ท้ายที่สุดปรากฏว่า สิบตรีฟุ้ง (สำนวนหะยีเขียดว่า ร้อยตรีฟุ้ง ระงับภัย กับขุนภูมิประศาสน์เป็นคนยิงเสือผ่อนตาย ที่อ่าวคุ้งกระเบน บริเวณต้นตาลแถว แล้วก็เผาศพที่นั่นเอง

คุณฟุ้งยิงตอบ ยิงสอบลั่นตอบเร็วพลัน
เหนี่ยวไกนกลั่น โดนที่ท้องเสือป่าฯ

เสือผ่อน เสียชีวิตเมื่อขณะอายุได้ราว 35-40 ปี เมื่อราวปี พ.ศ. 2472-2477 เวลานั้นลุงบุญจริงอายุได้เพียง 1 ขวบเท่านั้น สำนวนของหะยีเขียดระบุว่าคือวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472

สำหรับที่ดินที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง ที่เป็นสมบัติของเสือผ่อน ภายหลังทายาทได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

เรื่องราวของเสือผ่อน ตำนานจอมโจรภาคตะวันออกได้รับการกล่าวขวัญสืบต่อกันมาจากรุ่นต่อรุ่น ซึ่งหากมองในทัศนะของโจรก็อาจกล่าวได้ว่าเสือผ่อนประสบความสำเร็จควรค่าแก่ “ดุษฎีบัณฑิต สาขามหาโจร” จนอาจทำให้ลำตัดเสือผ่อนกลายเป็น “มหากาพย์แห่งมหาโจร”

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของเรื่องนี้ ที่นอกจากจะสะท้อนประวัติศาสตร์แบบโจรๆ แล้ว ยังเผยให้เห็นชีวิตอีกด้านหนึ่งของชาวบ้านที่มักไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึง คือชีวิตที่ถูกคุกคาม ความรู้สึกของชาวบ้าน และการตีความความรู้สึกของโจรผ่านกวีชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยเป็นพื้นฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาคตะวันออกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ขอขอบพระคุณ

คณะสงฆ์วัดท่าแคลง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่อำนวยความสะดวกและติดต่อทายาทเสือผ่อนให้แก่ผู้วิจัย
คุณจักรพรรดิ ตะเวทีกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ที่อนุเคราะห์ข้อมูลและภาพเกี่ยวกับหลวงพรหมภักดีและวิทยากรทุกท่านที่กรุณาเอื้อเฟื้อให้สัมภาษณ์

เชิงอรรถ :

[1] คำว่าหมูดุดนี้ ในภาษาถิ่นจันทบุรีและตราด หมายถึง ปลาพะยูน สันนิษฐานเป็น 2 ทางว่า เหตุที่ชื่อเขาหมูดุดเพราะเนื่องจากภูมิประเทศของภูเขานี้ติดทะเลซึ่งเป็นแหล่งปลาพะยูน อีกทางหนึ่งว่าลักษณะรูปร่างของเขานี้คล้ายกับปลาพะยูน

[2] นายทองนี้เป็นชาวบ้านตำบลท่าพริก อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด มีผลงานทางวรรณกรรมหลายเรื่องทั้งที่ตีพิมพ์แล้วและยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ (แต่มีการท่องจำกันสืบมา) อาทิ นิราศวัดเขาญวน ลำตัดเสือผ่อน ลำตัดฟ้าผ่าตาแช แหล่ตาเอ้งหลงป่า แหล่ตาผลตายแล้วฟื้น

[3] ลุงบุญจริงเล่าว่า เคยไปงานศพที่บ้านกร่ำ อำเภอแกลง มีคนเล่าให้ฟังว่ามีลำตัดเสือผ่อน ยังมีคนร้องได้เขาร้องให้ลุงฟัง ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องตอนที่เสือผ่อนหนีตำรวจ เข้าใจว่าคงเป็นเล่ม 4 คือตอนจบ ลุงบุญจริงบอกว่าเนื้อหาในลำตัดนี้ตรงกับชีวิตจริงของบิดาตามที่ได้ฟังมา

[4] ผู้เขียนเคยพบว่าลูกหลานเสือผ่อนนี้อาศัยอยู่ที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ก็มี ปัจจุบันอายุกว่า 90 ปี

[5] (ประจวบ เกษโกวิท อายุ 82)

[6] ประโยชน์ โยธาภิรมย์. เกาะกง เมืองแห่งความหลัง. (มปป. มปท.) (เอกสารอัดสำเนา)

รายการอ้างอิง :

บุญจริง เสนาะสรรพ์ อายุ 78 ปี ทายาทเสือผ่อน…อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี สัมภาษณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549.

ประจวบ เกษโกวิท (ถึงแก่กรรม) อายุ 82 ปี …อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด สัมภาษณ์วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2548.

ประโยชน์ โยธาภิรมย์. เกาะกง เมืองแห่งความหลัง. มปป. มปท. (เอกสารอัดสำเนา)

มหานทีคณารักษ์, พระครู. อายุ 79 ปี เจ้าอาวาสวัดท่าพริก ตำบลท่าพริก อำเภอเมือง จังหวัดตราด สัมภาษณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549.

สถานีตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต www.phuket.police.go.th/ phuket_ police_file.htm. “ทำเนียบผู้บังคับบัญชา” สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

สิม เกษโกวิท อายุ 81 ปี หมู่ 3 ตำบลท่าพริก อำเภอเมือง จังหวัดตราด. สัมภาษณ์วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2549.

เอนก นาวิกมูล. ฆาตกรยุคคุณปู่. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2546.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “โจร เสือ และเรือใบ : ว่าด้วย “ลำตัดเสือผ่อน” บันทึกประวัติศาสตร์โจรสลัดชายฝั่งทะเลตะวันออก” เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549 [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564