13 ธันวาคม 1937 จุดเริ่มต้นการสังหารหมู่แห่งนานกิง เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าแสนราย

การสังหารหมู่แห่งนานกิง ซากศพ ใน กรุงนานกิง
ซากศพเหยื่อสังหารหมู่ในกรุงนานกิง ที่ถูกทิ้งไว้ริมแม่น้ำ Qinhuai (ภาพโดย Moriyasu Murase, 村瀬守保 [Public domain], via Wikimedia Commons)

13 ธันวาคม 1937 จุดเริ่มต้น การสังหารหมู่แห่งนานกิง เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าแสนราย

สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1937 (พ.ศ. 2480) จากการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายที่สะพานมาร์โคโปโล หลังรัฐบาลจีนคณะชาติพยายามต่อต้านการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิญี่ปุ่นเหนือดินแดนจีนซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1931 (พ.ศ. 2474)

แต่กองทัพจีนคณะชาติก็ต้องถอยร่นจากการรุกรานของญี่ปุ่นต่อเมืองใหญ่ตั้งแต่เทียนจิน เรื่อยมาถึงปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ถึงเดือนพฤศจิกายน 1937 (พ.ศ. 2480) กองทัพจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นก็เริ่มการโจมตีกรุงนานกิง (หนานจิง) เมืองหลวงของรัฐบาลจีนคณะชาติในขณะนั้นและสามารถเข้ายึดครองนานกิงได้สำเร็จในวันที่ 13 ธันวาคม ปีเดียวกัน

การบุกยึดนานกิงของกองทัพญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การควบคุมของ อิวาเนะ มัทซึอิ (Iwane Matsui) ซึ่งภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์นับแต่ญี่ปุ่นสามารถยึดครองนานกิงได้สำเร็จ พวกเขาได้สังหารประชาชนพลเรือนทั่วไปอย่างทารุณ ตั้งแต่การจับผู้คนนับหมื่นมากราดยิงกลางเมือง การใช้คนเป็นๆ มาเป็นเป้าซ้อมแทงดาบปลายปืน หรือการเผาทั้งเป็น ทำให้กรุงนานกิงเต็มไปด้วยซากศพอยู่นานนับเดือน

ภาพถ่ายเห็นศพชาวจีนที่ถูกนําไปกองทิ้งไว้เต็มเกลื่อนบนฝั่งแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี)

ผู้เชี่ยวชาญจากศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกล (International Military Tribual of the Far East, IMTFE หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ ศาลอาชญากรสงครามโตเกียว) ประเมินว่า มีพลเรือนต้องเสียชีวิตระหว่างการสังหารหมู่ของกองทัพญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 260,000 ราย

นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า ผู้หญิงจีนตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยชราจำนวน 20,000-80,000 ถูกข่มขืนในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในหนังสือ “Rape of Nanking” อ้างถึงพฤติกรรมที่โหดร้ายผิดธรรมชาติของทหารญี่ปุ่นที่ไม่เพียงข่มขืนสตรีเหล่านี้เพื่อระบายความใคร่เท่านั้น บางส่วนยังผ่าท้องหญิงเคราะห์ร้าย ตัดหน้าอกของพวกเธอทิ้ง บ้างก็ใช้หมุดตอกหญิงสาวขึงกับกำแพง บ้างก็บังคับให้พ่อต้องข่มขืนลูกสาวตัวเอง หรือให้ลูกชายข่มขืนแม่ตัวเองก็มี

อาคารบ้านเรือนของนานกิงถูกปล้นและทำลายทิ้งราวหนึ่งในสาม ก่อนที่ในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ญี่ปุ่นจะตั้งรัฐบาลขึ้นในกรุงนานกิงโดยตั้งให้ หวัง ชิง-เวย (Wang Jingwei) หนึ่งในนักปฏิวัติจีนคณะชาติคู่แข่งของ เจียง ไคเช็ก ผู้นำสูงสุด ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลหุ่นเชิดของญี่ปุ่น ซึ่ง หวัง อดีตนักเรียนญี่ปุ่นเคยคิดว่าญี่ปุ่นจะยอมให้รัฐบาลของเขามีอำนาจในการปกครองตนเองพอสมควร แต่เขาคิดผิด กองทัพญี่ปุ่นยังคงใช้อำนาจทางทหารและเศรษฐกิจครอบงำเขตยึดครองอย่างเคร่งครัด

เข้าสู่ปี 1944 (พ.ศ. 2487) หวัง ป่วยหนักจึงเดินทางไปรักษาตัวที่ญี่ปุ่น ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปีเดียวกัน จากนั้นอีกหนึ่งปี สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นหลายรายถูกนำตัวขึ้นศาลอาชญากรสงครามโตเกียว และถูกตัดสินให้ประหารชีวิต รวมถึง มัทซึอิ ผู้นำกองทัพญี่ปุ่นในการบุกยึดนานกิงด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Nanjing Massacre”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/event/Nanjing-Massacre>

“Wang Ching-Wei”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/biography/Wang-Ching-wei>

“The Rape of Nanking”. Iris Chang. Basic Books


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2560