ร่องรอยนางบำเรอทหารญี่ปุ่น “บนแผ่นดินไทย” สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพเก่า สะพานข้ามแม่น้ำแคว

เรื่องราวของนางบำเรอที่ถูกใช้ปรนเปรอตัณหาของทหารญี่ปุ่น หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “ผู้หญิงปลอบขวัญ” (comfort woman) เป็นเรื่องที่คนตามข่าวต่างประเทศเป็นประจำน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะสตรีที่ส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตจะออกมาทำกิจกรรมเรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดเชยความเสียหายทั้งกายและใจให้กับพวกเธอกันทุกปี

รายงานส่วนใหญ่จะมาจากทางฝั่งเกาหลีบ้าง จีนบ้าง ไต้หวันบ้าง ฟิลิปปินส์บ้าง แต่ไม่มีเรื่องราวจากฝั่งไทยให้เห็นเลย ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะบ้านเราเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นสมัยนั้นจึงไม่อาจทำรุ่มร่ามใช้กำลังข่มเหง ล่อลวงหญิงสาวชาวบ้านเหมือนที่ทำในดินแดนที่พวกเขาไปบุกรุกรานได้ (อย่างโจ่งแจ้ง)

Advertisement

แต่จากการค้นคว้าของคุณโสภิดา วีรกุลเทวัญ พบว่าในเมืองไทยก็มีสถานบริการทางเพศจำเพาะสำหรับบรรดาทหารญี่ปุ่นเหมือนกัน บรรดาหญิงบริการเหล่านี้จำนวนหนึ่งถูกส่งมาจากต่างประเทศ โดยจะพักอยู่รวมกันในบ้านหลังหนึ่งกลางอำเภอเมืองกาญจนบุรีมีผู้หญิงอยู่ราว 10-20 คน

“ผู้หญิงพวกนี้พูดไทยไม่ได้ ที่ผมเห็นเป็นคนญี่ปุ่น…มีผู้หญิงคนหนึ่งพยายามฆ่าตัวตาย โดดลงมาจากชั้นบนแต่ก็ไม่ตาย ที่นี่ให้แต่คนญี่ปุ่นเท่านั้น คนไทยเข้าไม่ได้…ญี่ปุ่นระวังเรื่องซิฟิลิสมาก เขามีหมอมาควบคุม มาตรวจอะไรเรื่อย เพราะกลัวทำให้เจ็บป่วย” อดีตครูประชาบาลรายหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีกล่าว

“ผู้หญิงปลอบขวัญ” หรือ comfort woman สามรายที่ถูกบังคับ หรือล่อลวงให้มาเป็นโสเภณีให้กับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะการแถลงข่าวในกรุงไทเป ของไต้หวัน เมื่อ 13 สิงหาคม 1992 (AFP PHOTO / TAO-CHUAN YEH)

ด้านคุณนิทัศน์ ถนอมทรัพย์ อดีตนายกเทศมนตรีและคนที่อยู่ในพื้นที่ในขณะเกิดเหตุอีกรายเล่าว่า ผู้หญิงเหล่านี้มีทั้งเกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยเมื่อทหารเข้ามาตั้งมั่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งผู้หญิงตามมา โดยต้องเดินกันมาจากบ้านโป่ง

ส่วนบรรดาหญิงไทยที่เข้ามามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับทหารญี่ปุ่นก็มีอยู่เหมือนกัน ซึ่งมีทั้งแบบตามครรลองจารีต สู่ขอกันเป็นเรื่องเป็นราว และความสัมพันธ์แบบลับๆ รวมทั้งการค้าประเวณีด้วย โดยคุณนิทัศน์เล่าว่า

“เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2482 ได้มีชาวญี่ปุ่น 2-3 คนเข้ามาเปิดร้านขายผ้าอยู่ที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง กาญจนบุรี โดยชาวญี่ปุ่นได้จ้างผู้หญิงไทย 2-3 คน มาเป็นพนักงานขายอยู่ในร้านขายผ้าแห่งนี้ ภายหลังผู้หญิงไทยเหล่านี้ก็ตกเป็นภรรยาชาวญี่ปุ่นทั้งหมด”

ขณะที่พ่อค้าที่เคยค้าขายกับทหารญี่ปุ่นรายหนึ่งอ้างว่า ข้าราชการบางรายถึงกับทำตัวเป็นแมงดาเสียเอง ด้วยการส่งภรรยาตัวเองไปเป็นนางบำเรอให้กับทหารญี่ปุ่น

เป็นผู้หญิงชาวบ้านนี่แหละ ไม่ได้บังคับ ญี่ปุ่นก็ให้เงินผัวผู้หญิงเป็นข้าราชการ เมียเลี้ยงลูกอยู่บ้าน เงินเดือนข้าราชการพอกินเมื่อไหร่สมัยนั้น พอทหารญี่ปุ่นกลับ เขาก็ไม่ได้เอาผู้หญิงไทยกลับ”

และกลุ่มผู้หญิงไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องบำบัดตัณหาของทหารญี่ปุ่นโดยตรงก็คือบรรดาหญิงสาวที่ทำการค้าประเวณีอยู่แล้ว โดยผู้หญิงไทยกลุ่มนี้จะถูกกะเกณฑ์ให้เข้ามารับใช้กลุ่มพลทหารเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้หญิงตะวันออกไกลที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะเอาไว้ให้บริการสำหรับนายทหารระดับสูง

“เขามีล่ามนะ ในกรุงเทพฯ เขาก็ไปสะพานถ่าน เกณฑ์มาเลย เอาไหมเงินเดือนเท่านั้น รายได้พิเศษก็ว่าไป เขาเรียกว่า จ้างเกณฑ์ คือบังคับให้มา แล้วก็จ่ายค่าตอบแทนให้ด้วย  ผู้หญิงก็จะหมุนเวียนกันไป มีคนคอยจัดการดูแล ซ่องญี่ปุ่นไม่เกี่ยวเลยยุ่งไม่ได้ ตำรวจก็ไม่ได้จับกุมหรือควบคุมอะไร” คุณนิทัศน์กล่าว

คุณโสภิดาบอกว่า กองทัพญี่ปุ่นมีการควบคุมทหารแบบ “ปากว่าตาขยิบ” คือไม่อนุญาตให้นำผู้หญิงไทยเข้าไปในค่าย แต่ถ้าทหารจะออกไปมีอะไรกับหญิงไทยนอกค่ายได้ไม่มีปัญหา ทำให้กิจการค้าประเวณีในกาญจนบุรีมีหลายรูปแบบ รวมถึงการพายเรือเร่ขายผู้หญิงด้วย

“เอาผู้หญิงใส่เรือไป แล้วก็ตกลง ญี่ปุ่นก็อยู่ท้ายน้ำ เสร็จแล้วก็ยกนิ้ว ๒๐ บาท มันบอกว่าไม่มีตังค์ เอาปากกาได้ไหม เราบอกว่าได้ แล้วก็ขึ้นหาด ไปปูเสื่อให้ที่โคนตะไคร้บังหน้า มันก็ล่อกันในหาดนั่นแหละ เสร็จแล้วก็ม้วนเสื่อลงเรือพายเรื่อยไป” ชายชราที่เคยเป็นฝีพายเร่ขายผู้หญิงกล่าว

จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทหารญี่ปุ่นมักจะเกิดขึ้นโดยสมัครใจ แต่คุณโสภิดา ก็ให้มุมมองหนึ่งที่น่าสนใจว่า คนไทยอาจจะมองโสเภณีเป็นคนนอกจึงไม่ให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วที่พวกเธอเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะด้วยถูกล่อลวง หรือหากสมัครใจมาก็อาจได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยก็เป็นได้ เพียงแต่ไม่มีการศึกษาเรื่องนี้สักเท่าใดนัก

“ในงานศึกษาชิ้นนี้ไม่สามารถสืบค้นในรายละเอียดของชีวิตผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับทหารญี่ปุ่น แต่ข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในสงครามทำให้เห็นว่า ผู้หญิงเหล่านี้ถูกจัดหามาในฐานะวัตถุทางเพศ ซึ่งมีหน้าที่บำบัดความต้องการของทหารญี่ปุ่นโดยตรง และจำนวนผู้หญิงเหล่านี้ยังมีน้อยกว่าผู้ใช้บริการหลายสิบเท่าตัว ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้หญิงจะต้องรองรับความต้องการทางเพศของทหารเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก” คุณโสภิดากล่าว

 


อ้างอิง:

โสภิดา วีรกุลเทวัญ. “ตามรอย comfort women ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560