ย้อนไอเดียกรุงเทพคริสเตียน หัวหอกหยุดเสาร์ควบอาทิตย์-ทัก “สวัสดี” ก่อนราชการ

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กรุงเทพคริสเตียน
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน (ภาพจาก www.bcc.ac.th)

เป็นที่ทราบกันว่าหมอสอนศาสนาจากต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสยามยุคแรกเผยแผ่ศาสนาควบคู่ไปกับการให้การศึกษา ขณะที่โรงเรียนมิชชันนารีเอกชนชายแห่งแรกในสยามซึ่งยังคงมีชื่อเสียงมาอยู่จนถึงวันนี้ย่อมเป็น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน หากจะพูดถึงระบบการศึกษาในรั้ว “ม่วงทอง” ในยุคตั้งต้นบันทึกของอดีตอาจารย์ของกรุงเทพคริสเตียนอาจเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่บอกเล่า “ความทันสมัย” ในสมัยนั้นได้บ้าง

จากรากฐานแนวคิดการนำชาวต่างชาติมาให้สอนภาษาอังกฤษแก่เจ้านายในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สืบเนื่องมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะปฏิรูประบบการศึกษาให้ทัดเทียมประเทศอื่น

เมื่อย้อนกลับไปดูระบบการศึกษาไทยในอดีต คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการศึกษาที่มี “วัด” เป็นศูนย์กลาง ไปจนถึงการสอนวิชาชีพการช่างต่างๆ แต่เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามต่างๆ จากชาติตะวันตก ย่อมเป็นการจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาให้ทัดเทียมประเทศอื่น ในขณะที่ทรงเริ่มจัดตั้งโรงเรียนหลวงและโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2414

จุดเริ่มต้นนี้เริ่มพัฒนามาสู่โรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่ตั้งในวัดมหรรณพาราม (ให้ราษฎรยังคุ้นเคยกับการศึกษาในวัดเพียงแต่ตั้งเป็นโรงเรียนเป็นกิจเฉพาะ) ก่อนหน้านั้นไม่นานก็เป็นช่วงที่หมอสอนศาสนาจากคณะมิชชันนารีเริ่มเข้ามาในไทยและเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการในหมู่บ้านมอญ เมื่อ พ.ศ. 2395 โดยผู้ที่เปิดโรงเรียนคือ “แหม่มมะตูน” ภรรยาของนายสตีเฟน แมททูน (คนไทยเรียกว่า “หมอมะตูน”) ตามมาด้วยโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยนายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลด์ เฮาส์ (คนไทยเรียกว่า “หมอเหา”) ซึ่งตั้งอยู่ข้างวัดอรุณฯ

หลังจากนั้น โรงเรียนของทั้งคู่ย้ายมาตั้งรวมกันที่ข้างวัดอรุณฯ เมื่อมีนักเรียนมากขึ้น หมอเฮาส์ ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ตำบลสำเหร่ ซึ่งมีชื่อเรียกโรงเรียนอย่างเป็นทางการว่า “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล”

โรงเรียนที่สำเหร่นี้ภายหลังก็มารวมกับโรงเรียนชายที่ตำบลกุฎีจีนที่ใช้ชื่อว่า “บางกอกคริสเตียนไฮสกูล” เปิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2431 บริหารโดยนายจอห์น เอ เอกิ้น คณะผู้บริหารเห็นว่าต้องขยายโรงเรียนไปฝั่งพระนคร สุดท้ายก็มาลงเอยที่ถนนประมวญ สร้างเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลัง สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2445 และย้ายโรงเรียนที่ตำบลสำเหร่และกุฎีจีนมารวมเป็นแห่งเดียว ใช้ชื่อเรียกใหม่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล” และเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” เมื่อ พ.ศ. 2456 เป็นอันว่าใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน มีศิษย์เก่าและครูที่มีคุณภาพมากมาย จากบันทึกของนายกำชัย ทองหล่อ ที่เขียนลงในหนังสือที่ระลึก “วันเปิดอาคารสมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 23 มกราคม 2512” นายกำชัย ที่เคยรับหน้าที่ครูพิเศษวิชาภาษาไทย “บีซีซี” (พ.ศ. 2479-2480) เล่าว่า สมัยนั้นมีนักเรียนไม่ถึง 300 คน

“บี.ซี.ซี. คงจะเป็นโรงเรียนแห่งแรกในประเทศไทยที่หยุดเรียนวันเสาร์ควบวันอาทิตย์ และได้ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลานานจนกระทั่งปัจจุบัน (ประมาณ 2510-12) และได้ใช้คำว่า ‘สวัสดี’ เป็นคำทักทายตามดำริของพระยาอุปกิตศิลปสาร ก่อนที่ทางราชการจะประกาศใช้ โดยข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอในที่ประชุม ‘กรรมการบริหาร’ ของโรงเรียน”

กำชัย บันทึกว่า เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นแสดงความต้องการเข้ามาอยู่ในพื้นที่โรงเรียน และโรงเรียนต้องยอมให้ตามคำขอ หลังจากนั้นเหล่าครูพบเห็นว่าทหารญี่ปุ่นแปลงสนามฟุตบอลของโรงเรียนเป็น “ส้วม” อย่างมโหฬาร

อาจารย์เจริญ วิชัย เป็นผู้เสนอให้เปิดบี.ซี.ซี. ที่ซอยพร้อมพงศ์ โดยที่ครูยอมเสียสละสอนโดยไม่ได้คิดถึงค่าตอบแทน การเดินทางช่วงเวลานั้นไม่มีรถประจำทาง ต้องเดินออกจากบ้านไป-กลับวันละหลายกิโลเมตร และสอนในยามสงครามที่มีภัยทางอากาศ เมื่อได้ยินเสียงหวอก็หยุดสอน

“เมื่อสงครามจบลงแล้ว พวกเรารวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวอีก แต่ดูเหมือนจะเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม เพราะเราได้รับบทเรียนนอกตารางสอนมากหลายอย่าง เราแยกกันเหมือนแหนในหนองน้ำที่มีคนอุตริ เอาก้อนหินเหวี่ยงลงไปให้กระจายออกแล้วก็กลับคืนตัวเข้ากันสนิท

สนามฟุตบอลซึ่งกลายเป็น ‘ส้วม’ ด้วยฝีมือทหารญี่ปุ่นก็กลับสภาพมาเป็นสนามฟุตบอลด้วยฝีมือญี่ปุ่นอีกเช่นกัน คำพังเพยที่ว่า ‘กงกำกงเกวียน’ ได้ฉายให้เราเห็นเด่นชัด เพราะดวงอาทิตย์ได้ดับวูบลงทางทิศตะวันออกด้วยวัตถุที่เรียกกันในเวลานั้นว่า ‘ระเบิดปรมาณู'”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กำชัย ทองหล่อ. “25 ปี แห่งความหลัง”. หนังสือที่ระลึกวันเปิดอาคารสมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 23 มกราคม 2512. 

ยุวดี ศิริ. ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2562