ความเป็นมาของโรงเรียนวัดนวลนรดิศ โรงเรียน “เก่าแก่” ที่สุดในย่านฝั่งธนฯ

โรงเรียนวัดนวลนรดิศ วัดนวลนรดิศ
วัดนวลนรดิศ มองจากฝั่งตรงข้ามด้านวัดประดู่ฯ

โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในย่านฝั่งธนฯ ความเก่าก็คืออายุโรงเรียนซึ่งครบร้อยปีไปแล้วเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2533

“นักเรียนรุ่นแรกไม่มีชีวิตอยู่แล้วครับ รุ่นผมก็เข้าวัดนวลเมื่อ พ.ศ. -60 กว่า ๆ – 60 เท่าไหร่ จำไม่ได้ ” อาจารย์ทองหยิบ วิจิตรสุข ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดนวลฯ รุ่นต้น ๆ ผู้มีความผูกพันกับ โรงเรียนวัดนวลนรดิศเกือบตลอดทั้งชีวิต ได้กรุณาเล่าความเป็นมาของ “โรงเรียนที่เก่าที่สุดในย่านฝั่งธนฯ” ให้ฟัง

“ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนวัดนวลฯ คือเจ้าคุณศาสนานุรักษ์ ท่านเป็นพระ เป็นสมภารโอนมาจากวัดประยุรฯ คนที่สองก็หลวงสรรพวิชาเพิ่ม คนที่สามพระสอนถูกระบอบ ผมเข้าเรียนวัดนวลฯ ในช่วงครูใหญ่คนที่สี่ คือ ท่านขุนการุญฯ เรียกเต็มว่า ขุนการุญสิกขพันธ์ ชื่อเดิมท่า บุนนาค พฤกษาชีวะ”

ความเป็นมาของโรงเรียนและวัดสรุปได้ว่า วัดนวลนรดิศ เดิมชื่อ วัดมะกอก เป็นวัดเก่ามาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ โดยท่านผู้หญิงนวล บุนนาค และบุตรคือ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดมะกอก ตามชื่อผู้บูรณะเป็น “วัดนวลนรดิศ” และยกเป็นพระอารามหลวง

อาคารเรียนสร้างใหม่แทนอาคารเก่าซึ่งเดิมเป็นเรือนไม้

นับแต่ยกเป็นพระอารามหลวง วัดนวลนรดิศ มีเจ้าอาวาสเพียง 3 รูป ได้แก่ พระศาสนานุรักษ์ (ทิม รตฺนโชโต) พระราชสังวรวิมล และพระครูวิธานสมณคุณ

ท่านเจ้าอาวาสรูปแรก คือ พระศาสนานุรักษ์ เป็นผู้มีความสำคัญยิ่งต่อ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ด้วยเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง เป็นผู้สอนกุลบุตรกุลธิดารุ่นแรก และเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานให้การศึกษาของศิษย์วัดนวลนรดิศให้เติบโตแข็งแรงในเวลาต่อมา

นวลนรดิศ สกูล ออฟ ศาลาฯ

จากปากคำของท่านอาจารย์ทองหยิบ วิจิตรสุข, จากหนังสือ “บางขุนเทียน : ส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย และกรุงรัตนโกสินทร์,” และหนังสือ “ความรู้เรื่องเมืองไทย” ของโรงพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2472 ความมีอันตรงกันว่า พระนครสองฝั่งฟากอุดมไปด้วยคลองและการตั้งชุมชนริมน้ำ โดยเฉพาะทาง “ฝั่งธนบุรี” ความเจริญของชุมชนริมคลองบางกอกน้อยทะลุคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) มีมาแล้วแต่โบราณกาล ด้วยเคยเป็นลำ “แม่น้ำเจ้าพระยา” สายเดิม ดังนั้นนวลนรดิศ หรือในชื่อเดิม “วัดมะกอก” ย่อมเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนความเจริญ มีผู้อยู่อาศัยโดยรอบทั้งขุนนางและชาวสวน

ภาพอาคารเรียน ตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางหลวง

“พวกลูกๆ หลานๆ ท่านเจ้าคุณสุธรรมฯ พวกเชื้อสาย “สุจริตกุล” ส่วนใหญ่ก็เรียนกันที่นี่ ที่วัดนวลฯ แถวปากคลองด่านมีบ้านขุนนาง คุณพระ คุณหลวงอยู่หลายคน ท่านผู้หญิงอุศนาปราโมช ก็เคยเรียนที่วัดนวลฯ” ท่านอาจารย์ทองหยิบ วิจิตรสุข เล่า และขอดเกล็ดให้ฟังว่า ค่าที่ชุมชนริมลำน้ำมีทั้งขุนนางและไพร่ การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ “ลอนดอน สกูลออฟ กุลบุตร” ก็ออกจะไกลเกินไป สำหรับบุตรหลานขุนน้ำขุนพระยาผู้ใกล้เรือ “นวลนรดิศ สกูลออฟ ศาลาการเปรียญ” จึงแค่วาดเรือข้ามคุ้งโค้ง ก็พอจะฝากลูกฝากหลานให้หัดเขียนการะดานชนวนได้ ถึงยังไงก็ย่อมจะดีกว่าจะหัดให้เป็นแน่งน้อยร้อยดอกไม้เฉยๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “นวลนรดิศ โรงเรียนเก่าแก่ที่สุดในย่านฝั่งธนฯ” เขียนโดย ไพบูลย์ วงษ์เทศ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2533


ปรับเนื้อหาและเผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 2 มิถุนายน 2566