“หลวงพ่อนวม” บุกเบิกการศึกษา กำเนิดโรงเรียนดัง “ศึกษานารี-มัธยมบ้านสมเด็จฯ”

หลวงพ่อนวม สมเด็จพุฒาจารย์ โรงเรียนศึกษานารี
สมเด็จพุฒาจารย์ ภาพพื้นหลังคือโรงเรียนศึกษานารีในปัจจุบัน (ภาพจาก เว็บไซต์ โรงเรียนศึกษานารี)

“หลวงพ่อนวม” หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) (พ.ศ. 2407-2499) อดีตเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เป็นผู้หนึ่งที่มีคุณูปการกับการศึกษาไทย โรงเรียนศึกษานารี, โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ฯลฯ ล้วนเกิดจากดำริเรื่องการศึกษาของ “หลวงพ่อนวม” ที่ริเริ่มขึ้นจนเป็นที่ยอมรับและทางการเข้ามาสนับสนุนในภายหลัง

เมื่อ พ.ศ. 2432 ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งโอกาสในการศึกษายังไม่กว้างขวางเช่นปัจจุบัน ขณะนั้นสมเด็จฯ ยังเป็นพระอันดับ เรียกกันว่า ท่านอาจารย์นวม ท่านจัดให้กุฏิของท่านเป็นห้องเรียนสำหรับลูกศิษย์ชุดแรก 9 คน โดยท่านเป็นครูผู้สอนเพียงคนเดียว เรียกว่า “โรงเรียนประถมอนงค์”

นับเป็นโรงเรียนราษฎร์รุ่นแแรกๆ ของประเทศไทย

เนื้อหาหลักสูตรที่สมเด็จฯ สอนขณะนั้น ได้แก่ ภาษาไทย, เลข, จรรยามารยาท แปลกกว่าที่อื่นก็คือ วิชาลูกคิด ซึ่งเป็นเรื่องที่สมเด็จฯ ท่านชำนาญโดยศึกษามาตั้งแต่ยังไม่ได้บวชเป็นสามเณร อันนับว่าเป็นประโยชน์ให้แก่ลูกศิษย์ที่มาเรียนกับท่าน

ผลปรากฏว่าลูกศิษย์รุ่นแรกๆ จากห้องเรียนของท่าน ได้เป็นข้าราชการตามกระทรวงหมด เมื่อเห็นผลดีดังนี้ ผู้ปกครองต่างพาลูกหลานมาฝากเรียนกับท่านอาจารย์นวม ในชั่วเวลาต่อมา 2 ปีเศษ จำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นมากมายจนกุฏิของท่านรองรับไม่ไหว ไม่มีที่จะนั่งเรียนกันได้หมด

พ.ศ. 2434 สมเด็จฯ จึงจัดการสร้างโรงเรียนใหม่ขึ้นด้วยการออกทุนทรัพย์ส่วนตัว และเงินบริจาคของผู้มีศรัทธา สร้างเป็นอาคารเรียน 2 ชั้น 1 หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณกุฏิพระ เรียกว่า “โรงเรียนอุดมวิทยายน”

ต่อมา เมื่อเริ่มมีการจัดการศึกษาของทางการ โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้อำนวยการศึกษา ทรงเห็นเจตนาดีและการเสียสละของสมเด็จฯ จึงถวายนิตยภัตให้ท่านเดือนละ 10 บาท เงินดังกล่าว สมเด็จฯ นำไปใช้จ้างครูเพิ่ม 1 คน พ.ศ. 2436 เงินนิตยภัตเพิ่มเป็น 20 บาท และปีต่อมาเพิ่มเป็น 30 บาท สมเด็จฯ ก็นำเงินที่ได้มาจ้างครูเพิ่มขึ้นจาก 1 คน เป็น 2 คน และ 3 คน ตามลำดับเช่นกัน

พ.ศ. 2440 กรมศึกษาธิการโอนครูของโรงเรียนแห่งนี้ทั้งหมดเข้าเป็นครูของรัฐบาล และจัดการจ่ายเงินเดือน แทนที่สมเด็จฯ จะต้องควักกระเป๋าอยู่ทุกเดือนเป็นเงินเดือนให้เสียเอง และแต่งตั้งท่านเป็น “อาจารย์สยามปริยัติ”

กระนั้นสมเด็จฯ ยังอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบเงินเดือนที่รัฐบาลจ่ายให้เดือนละ 30 บาท มาขยายสิ่งปลูกสร้างให้แก่โรงเรียนวัดอนงคารามต่อไป จนกลายเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น และจากโรงเรียนฝั่งธนนี้เองที่เด็กนักเรียนสมัยนั้นได้กลายไปเป็นคนสำคัญของราชการในสมัยต่อมาหลายต่อหลายคน ล้วนเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จฯ ทั้งสิ้น

รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงทราบว่า ก็นิมนต์ให้สมเด็จฯ มาเฝ้าด้วยเพื่อทอดพระเนตรตัวจริง ทรงชมเชยว่า ท่านอาจารย์มีคุณูปการแก่ชาติ ได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็น พระอุดมพิทยากร (พระครูพิเศษ) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2442

ราว พ.ศ. 2442 กรมศึกษาธิการมอบเงิน 2,900 บาทให้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ และย้ายนักเรียนจากกุฏิพระบางส่วนมาเรียนที่นี่ พ.ศ. 2444 มอบเงินอีก 4,000 บาท เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนตามแบบของกรม และย้ายนักเรียนจากที่เดิมทั้งหมดมาที่นี่

สมเด็จฯ เห็นว่าการศึกษาสำหรับเด็กชายลงตัว จึงเริ่มทำการศึกษาของฝ่ายหญิง โดยจ้างครูมาเปิดสอนแผนกสตรีขึ้น เรียกว่า “โรงเรียนสตรีอุดมวิทยายน” พ.ศ. 2443 กรมศึกษาธิการ ส่งพระยาวิภัชน์วิทยาสาสน์ (ทัด วีระทัด) มาเป็นครูใหญ่ และให้พระอุดมพิทยากรเป็น “ครูผู้ปกครอง”

พ.ศ. 2443 เมื่อมีนักเรียนมากขึ้น สมเด็จฯ จึงไปขอที่ดินและมณฑปจากเจ้าคุณหญิงคลี่ บุนนาค ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ใช้ดัดแปลงให้เหมาะกับที่เรียน หากจำนวนนักเรียนหญิงก็ยังเพิ่มขึ้น และเห็นว่าการเข้าออกพลุกพล่านอยู่ใกล้กุฏิพระไม่ค่อยเหมาะ กระทรวงธรรมการจึงย้ายนักเรียนไปไว้สถานที่แห่งใหม่ (โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา)

ต่อมา พระไพศาลศิลปศาสตร์ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) เห็นว่าชื่อโรงเรียนแต่ละแห่งเดิมนั้น พ้องกับโรงเรียนชั้นอุดมศึกษา จึงขอเปลี่ยนที่สมเด็จฯ ริเริ่มไว้ดังนี้

โรงเรียนมัธยมอุดมวิทยายน เปลี่ยนเป็น โรงเรียนมัธยมอนงค์ (พ.ศ. 2485 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา), โรงเรียนประถมอุดมวิทยายน เป็น โรงเรียนประถมอนงค์, โรงเรียนสตรีอุดมวิทยายน เป็นโรงเรียนศึกษานารี  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ไทยน้อย. 30 คนไทยที่ควรรู้จัก, สำนักพิมพ์บำรุงบัณฑิต พ.ศ. 2528.

อนุสรณ์สมเด็จ. สมาคมศิษย์อนงคารามในพระบรมราชูปถัมภ์ กับมูลนิธิอนงคาราม พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 21 เมษายน 2500.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2566