เหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรง “รู้สึกคันอยู่ในเนื้อหนาๆ เช่น ซ่นเท้า” จากปมเรื่องการศึกษา

Work from home
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

“–นี่เหลือที่จะอดกลั้น รู้สึกคันอยู่ในเนื้อที่หนา ๆ เช่น ซ่นเท้า เกาไม่ถึงก็ปานกัน–“

เป็นวาทะตอนหนึ่งในลายพระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 15 กรกฎาคม ร.ศ. 129 พระราชทานแก่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ขณะยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไพศาลศิลปศาสตร์) เป็นข้อความแสดงความอัดอั้นตันพระทัย เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของราษฎรในรัชสมัยของพระองค์ ที่ดำเนินไปอย่างล่าช้าไม่ทันพระทัย

Advertisement

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเรื่องราวฝาแฝดสยามอินจัน ซึ่งเป็นฝาแฝดที่แปลกประหลาดกว่าฝาแฝดคู่อื่น ๆ เพราะมีตัวติดกันตั้งแต่หน้าอกถึงท้อง

อินจัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2356 ที่จังหวัดสุมทรสงคราม ปลายรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเกิดนั้นเป็นเรื่องที่เลื่องลือกันมากถึงความแปลกประหลาด ถึงกับโหรหลวงทำนายว่า แฝดคู่นี้เป็นกาลีเมืองควรจะกำจัดเสีย แต่ก็มิได้มีการดำเนินการอย่างใด ฝาแฝดอินจันจึงนับว่าเป็นฝาแฝดคู่ที่คนไทยสมัยนั้นรู้จักกันเป็นอย่างดี

เมื่อฝาแฝดคู่นี้อายุได้ 18 ปี นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ไปพบเข้า มองเห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับจากคู่แฝดหากพาไปออกแสดงหาเงินที่อเมริกา แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงอนุญาตให้นำแฝดคู่นี้ออกนอกประเทศ นายฮันเตอร์จึงขอให้กัปตันคอฟฟิน ซึ่งเป็นที่โปรดปรานและเกรงใจของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นผู้ขายอาวุธที่ไทยต้องการ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำแฝดอินจันออกนอกประเทศได้ อินจันจึงเดินทางออกจากประเทศไทยไปตั้งแต่ พ.ศ. 2372

อินจันได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก จนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือรู้จักกันทั่วไป อาจจะเป็นเพราะชาวอเมริกันออกเสียงอินจันไม่ชัด จึงมักออกเสียงเป็นสำเนียงจีนว่า เอ็ง ชาง หรือ เอง ฉ่าง และอาจเป็นเพราะไม่ใคร่มีผู้รู้จักประเทศไทย ข้อเขียนเกี่ยวกับอินจันในภายหลังจึงมักเรียกไชนิสทวินส์ แทนไซมิสทวินส์ เป็นส่วนมาก

เมื่อหนังสือกรุงเทพเดลิเมล์ได้แปลเรื่องอินจันเป็นภาษาไทย ก็ยังใช้ชื่อ เอง และ เฉ่ง และเนื้อเรื่องก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้เรื่องราวของเมืองไทยและของคนไทย ทำให้ทรงขัดพระทัยหลายประการ ดังที่ทรงมีพระราชปรารถชภไว้ในลายพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันนี้หลายประเด็น

ประเด็นแรก คือความไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองของตนเอง ทรงมีพระราชปรารภว่า “–ด้วยชาติอื่นภาษาอื่น เขารู้กันหมดเป็นเรื่องโด่งดัง แต่เราเจ้าของเองไม่รู้–“

ประเด็นที่สอง คือความรู้และความคิดอ่านคับแคบ ดังพระราชปรารภข้อความที่ว่า “–เป็นน่าพิศวง นักเรียนชั้นแผ่นดินพระจุลจอมเกล้านี้ ความรู้หูตาและความคิดช่างคับแคบราวกับรูเข็ม ไม่รู้ไม่เห็นการอะไรเกิน 3 ปีขึ้นไป–“

ประเด็นที่สาม การพูดไม่ชัดออกสำเนียงเป็นฝรั่งของคนไทย ทรงเปรียบเปรยไว้ว่า “–พูดไทยก็ไม่ชัดเป็นอันขาด เพราะถ้าจะพูดออกมาให้ชัดสำเนียงฝรั่งจะแปร่ง–“

ด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันพระทัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ต้องมีลายพระราขหัตถเลขาถึงพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาของราษฎรในขณะนั้น โดยทรงออกพระองค์ว่า เรื่องนี้มิได้กล่าวโทษพระยาไพศาลศิลปศาสตร์แต่อย่างใด เป็นแต่ทรงอึดอัดขัดพระทัยจึงทรงเพียงระบายความรู้สึกเท่านั้น ดังที่ทรงสรุปไว้ท้ายพระราชหัตถเลขาว่า “–นี่แหละจะเป็นนักเรียนของพระยาไพศาลฦามิใช่ ไม่มีใครจำโนทย์โจทนา แต่มันคันไม่รู้จะเกาทางไหน ก็กล่าวโทษพระยาไพศาลฯ ไปตามที่เคยกล่าวมาแล้ว–“

ข้อความทั้งหมดที่ปรากฏในลายพระราชหัตถเลขา ทำให้ผู้ที่ได้อ่านลายพระราชหัตถเลขา รู้สึกได้ถึงความทุกข์ร้อนของพระองค์ในการที่มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรทั่วไปมีความรู้ แต่เพราะการศึกษาเป็นของใหม่ในประเทศไทย ผู้คนส่วนมากยังไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา การดำเนินการของผู้รับผิดชอบเต็มไปด้วยปัญหา ทำให้การศึกษาของไทยเป็นไปอย่างล่าช้า แม้จะทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่เมื่อมีเรื่องราวอันเกี่ยวกับการด้อยการศึกษาของประชาชน พระองค์ก็จะทรงรู้สึกขัดพระทัย และกังวลพระทัยเหมือนกับเกิดความคัน แต่มันเป็นความคันที่ไม่รู้จะจัดการหรือบำบัดอย่างไรให้หายคัน เพราะ

“–รู้สึกคันอยู่ในเนื้อที่หนา ๆ เช่น ซ่นเท้า–“

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เหตุที่พระพุทธเจ้าหลวง ‘รู้สึกคันอยู่ในเนื้อหนา ๆ เช่น ซ่นเท้า'” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2559