ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสังคม, องค์กร, บุคคล, สิ่งของ ฯลฯ ที่มีขนาดใหญ่ มีความสำคัญ มี… ย่อมทำให้เกิดการผลกระทบกับ “…เล็ก” ในระดับรองๆ ลงมาเสมอ หากในอีกมุมหนึ่ง ส่วนเล็กๆ ก็สะท้อนเงาของส่วนที่ใหญ่กว่าเช่นกัน ดังตัวอย่างเช่นบทความชื่อ “ขัตติยนารีศึกษา : การศึกษาของเจ้านายสตรีจากวิถีจารีตสู่วิถีสมัยใหม่” ที่ วีระยุทธ ปีสาลี นำเสนอไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565
วีระยุทธ ปีสาลี สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของเจ้านายสตรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ว่ามีเจ้านายสตรีหลายพระองค์ที่ทรงแตกฉานเรื่องหนังสือจนมีผลงานนิพนธ์เรื่องต่างๆ
ขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งการศึกษาของเจ้านายสตรีเริ่มขึ้นจาก “ตำหนัก” ต่างๆ ในวัง ที่ทำหน้าที่เป็น สำนักวิชาที่ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาสู่การเรียนใน “สถานศึกษา” ที่เริ่มจากโรงเรียนในวัง, โรงเรียนในประเทศ ก่อนจะก้าวหน้าไปสู่การศึกษาในต่างประเทศ
ในที่นี้ขอสรุปเนื้อหาบางส่วน โดยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการจัดตั้ง โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (พ.ศ. 2417) โรงเรียนสตรีแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความนิยมจากบรรดาเจ้านายให้ส่งพระธิดาเข้าไปศึกษาเป็นโรงเรียนของมิชชันนารี เจ้านายหลายพระองค์ ทรงส่งพระธิดาเข้าศึกษาที่นี่ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ฯลฯ ได้ส่งพระธิดามาศึกษาปะปนกับเด็กสามัญ
จากนั้นก็เริ่มมีโรงเรียนของหลวงเกิดขึ้นตามมา เริ่มจากโรงเรียนสุนันทาลัย (พ.ศ. 2423) ที่แรกเริ่มเปิดเป็นโรงเรียนชาย ภายหลังเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสตรีและเป็นโรงเรียนกินนอนประจำ ที่หม่อมเจ้าหญิงส่วนใหญ่นิยมเข้าศึกษา ศิษย์เก่าเรียนรุ่นแรกๆ ได้แก่ หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์, หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล, หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้าพร้อมเพราพรรณ ดิศกุล, หม่อมเจ้าสรรพสมบูรณ์ ดิศกุล, หม่อมเจ้านาราวดี เทวกุล หม่อมเจ้าเฉลียววรรณมาลา กมลาศน์ และ หม่อมเจ้าดัชนี กมลาศน์ เป็นต้น
โรงเรียนราชกุมารี (พ.ศ. 2436) ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง สำหรับพระราชธิดาที่ทรงพระเยาว์ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนตามแบบแผนสมัยใหม่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เจ้านายฝ่ายในที่เคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนราชกุมารี ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
โรงเรียนราชินี (พ.ศ. 2447) ที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนสตรีชั้นสูงสำหรับเชื้อพระวงศ์และบุตรสาวของขุนนาง ซึ่งเป็นโรงเรียนราชินีภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เจ้านายที่เข้าศึกษาส่วนมากจึงเป็นข้าราชสำนักในพระองค์ เช่น หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล, หม่อมเจ้าทักษิณาธร ดิศกุล, หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล, หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล ฯลฯ
ถึงรัชกาลที่ 6 ช่วงทศวรรษ 2460 เริ่มมีการอนุญาตให้เจ้านายสตรีออกไปศึกษาที่ต่างประเทศ โดยหม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ พระธิดาของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นเจ้านายผู้หญิงพระองค์แรกที่ได้เสด็จไปศึกษาในต่างประเทศ
ถึงรัชกาลที่ 7 มีเจ้านายผู้หญิงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จออกไปศึกษาในต่างประเทศมากขึ้น แม้จะพระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่ก็ “ไม่โปรด” พระราชนิยมดังกล่าว ทั้งมีพระราชบันทึกแนบแจ้งแก่หัวหน้าราชสกุลต่างๆ ทราบถึงว่าไม่โปรดให้หม่อมเจ้าหญิงทูลลาไปศึกษาที่ต่างประเทศ ดังความตอนหนึ่งที่ว่า
“…ในชั้นต้น ข้าพเจ้าสงสัยเสียแล้วว่า การที่ให้หม่อมเจ้าหญิงไปเล่าเรียนที่ต่างประเทศนั้น จะทำให้หม่อมเจ้าหญิงผู้นั้นมีความสุขสบายมากว่าไม่ได้ไปหรือ การไปอยู่ต่างประเทศนั้นมักไปอยู่อย่างสามัญ ได้สมาคมกับคนทุกชั้นฐานกันเอง ได้เที่ยวสนุกสนานต่างๆ อย่างที่เรียกว่า ‘free’ ครั้นกลับเข้ามาเมืองไทยจะ free อย่างนั้นหาได้ไม่ ถ้าหาสามีไม่ได้ก็ต้องอยู่ในที่บีบคั้นพอใช้ วิชาที่เรียนมาก็จะได้ใช้แต่บางอย่าง เช่น เลี้ยงเด็ก เป็นครู และการพยาบาลบ้าง (ซึ่งไม่จำเป็นไปต่างประเทศ ก็น่าจะเรียนทำได้ดีพอแก่ความประสงค์ละกระมัง) ครั้น ‘free’ ต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ ก็จะกลับไม่สบายใจเสียยิ่งกว่าที่ไม่เคยสนุกสนานอย่างนั้นมาเลย
สอง ตามธรรมดาหม่อมเจ้าที่ไปอยู่ต่างประเทศนั้นจะต้องอยู่กันอย่างคนชั้นกลาง ไม่ฟุ่มเฟือย ต้องอยู่ในที่เลวๆ พอใช้ เพราะเงินทองไม่พอ ถ้าเป็นหม่อมเจ้าผู้ชายก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นลูกผู้ชายเรา จะว่าให้อยู่อย่างอัตคัตเพื่อเป็นการฝึกหัดให้รู้ความเป็นไปของชีวิตก็ได้ แต่ผู้หญิงนั้นตามธรรมดาผู้มีตระกูลเขาต้องสงวนอยู่บ้าง เขาไม่ยอมให้ไปคลุกคลีกับคนทุกชั้น ยิ่งเจ้าหญิงของประเทศต่างๆ แล้ว ไม่เคยเห็นเลยที่เขาจะไม่สงวนเกียรติยศตามสมควร ไม่ให้เขาปล่อยให้เที่ยววิ่งหลกๆ เข้ามหาวิทยาลัยโน้นนี้อย่างไร เขามักให้เรียนในบ้านและอยู่ในความดูแลของญาติพี่น้องอย่างกวดขัน
นี่หม่อมเจ้าหญิงของเราก็ไปอยู่อย่างเลวๆ เที่ยววิ่งหลกๆ ไปตามเรื่อง ข้าพเจ้าเห็นเป็นการเสียพระเกียรติยศ บางทีจะเถียงได้ว่าไม่ได้ใช้นามว่า Princess ข้อนี้ก็จริงอยู่ แต่ไม่เคยเห็นปิดได้จริงๆ สักทีหนึ่ง ลงท้ายใครๆ ก็รู้ว่าเป็น Princess กันทั้งนั้น อย่างไรก็ขึ้นชื่อว่า Siamese Princess…”
ดังนั้นการศึกษาในต่างประเทศของเจ้านายสตรีเวลานั้น นอกจากความสามารถ, เงินทุนระหว่างการศึกษาแล้ว ต้องมีญาติที่อยู่ในประเทศนั้นหรือไปเป็นผู้ปกครองด้วย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่เพียงแต่รูปแบบการศึกษาของเจ้านายผู้หญิงในสำนักต่างๆ ก็สิ้นสุดลง เจ้านายชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ทรงอพยพลี้ภัยการเมืองไปประทับในต่างประเทศ ส่วนเจ้านายชั้นรองลงมาและข้าราชสำนักย้ายออกจากตำหนักกลับไปอยู่กับครอบครัวและเครือญาติ การศึกษาในระบบโรงเรียนจึงเข้ามามีบทบาทแทนที่ทั้งการเรียนในประเทศและต่างประเทศ
ดังพระดำรัสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ที่มีต่อ หม่อมเจ้าวุฒิเฉลิม วุฒิชัย (ท่านหญิงน้อย) พระธิดาที่ประสูติหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการศึกษาในโรงเรียนของเจ้านายผู้หญิงว่า
“เด็กทุกคนต้องไปโรงเรียน ต้องรู้จักโลกนอกวัง ลูกจะได้เห็นอะไรมากๆ อยู่ในวังก็เห็นแต่วังเท่านั้น โลกในวังนี้เป็นโลกเล็กๆ แคบๆ น้อยจะต้องรู้จักโลกอื่น มีเพื่อนอื่นๆ จะมีอยู่แค่ในวังไม่ได้ วันหนึ่งเติบโตขึ้น น้อยจะเข้าใจ แล้วจะดีใจเสียอีกที่พ่อให้เข้าโรงเรียน การมีเพื่อนเป็นของสำคัญ วันหนึ่งข้างหน้าเพื่อนนี้จะเป็นที่พึ่งของกันและกันได้ น้อยต้องมีเพื่อน ต้องมีความรู้ ต้องเรียนหนังสือดีๆ ลูกเข้าใจไหม
พ่ออยากให้ลูกๆ ของพ่อทุกคนเข้าใจโลกสมัยใหม่ เข้าใจถึงความไม่แน่นอนในชีวิต โดยไม่ต้องโดนพร่ำสอน ให้พบเห็นเผชิญกับเหตุการณ์เอง น้อยเกิดในโลกสมัยใหม่ การมีเพื่อนนอกวังสำคัญ ต่อไปภายหน้า ยามยากเขาจะได้มีเพื่อนที่พึ่งกันได้ ไม่ทางกายก็ทางใจ และเพื่อนที่คบกันแต่เด็กนั้น มักจะมีความผูกพันยั่งยืน ไม่เป็นแต่เพียงผิวเผิน”
หรือประสบการณ์ของศิษย์เก่าโรงเรียนราชินีอย่าง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา-พระองค์เจ้าพระองค์แรกที่เข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไป ที่ตรัสว่า
“การได้ไปโรงเรียนนี้มีประโยชน์ต่อข้าพเจ้าจริงๆ เพราะเมื่อข้าพเจ้าอายุ 11 ปี มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายหลายพระองค์ต้องเสด็จไปอยู่นอกประเทศไทย พี่น้องที่เคยเล่นๆ อยู่ด้วยกันก็ต้องตามเสด็จเด็จพ่อของตัวออกไปด้วย…ยังดีที่ข้าพเจ้าได้ไปโรงเรียนมีเพื่อนที่โรงเรียนมาแทนที่และกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของข้าพเจ้าทั้งในยามเด็กจวบจนกระทั่งปัจจุบัน”
ที่กล่าวมาข้างต้นก็แค่เนื้อหาบางส่วนที่ วีระยุทธ ปีสาลี นำเสนอไว้ ขอได้โปรดติดตามอ่านเนื้อหาทั้งหมดใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกรกฎาคม ว่า ส่วนเล็กๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของเจ้านายสตรี สะท้อนการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของสังคมไทยอย่างไร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2565