“กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม

อาคารเรียน โรงเรียน กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
อาคารเรียนชุดแรกจำนวน 3 หลังของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่ถนนประมวญ โดยชั้นล่างจะเป็นห้องเรียนและสำนักงาน ส่วนชั้นบนจะเป็นที่พักครูใหญ่ ครูต่างประเทศและครูไทย

กำเนิด “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม

การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเมืองไทยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งในในสมัยอยุธยา โดยกลุ่มที่เข้ามาในช่วงแรกเป็นเป็นบาทหลวงชาวโปรตุเกสและชาวฝรั่งเศส ซึ่งนับถือศาสนานิกายโรมันคาทอลิก หรือที่คนไทยเรียกว่า “คริสตัง” จากนั้น ในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 คณะมิชชันนารีชาวอเมริกาได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ หรือที่คนไทยเรียกว่า “คริสเตียน” ให้กับคนไทย

คณะมิชชันนารีกลุ่มนี้ มีมิชันนารีบางคนที่จบการศึกษาวิชาการแพทย์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น นอกจากการเผยแผ่ศาสนาแล้วก็ยังได้นำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามารักษาชาวบ้าน มีการแจกยาและแจกคัมภีร์ไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ต่อมาชาวบ้านต่างเรียกขานมิชชันนารีกลุ่มนี้ว่า “หมอศาสนา”

ใน พ.ศ. 2378 หมอบรัดเลย์ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และได้เข้าร่วมกลุ่มกับมิชชันนารีที่เข้ามาก่อน เวลา 2 ปีหลังจากการเข้ามาของหมอบรัดเลย์ คณะมิชชันนารีก็เริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือมีบ้านพักอาศัยเป็นหลักแหล่ง มีพื้นที่ใช้สอย ทำให้เกิดแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านพักเป็นสถานที่เผยแผ่ศาสนา ควบคู่ไปกับการสอนหนังสือ ทั้งนี้การเรียนการสอนก็เริ่มขึ้นโดยแหม่มบรัดเลย์ได้สอนหนังสือให้กับเด็กหญิงในละแวกใกล้เคียง แต่ก็ยังไม่มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ใน พ.ศ. 2390 คณะมิชชันนารีซึ่งประกอบด้วยนายสตีเฟน แมตตูน หรือที่คนไทยเรียกว่า “หมอมะตูน” และนายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลด์ส เฮ้าส์ หรือเรียกแบบคนไทยว่า “หมอเหา” ก็ได้เดินทางเข้ามา มิชชันนารีกลุ่มนี้กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีเอกชนหญิงและชายแห่งแรกขึ้นในสยาม กล่าวคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย นั่นเอง

การก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีชาย

โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม ถือกำเนิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คณะมิชชันนารีซื้อที่ดินได้สองแปลงด้านหลังวัดอรุณฯ ซึ่งคณะมิชชันนารีก็ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างบ้านพักอาศัย ขณะเดียวกันก็โปรดให้แหม่มมิชชันนารี 3 คน โดยหนึ่งในนั้นคือแหม่มมะตูน เข้าไปสอนหนังสือให้กับผู้หญิงในพระบรมมหาราชวัง

ใน พ.ศ. 2395 หลังจากที่แหม่มมะตูนได้สอนหนังสือในพระบรมมหาราชวัง พร้อม ๆ กับให้ความรู้กับเด็กชายและหญิงบริเวณที่พักมาได้สักระยะหนึ่ง ก็ได้เปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการในหมู่บ้านมอญ โดยได้จัดทำหลักสูตร ตารางสอน และกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในช่วงแรกชาวบ้านและเด็กไม่คุ้นชินกับระบบการศึกษาเช่นนี้ บ่นว่ายาก ไม่อยากเรียน แหม่มมะตูนจึงให้เงินค่าจ้างเรียนกับเด็กคนละ 1 เฟื้อง

เพียงแค่ 17 วันหลังจากที่แหม่มมะตูนเปิดโรงเรียนในหมู่บ้านมอญ นายแพทย์เฮาส์ หรือหมอเหาก็ได้เปิดโรงเรียนสอนเด็กชาวจีนขึ้นที่บริเวณข้างวัดอรุณฯ และจากนั้นอีก 4 เดือน แหม่มมะตูนจึงได้ย้ายโรงเรียนที่หมู่บ้านมอญมารวมกับโรงเรียนของหมอเฮาส์ [เปิดสอนเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2395 -ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย]

ต่อมาใน พ.ศ. 2400 โรงเรียนมิชชันนารีเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มีนักเรียนเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น หมอเฮาส์จึงได้ขยับขยายย้ายโรงเรียนมิชชันนารีจากเดิมอยู่ข้างวัดอรุณฯมาอยู่ที่บริเวณตำบลสำเหร่ ซึ่งมีชื่อเรียกใหม่อย่างเป็นทางการว่า “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล” 

อาคารเรียนของ “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล”

ในขณะที่กิจการของโรงเรียนสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูลกำลังดำเนินไปอย่างดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปิดโรงเรียนแบบตะวันตก ที่พระราชวังนันทอุทยาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่บุตรและข้าราชบริพารในราชสำนัก ในการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

ทรงมอบหมายให้นายแพทย์ เอส.จี. แมคฟาร์แลนด์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ทั้งนี้นายแพทย์ เอส.จี. แมคฟาร์แลนด์ เห็นว่า การจัดแผนการสำหรับโรงเรียนที่จะจัดตั้งนี้ เป็นเรื่องที่ยากเกินกำลังตน จึงได้เดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อเสาะหาผู้ร่วมงาน และได้พบกัน นายจอห์น เอ. เอกิ้น และได้พากลับมาสอนทีี่ พระราชวังนันทอุทยาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรงเรียนที่สวนอนันต์”

นายจอห์น เอ. เอกิ้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสคูล และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

หลังจากที่นายจอห์น เอ. เอกิ้น ได้สอนหนังสือให้กับลูกท่านหลานเธอได้สักพัก ก็ตระหนักได้ว่า การสอนหนังสือให้เพียงแต่ลูกหลานเจ้านายนั้นไม่บรรลุจุดประสงค์การเผยแผ่ศาสนา จึงได้ขอลาออกเพื่อมาตั้งโรงเรียนชายที่ตำบลกุฎีจีน ใช้ชื่อว่า “บางกอกคริสเตียนไฮสคูล” ซึ่งด้วยความสามารถของนายจอห์น เอ. เอกิ้น ก็ทำให้กิจการโรงเรียนดำเนินไปอย่างราบรื่น มีนักเรียนเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น กระทั่งได้รับการอุปถัมภ์โรงเรียนจากคณะมิชชันนารี

ในเวลาต่อมา ขณะที่นายจอห์น เอ. เอกิ้น ได้เข้ามาบริหารสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล ควบคู่ไปกับโรงเรียนที่ตนได้ก่อตั้งขึ้นนั้น ก็ได้เห็นถึงปัญหามลพิษทางเสียงและอากาศจากโรงสีที่อยู่ใกล้เคียงสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล จึงมีความคิดที่จะย้ายโรงเรียนไปยังพื้นที่ใหม่ คือที่ถนนประมวญ ซึ่งเป็นที่ดินที่ซื้อจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เพื่อนสนิทของนายจอห์น เอ. เอกิ้น

ใน พ.ศ. 2445 การก่อสร้างโรงเรียนเป็นอันแล้วเสร็จ คณะมิชชันนารีจึงได้ย้ายโรงเรียนที่ตำบลสำเหร่ รวมถึงโรงเรียนที่ตำบลกุฎีจีนมารวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้ชื่อกับโรงเรียนใหม่นี้่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนไฮสคูล” ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ใน พ.ศ. 2456

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บทความ “โรงเรียนมิชชันนารีชาย-หญิงแห่งแรกในสยาม กรุงเทพคริสเตียน-วัฒนาวิทยาลัย” เขียนโดย ผศ.ยุวดี ศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2561