แฟชั่นไว้หนวดของไทยมาจากไหน? เมื่อโกนทิ้งก็ไม่ดี ปล่อยไว้ก็ไม่ดี

พระยาอภัยสงคราม (ภาพจากหนังสือ "ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" โดย กรมศิลปากร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘)

หนวด เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายที่สำคัญอย่างหนึ่งไม่แพ้มัดกล้ามเนื้อและรูปร่างอันบึกบึน เพราะการไว้หนวดของผู้ชายนั้นเป็นการเสริมความคมเข้มของใบหน้าและสร้างเสน่ห์ได้อย่างดี การมีหนวดของผู้ชายยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือเกรงขามได้อีกด้วย แต่ที่มาของการไว้หนวดในไทยมาจากไหน?

ท่ามกลางกระแสแฟชั่นของผู้ชายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น การไว้หนวดของผู้ชายกลายเป็นแฟชั่นที่แทบจะไม่เคยตกยุค แม้ผู้ชายในยุคหนึ่งนิยมใบหน้าที่เกลี้ยงเกลาแต่ในยุคถัดมาการไว้หนวดก็อาจเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอีกครั้งก็ได้ เช่นในปัจจุบันที่กระแสฮิปสเตอร์ที่มาแรงในสังคมไทย ทำให้ชายหนุ่มไทยเริ่มไว้หนวดเคราและตกแต่งอย่างดีเพื่อเสริมสร้างเสน่ห์ให้กับตนเอง

คนไทยส่วนมากไม่ค่อยมีหนวดและไม่ค่อยไว้หนวดถึงจะมีก็ไม่ใคร่จะดกดำเหมือนกับฝรั่งและแขก เราอาจเคยได้ยินชื่อ “นายจัน หนวดเขี้ยว” แห่งบ้านบางระจัน แต่นั่นก็ไม่อาจเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าคนไทยชอบไว้หนวด (ยังมิพักต้องพูดถึงว่าเหตุการณ์และบุคคลในตำนานบ้านบางระจันทร์นั้นในทางประวัติศาสตร์มีข้อถกเถียงกันอย่างไรบ้าง)

เอนก นาวิกมูล ได้ลองสอบค้นถึงที่มาของการไว้หนวดของชายไทยในหนังสือ “แรกมีในสยาม ภาค 1” (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว) และเสนอว่าบรรดาชายไทยที่ไว้หนวดนั้นก็ต้องมาแยกออกเป็น 2 พวกอีก คือ พวกที่ไว้สักแต่ว่าไว้ปล่อยให้รกรุงรังโดยไม่มีการจัดแต่งให้สวยงาม กับพวกที่มีหนวดและรู้จักตกแต่งให้เข้ารูปเข้ารอยเหมือนฝรั่งซึ่งพวกหลังนี้เองควรจะเรียกได้ว่าเป็นการ “ไว้หนวด” อย่างแท้จริง

ดังที่กล่าวว่าหลักฐานที่ว่าคนไทยไว้หนวดนั้นมีอยู่น้อยมาก เพราะทั้งในจิตรกรรมฝาผนังตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เราก็ยังไม่พบการ “ไว้หนวด” ที่ประณีตงดงามอย่างฝรั่งเลย แม้กระทั่งรูปถ่ายต่างๆ หรือหลักฐานว่าชนชั้นสูงตลอดจนพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในต้นรัตนโกสินทร์ไว้หนวด เว้นแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงไว้พระมัสสุอยู่บ้างแต่คนทั่วไปก็ยังไม่ไว้กันเป็นแฟชั่นมากนัก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากหนังสือ “ประมวลภาพพระปิยมหาราช” โดย เอนก นาวิกมูล จัดพิมพ์เมื่อ ๒๕๓๒)

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมัยที่อิทธิพลตะวันตกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมสยามจากสยามเก่าไปสู่สยามใหม่หรือสยามทันสมัยนั้นก็ได้ปรากฏว่าพระองค์ทรงเป็นผู้สั่งให้ยกเลิกประเพณีเก่าที่ล้าสมัย ทรงเป็นผู้นำในการเปลี่ยนทรงผมมหาดไทยของผู้ชายเป็นตัดผมอย่างฝรั่ง ทรงโปรดให้ฝ่ายหญิงเลิกไว้ผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมยาว นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้นำในด้านอื่นๆ อีกมากมาย และเราก็จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงไว้พระมัสสุอีกด้วย

พระราชนิยมในการไว้พระมัสสุนี้ได้แพร่หลายในหมู่พระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยจำนวนมาก ดังปรากฏในภาพถ่ายในสมัยนั้นที่มีรูปถ่ายชายไทย “ไว้หนวด” มากขึ้นโดยเฉพาะในราชสำนักและข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร-ตำรวจ

การไว้พระมัสสุ ไว้หนวดในสมัยนี้เป็นสิ่งที่เฟื่องฟูมาก และเป็นการไว้อย่างประณีต มีการตัดแต่งดูแลอย่างตั้งอกตั้งใจ และการประกอบเป็นพิธีกรรมอย่างชัดเจนอีกด้วย ดังปรากฏในการค้นคว้าของเอนก นาวิกมูล ที่พบข่าวพิธีมัศสุกันต์หรือพิธีโกนหนวดของเจ้านครลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2461

ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ สมัยรัชกาลที่ 5 เล่ม 6 แผ่น 29 หน้า 358 วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) (อ้างถึงใน เอนก นาวิกมูล, 2559: 466) มีการเขียนถามตอบกันว่าควรไว้หนวดหรือควรกำจัดทิ้งซึ่งจะขอยกข้อความมาบางส่วนดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ)

แลในสมัยก่อนผู้ที่เปนข้าราชการจะไว้หนวดเครารุงรังนักไม่ได้ ครั้นมาสมัยนี้ถ้าใครมีหนวดก็นับถือกันว่าดี แลส่วนตัวข้าพเจ้าก็เห็นดีด้วย แต่ที่ว่ามีหนวดหรือโกนเสียดีหรือทิ้งไว้ดีนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าโกนเสียก็ไม่ดี ทิ้งไว้ก็ไม่ดี

ถ้ามีหนวดเคราก็ควรตัดตกแต่งให้สะอาดเรียบร้อยตามสมควรจึ่งเปนการดี ไม่ควรจะโกนเสีย เพราะผู้ที่มีหนวดแลตกแต่งเรียบร้อยดีนั้นดูหน้าตาคมสันขึงขัง สมควรสมญาว่าเปนผู้ชาย ถ้าเปนทหารก็ยิ่งดูแขงแรงหนักขึ้น ที่มีหนวดโกนเสียดูหน้าตาจืดชืดไปไม่คมคายคล้ายผู้หญิง เว้นแต่ผู้ที่ไม่มีหนวดมาแต่เดิม คิดจะแก้ไขให้หนวดขึ้นก็ไม่ได้ ก็จนใจอยู่ควรจะหาติเตียนท่านไม่ เพราะสังขารร่างกายไม่มีผู้ใดตกแต่งแก้ไขได้เอง

   ที่มีหนวดทิ้งไว้ไม่ตกแต่งตัดรอนนั้นไม่ดี เพราะคนไทยมิใช่แขกฝรั่ง ถ้ารุงรังรุ่มร่ามปรกประปากคาง ก็เปนทางลำบาก เมื่อเวลาบริโภคอาหารบางกาลจะเปรอะเปื้อนขึ้นได้ หรือสูบบุหรี่สั้นเข้าไปไฟจะไหม้หนวดเพราะไม่ได้ใช้กล้องทั่วไป

พระยาอภัยสงคราม (ภาพจากหนังสือ “ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย กรมศิลปากร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘)

สรุปได้ว่า การ “ไว้หนวด” ของชายไทยนั้นเป็นอิทธิพลอย่างหนึ่งที่มาจากวัฒนธรรมตะวันตกโดยมีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชการพลเรือน-ทหาร เป็นต้นแบบ การไว้หนวดก็กลายเป็น “เทรนด์” อย่างหนึ่งในสังคมไทยที่มักจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอนั่นเอง

 


เอกสารอ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. 2559. แรกมีในสยาม ภาค 1. 2 เล่ม. กรุงเทพฯ: แสงดาว


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2561