“ไว้เล็บ” ธรรมเนียมนิยมแต่กรุงศรีฯ คือเครื่องยืนยันชาย,หญิง เจ้าของเล็บ คือคนไฮโซ มีตังค์ ไม่ต้องทำงานหนัก

ไว้เล็บ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) คือผู้หนึ่งที่ "ไว้เล็บ" ยาว อย่างที่เห็นในภาพ

“ไว้เล็บ” ธรรมเนียมนิยมของผู้ชายและผู้หญิงในสังคมไทย เพราะเล็บนิ้วมือที่ยาว บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของเล็บว่า เป็นผู้มีอันจะกิน ไม่ต้องทำงานหนัก ซึ่งนิยมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งเรียบเรียงข้อมูลจากมิชชันนารีที่เคยพำนักในกรุงศรีอยุธยา บันทึกเรื่องการ “ไว้เล็บ” ว่า

Advertisement

“…เขาปล่อยให้เล็บงอก เหมือนที่ชาวจีนประพฤติก่อนพวกตาด (Tartars) รุกรานแผ่นดินจีน…แม้เขาพยายามรักษาร่างกายให้สะอาด แต่เวลาอ้าปากหรือเอามือให้ดูชาวยุโรปรู้สึกรังเกียจอย่างเหลือที่จะทนได้เพราะฟันที่ทำให้ดำของเขาดูคล้ายก้อนมะเกลือ

ส่วนเล็บของเขาเป็นต้นว่า เล็บมือขวาที่เขาปล่อยให้งอกนั้น ดูคล้ายเขี้ยวเล็บของสัตว์กินเนื้ออะไรตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำแนกให้รู้ว่าเป็นคนงามและสุภาพ ผิดกับชาวนาและทาส  ส่วนผู้หญิงเจ้าชู้ที่ตั้งหน้าจะเย้ายวนผู้ชายนั้น จะไม่ออกมาข้างนอก ถ้าไม่มีเล็บปลอมยาวสามสี่นิ้ว…” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ค่านิยมเรื่องการ “ไว้เล็บ” ยังสืบทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในบันทึกของชาวต่างชาติ อย่างเช่น

สังฆราชปาลเลกัวซ์ บันทึกไว้ใน “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ว่า “…พวกมั่งมีนิยมไว้เล็บยาว หญิงสาวและชายหนุ่มย้อมเล็บให้แดงด้วยยางไม้ชนิดหนึ่ง”

เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เองก็บันทึกเรื่องนี้ไว้ใน “ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 1” เช่นกันว่า

“…พวกเขาเหน็บบุหรี่ไว้ที่หลังใบหู บางทีพวกเขาก็ถือไปด้วยเหมือนกัน มีบุหรี่ที่มีกลิ่นหอมฟุ้งเพราะทำจากวัสดุที่หอม และคล้องพวงมาลัยดอกไม้ไว้ที่ข้อมือ (พวกเขาไว้เล็บยาว) (ตอนเย็นของวันที่มีอากาศเย็น พวกเขาจะเอาน้ำมันหมูมาทาเล็บทุกวัน)

อีกวิธีหนึ่ง คือเอากระเทียมมาถูเล็บและเล็บงอกยาวอย่างเร็วมาก พวกเขาไม่สนใจจะทำงานอะไรอย่างอื่น พวกเขาเฝ้าแต่ทำของเล่น ผู้ชายที่ไว้เล็บยาวคือพวกใจเสเพล จิตใจถูกครอบงำด้วยความสำรวย” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ส่วนการย้อมสีเล็บในอดีตนั้น ใช้พืชสมุนไพรเป็นหลัก โดยในภาคกลางนิยมใช้ดอกต้นเทียนมาย้อมเล็บให้เป็นสีแดง และยังช่วยรักษาโรคหิดที่มักขึ้นตามนิ้วมืออีกด้วย

แม้แต่วรรณคดีไทยเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ก็มีการกล่าวถึงการไว้เล็บเช่นกัน โดยในตอนที่พลายแก้วลักลอบเป็นชู้กับนางพิม นางพิมที่พยายามปัดป้องจึงขู่จะหักเล็บพลายแก้ว พลายแก้วจึงกล่าวตัดพ้อ ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการไว้เล็บให้ยาวว่า

อุยหน่าอย่าทำที่สำคัญ   ฟาดฟันเอาเถิดไม่น้อยใจ

ทำเล็บหักเหมือนไม่รักพี่จริงจัง   ถึงเงินชั่งหนึ่งหารักเท่าเล็บไม่ (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุกัญญา สุขฉายา เรียบเรียง. “ภูมิปัญญาในการดูแลนิ้วและเล็บ” ใน, สารานุกรมความงาม ด้วยภูมิปัญญาไทย, มูลนิธิสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ. พิม์ครั้งที่ 1 มีนาคม  2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2567