ผู้เขียน | บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช / หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
---|---|
เผยแพร่ |
การแพทย์-สาธารณสุขไทย จากยุคกรมหมอหลวง สู่โรงพยาบาลที่ราษฎรเข้าถึง
ระบบการสาธารณสุขของประเทศไทย ได้รับการยกย่องว่ามีความเข้มแข็ง เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดของโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ด้วยมีจำนวนผู้ที่รักษาหาย และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมาก จึงขอชื่นชมบุคคลากรเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ร่วมแรงร่วมใจ บริหารจัดการ ดำเนินงาน ทางด้าน การแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งประชาชนที่มีความตระหนัก ตื่นตัวในการดูแลป้องกันตนเอง และยอมปฏิบัติตามประกาศของทางการอย่างเคร่งครัด
หากศึกษาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่ระบบการศึกษายังไม่ทั่วถึง ประชาชนขาดความรู้ในเรื่องการดูแลสุขอนามัย สภาพแวดล้อม และอาหารการกิน เมื่อเกิดโรคระบาดแต่ละครั้ง จึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น อหิวาห์ตกโรค ไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) และกาฬโรค ซึ่งแต่ละครั้งคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ระบบการปกครองแบบจตุสดมภ์ ที่ตราขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่สามารถรองรับ กับจำนวนผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น
หลังจากเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการในต่างประเทศที่สิงคโปร์ อินเดีย เป็นต้น และโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางไปศึกษาดูงานในเรื่องต่างๆ จึงทรงเริ่มปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศ จากระบบจตุสดมภ์ เป็นระบบราชการอย่างตะวันตก โดยการทยอยยุบเลิกบางหน่วยงาน ตั้งหน่วยงานใหม่ หรือรวมเข้าไว้ในหน่วยงานเดียวกัน จนต่อมาเป็นระบบกระทรวง ทบวง กรม ที่มีการกำหนดหน้าที่ขอบเขตอย่างชัดเจน
ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นปัญหา ความไม่ทันสมัยที่จะเป็นตัวฉุดประเทศให้ล้าหลังไม่เจริญก้าวหน้า ดังในพระบรมราชาธิบาย ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายการแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ความว่า
“…การปกครองอย่างเก่านั้นก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกที จึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลาให้เป็นทางที่จะเจริญแก่บ้านเมือง…”
ส่วนระบบการแพทย์ที่มีมาแต่เดิม มีกรมแพทยาโรงพระโอสถ หรือกรมหมอหลวง มีการกำหนดตำแหน่งยศฐาบรรดาศักดิ์ แบ่งเป็นหมอแต่ละประเภท มีศักดินากำกับ เน้นการรักษาเพียงอย่างเดียว รับผิดชอบเฉพาะงานรักษาภายในราชสำนักเป็นหลัก ไม่รักษาทั่วไป ประชาชนจึงต้องหาหมอเชลยศักดิ์หรือหมอในท้องที่รักษาโรคกันเอง ยังไม่มีระบบราชการด้านการสาธารณสุข กรมแพทยาโรงพระโอสถ และหมอเชลยศักดิ์ตามบ้าน ยังใช้วิธีการรักษาแบบเดิม ด้วยการเก็บสมุนไพรมารักษา ส่วนการผ่าตัดเย็บแผลต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างมิชชันนารีที่เข้าใจถึงสาเหตุการเกิดโรค และรู้วิธีรักษาป้องกัน
พระองค์จึงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งการแพทย์แบบตะวันตก เมื่อปีพ.ศ. 2414 ตามคำกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ทรงทดลองจัดระบบการแพทย์ทหารแบบตะวันตกขึ้นครั้งแรกในกรมทหารมหาดเล็ก โปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งแพทย์ประจำกองทหารครั้งแรก คือ หม่อมเจ้าสายในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเป็น เซอเยน (Surgeon)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 โปรดเกล้าให้ตรา พระราชบัญญัติเป็นข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็ก จ.ศ. 1239 กำหนดให้ตำแหน่งแพทย์มี 2 ตำแหน่งคือ เซอเยน (Surgeon) 1 ตำแหน่ง และฮอสปิเติลซายัน (Hospital Sergeant) 1 ตำแหน่ง มีหน้าที่ตรวจรักษาทหารป่วย และผลัดเปลี่ยนเวรกันนอนโรง (หมายถึงโรงทหาร) คนละ 7 วัน “ถ้าเจ็บอยู่กับบ้าน อย่าให้หมอในโรงไปอยู่ เปนแต่ให้ไปตรวจเปนเวลา ถ้าเจ็บในโรงหมอในโรงพิทักษรักษาให้จงดี”
ในปี พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯให้ตรา พระราชบัญญัติทหารหน้า กำหนดให้มีตำแหน่งแพทย์ทหารลักษณะเดียวกันกรมทหารมหาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2425 โปรดเกล้าให้สร้าง “โรงทหารหน้า” (ปัจจุบันคือศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร) ได้ออกแบบให้มี “โรงหมอในโรงทหารหน้า” แต่ก็เป็นการรักษาเฉพาะทหาร
แนวคิดการจัดตั้งโรงพยาบาลและโรงเรียนสอนแพทย์ มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2428 เมื่อผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) กราบบังคมทูล เรื่องการทหารและการโรงเรียนที่กรมทหารมหาดเล็กรับผิดชอบ รวมถึง การฝึกหัดวิชาหมอ และ วิชาเซอเยอรี และโรงรักษาคนไข้ที่หมอวิลิศ จากอังกฤษได้กราบทูลว่ายินดีจะสอน ต่อมาถวายความเห็นเรื่องการจัดสอนวิชาแพทย์แบบตะวันตกว่าจะต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลก่อน ดังคำกราบบังคมทูลว่า “…แต่ที่จะคิดอ่านการฝึกหัดวิชาหมอแท้ ก่อนที่ได้มีโรงรักษาคนไข้ตั้งขึ้นนั้นก็ไม่ได้…”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า กอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล ในปี พ.ศ. 2430 ดำเนินการจัดตั้ง โรงพยาบาลใหญ่ ณ วังหลัง ตามแบบตะวันตกแห่งแรกของประเทศ ได้รับพระราชทานนามว่า โรงพยาบาลศิริราช และให้เป็นต้นแบบของการจัดตั้งโรงพยาบาลสมัยใหม่แห่งอื่นของประเทศไทย
จากการค้นคว้าเอกสารประวัติศาสตร์ของ ผศ.ดร. ถนอม บรรณประเสริฐ พบหลักฐานรายงานประชุมกอมมิตตีพยาบาลเกือบครบทั้ง 13 ครั้ง แสดงให้เห็นขั้นตอนการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชอย่างชัดเจน และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการริเริ่มกิจการ อย่างการที่ผู้คนไม่กล้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะกลัวจะถูกจับเป็นทหาร ค่านิยมของผู้มีข้าทาสบริวารไม่ให้คนในบ้านของตนมารับการรักษาที่โรงพยาบาล (รักษาฟรี) เพราะกลัวเสียหน้าว่าใจดำ ไม่หาหมอเชลยศักดิ์มารักษาที่บ้าน หรือความนิยมกินยาไทยมากกว่ายาฝรั่ง ทำให้โรงพยาบาลต้องเตรียมทั้งยาไทยและยาฝรั่งให้คนไข้เลือกรับประทาน เป็นต้น
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาถึงคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล พระราชทานมรดกของเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาล ณ วังหลัง และทรงขอบใจกรมหมื่นดำรงราชานุภาพที่เป็นต้นคิดเรื่องจัดตั้งโรงพยาบาล มีความสำคัญบางตอนว่า
“...โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีขึ้นได้ในทันใด แต่การนั้นไม่สำเร็จไปได้ตลอด…การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้างก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้ ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้ายลูกเราซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ เห็นว่าแต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ ยังได้ความทุกข์เวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรอนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชานุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาลทำความเห็นมายื่นเห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึ่งได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์คนที่ได้ความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้เป็นต้นทุน…. ขอขอบใจกรมหมื่นดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นต้นคิด แลคอมมิตตีทั้งปวงอันได้พร้อมใจกันช่วยจัดการให้ตลอดสมประสงค์ได้ดังนี้…”
เมื่อ พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ อธิบดีกรมพยาบาล มีหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า“กรมพยาบาลนี้ก็มิได้คิดแต่จะรักษาโรคอย่างเดียว คิดจะบำรุงวิชาแพทย์ศาสตร จะมีโรงเรียนแพทย์ด้วย” ต่อมา และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์แบบตะวันตกแห่งแรกขึ้น ในโรงพยาบาลศิริราช ชื่อว่า โรงเรียนแพทยากร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนแพทยาลัย และโรงเรียนราชแพทยาลัย ตามลำดับ
ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ย้ายไปรวมอยู่ใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้แยกออกไป คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และในสมัยรัชกาลที่ 9 เปลี่ยนเป็น คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นต้นฉบับของโรงเรียนแพทย์แบบตะวันตกของไทยที่สามารถผลิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถเทียบเท่าตะวันตก
หากย้อนกลับไป หลังจากจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชสำเร็จแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิก กอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล จัดตั้งเป็น กรมพยาบาล พร้อมทั้งขยายสาขาโรงพยาบาลไปยังที่ต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลหัวเมืองในจังหวัดต่างๆ มีการจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ มาร่วมกันวางแผนจัดวางระบบสุขาภิบาล เพื่อดูแลสุขอนามัยของประชาชน การส่งหมอไปปลูกฝีราษฎรทั่วพระราชอาณาจักรเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ ที่ช่วงแรกต้องซื้อพันธุ์หนองฝีจากต่างประเทศที่มีราคาแพง จนส่งแพทย์ออกไปเรียนการทำวัคซีนและสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ทำให้จำนวนผู้เป็นไข้ทรพิษลดน้อยลง การตั้งโอสถศาลาเพื่อผลิตยาประจำบ้านหลายขนาน และจำหน่ายในราคาถูก เพื่อให้ราษฎรรู้จักซื้อยาไปรับประทานบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมกับออกประกาศวิธีการดูแลสุขภาพอนามัย มีการเชิญแพทย์ทั่วประเทศมาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นต้น
และยังทรงเข้าร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เป็นประเทศภาคีของอนุสัญญาเจนีวา ทำให้สยามเป็นที่รู้จักในเวทีโลก เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หากประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยสงครามรุนแรง เช่น สงครามล่าอาณานิคม นับเป็นนโยบายการต่างประเทศที่สำคัญในรัชกาลของพระองค์
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงการพัฒนาปรับปรุงระบบ และสร้างความเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงรับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ในการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์และวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย และมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ทรงจัดตั้งกรมสาธารณสุข พระองค์สนพระทัยและทุ่มเทในเรื่องนี้มาก ทำให้งานสาธารณสุขก้าวหน้าและก้าวไกล และได้ ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ ที่เป็นเจ้ากรมพยาบาลนานถึง 18 ปี ขยายการสาธารณสุขครอบคลุมไปทั่วประเทศ ให้บุคลากรและแพทย์ มีโอกาสศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ และเน้นจัดเก็บสถิติข้อมูลอย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างจำนวนราษฎร อัตราการเกิดตาย การเจ็บป่วย
ที่เล่ามาเพียงเพื่อจะรำลึกว่า อาคารที่แข็งแรงปัจจุบัน ย่อมมาจากรากฐานที่มั่นคง ระบบการสาธารณสุขของไทยในปัจจุบัน ก็มาจากบรรพชนในอดีตที่ร่วมแรงร่วมใจในการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ก่อเกิดประโยชน์ให้แก่คนในอดีตจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ขยายบริการแพทย์สู่ภูมิภาค งานแรกๆ ของคณะราษฎรหลัง 2475
- หมอแมคฟาร์แลนด์ “อิฐก้อนแรกของศิริราช” บันทึกเล่า การแพทย์ (สมัยใหม่) ยุคบุกเบิกในไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563