ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หมอแมคฟาร์แลนด์ เล่าประสบการณ์ โรงเรียนแพทย์ตะวันตกยุคบุกเบิกในสมัยรัชกาลที่ 5 หมอต้องแข่งขันกันมากเพราะคนไข้เลือกรักษาได้ตามชอบจะใช้ยาไทยหรือยาฝรั่ง
นายแพทย์ยอร์ช บี.แมคฟาร์แลนด์ (George B. Macfarland, 1866-1936) หมอแมคฟาร์แลนด์เป็นบุตรของศาสนาจารย์เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ และนางเจนนี แมคฟาร์แลนด์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยในปี ค.ศ.1860 หมอแมคฟาร์แลนด์และพี่น้องทั้ง 4 คนต่าง เกิดที่เมืองไทย ภายหลังได้เป็น อำมาตย์เอก พระอาจวิทยคม
หมอแมคฟาร์แลนด์ ได้รับการยอกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน มีสมญาว่าเป็น “อิฐก้อนแรกของโรงเรียนแพทย์” หรือ “อิฐก้อนแรกของศิริราช” ท่านได้บันทึกถึงการแพทย์ในยุคบุกเบิกของไทย ไว้ใน “ประวัติของสกุลแมคฟาร์แลนด์” ดังนี้
“ข้าพเจ้าเป็นคนสุดท้ายของตระกูล ที่ออกไปเล่าเรียนที่อเมริกา ก่อนไปข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะเรียนวิชาแพทย์ศาสตร์ ดังนั้นพอไปถึงก็เรียนทันที เพื่อกลับมาเป็นหมอตามความต้องการของประเทศสยาม…
ข้าพเจ้าไปอยู่ที่วอชิงตันและเจฟเฟอร์สันวิทยาลัย ตั้งแต่ 1884-1887 ปี 1890 ได้รับปริญญา M.D. จาก Western Medical College แล้วในปี 1891 ไปเรียนวิชาผ่าตัดที่ Baltimore College และในเวลาเดียวกันนี้ ข้าพเจ้ายังได้ฝึกหัดวิชาทำฟันใน Chirurgical College of Dentistry ในบัลติมอร์ด้วย และได้ ปริญญา D. D. S.
ก่อนเดินทางกลับเมืองไทยตอนปลายปี 1891 ได้มีการทําสัญญาระหว่าง ข้าพเจ้ากับนายแพทย์ ที. เฮย์วารด เฮส์ [Dr.Thomas Hayward Hays] ซึ่งรับราชการอยู่ในขณะนั้นว่า ข้าพเจ้ามาถึงจะให้รับหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลศิริราช และจะต้องเปิดโรงเรียนแพทย์ ในความบังคับบัญชาของข้าพเจ้าให้ได้ในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทําได้ งานที่ศิริราชของข้าพเจ้าเริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1892 พอเดือนเมษายนโรงเรียนแพทย์ก็เปิดได้ มีนักเรียน 17 คน หมอเฮส์ได้เคยสอนมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้
ดังนั้นวันตั้งโรงเรียนแพทย์จึงน่าจะนับเวลาระยะนั้นรวมเข้าไปด้วยทั้งที่โรงเรียนใหม่ภายใต้ความควบคุมของข้าพเจ้าหาได้มีส่วนด้วยไม่ เพราะนักเรียนสมัยหมอเฮส์นั้น ได้กระจัดกระจายกันไปก่อนเวลาข้าพเจ้ามาถึงสยาม ข้าพเจ้าได้ตึกเป็นที่อยู่หลังหนึ่งติดกับศิริราช ที่นี้แหละที่บิดามารดาได้มาอยู่ด้วยเมื่อครั้งโรงเรียนสุนันทาลัยเลิกล้มไป
ประวัติตอนต้น ๆ ของศิริราชพยาบาลและโรงเรียนแพทยาลัยกะโผลกกะเผลกเต็มที่ ยาฝรั่งยังไม่แพร่หลายและเป็นที่ไว้ใจในเมืองไทย โรงพยาบาลศิริราชดําเนินไปได้ก็เพราะยอมให้คนไข้เลือกการรักษา ตามใจจะเป็นยาไทยหรือฝรั่งก็ได้ ไม่มีหมอสมัยไหนต้องแข่งขันกันเหมือนสมัยนั้น หมอไทยก็ต่อสู้เพื่อสรรพคุณของยาไทยและวิธีรักษาของเขา ผู้ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ก็เชื่อมั่น ในยาและวิธีการของแผนตะวันตก เป็นการต่อสู้กันอย่างน่าอิดหนาระอาใจ
ว่าถึงสถานะของโรงพยาบาล เครื่องใช้ไม้สอยก็ขาดอิปาถะ และไม่พอใช้ ห้องพยาบาลก็มุงด้วยจาก เครื่องมือผ่าตัดก็น้อยเต็มที ตำหรับตาราจะศึกษาจะค้นคว้าก็มีเท่าที่บันทึกอยู่ในสมุดพกของหมอหนุ่มที่ไม่เคยงาน นี้แหละการก่อร่างสร้างตัวแท้
นักเรียนแพทย์สมัยนั้นเป็นคนที่มีครอบครัวแล้ว ต้องจ้างมาเรียนให้เงินเดือนๆ ละ12 บาท ข้าพเจ้าเองก็ได้รับอย่างงามถึงเดือนละ 320 บาท หากว่าเมื่อเด็กๆเคยได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีในเรื่องกระเหม็ดกระแหม่ มัธยัสถ์ จึงทําให้ข้าพเจ้าทำงานอยู่ได้ในตาแหน่งอันหรูหรา เป็นทั้งแพทย์ผ่าตัด ทั้งคณบดีแห่งแพทยาลัย และผู้จัดการโรงพยาบาลและโรงเรียน ต่ำ แหน่งมากอย่างน่าปลื้มใจ แต่อย่างอื่นน้อยเต็มที”
หากการสอนวิชาแพทย์ในยุคนั้นก็ต้องประสบปัญหาเรื่อง “ภาษาอังกฤษ” หมอแมคฟาร์แลนด์จึงต้องจัดทำตำราเรียนขึ้นเอง ซึ่งท่านได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า
“ทางโรงเรียนราชแพทย์ยาลัย ข้าพเจ้าเห็นความจําเป็นที่จะต้องมีตำหรับตำรา ตำราภาษาอังกฤษนั้นไม่ได้รับประโยชน์ เพราะนักเรียนมีความรู้ภาษาอังกฤษอย่างดีก็เพียงคั่นต้นเท่านั้นเอง และวิชาภาษาอังกฤษก็ไม่เป็นวิชาบังคับจนถึง ปี 1903 ซึ่งได้มีผู้บรรยาย (อาจารย์) เพิ่มขึ้นเป็น 7 คน คนหนึ่งในจํานวนนี้ คือ หลวงวิจิตร์ (ต่อมาเป็นพระยาวิจิตร์) เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ”
หนังสือบางกอกไทม์ได้กล่าววิจารย์ในการเพิ่มการสอนครั้งนี้ว่า ความมุ่งหมายของการสอนภาษาอังกฤษที่แล้วมามีเพียงให้นักเรียนคุ้นกับคำที่ต้องการใช้มีน้ำหนักในมาตราชั่งเป็นภาษาอังกฤษ ฯลฯ เท่านั้น ไม่ใช่จะสอนวิชาภาษาอังกฤษให้
“ฉะนี้จึงไม่แปลกอะไรที่ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าจะต้องทำตำราวิชาแพทย์เป็นภาษาไทยให้นักเรียน ข้าพเจ้าขอร้องให้รัฐบาลช่วยลงทุนพิมพ์ตำราแต่เปล่าประโยชน์ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีใครมีความรู้พอที่จะบอกได้ว่าตำราของข้าพเจ้าดีหรือไม่ดี เขาสนับสนุนไม่ได้
ดังนั้นภรรยาของข้าพเจ้า[เมรี แมคฟาร์แลนด์]จึงได้ลงมือใช้เครื่องพิมพ์อัดสำเนา (พิมพ์มิมีโอกร๊าฟ) พิมพ์คำบรรยายของข้าพเจ้า ด้วยวิธีนี้ข้าพเจ้าได้สร้างตำราขึ้นหลายเล่มด้วยทุนข้าพเจ้าเอง คือ Human Anatomy with Plates and Diagrams Vols. I, II, & III, Materia Medica and Therapeutica ; Elementary Physiology with 43 illustrations, Advance Physiology, A Treatise on Asiatic Plague, its spread and Prophylaxis; Elementary Treatise on Disease of the Nervous Systems. ตำราเหล่านี้เป็นกำลังแก่การงานของข้าพเจ้ามาก มาตรฐานค่อยๆ สูงขึ้น และลูกศิษย์ที่เข้าใหม่ก็ค่อยดีขึ้น
โรงเรียนราชแพทยาลัยคงจะไม่เกิดขึ้นในค.ศ.1892 ถ้าหากจะวางเกณฑ์รับผู้เข้าเรียนให้มีความรู้ภาษาอังกฤษสูง หรือแม้มีความรู้เพียงมัธยม 8 การวางรากฐานจนสําเร็จเป็นรูป โรงเรียนราชแพทย์ปัจจุบันนี้ได้ใช้ความพากเพียร 35 ปี ข้าพเจ้าพากพูมใจในงานอันยากลำบากทุกชิ้น เพราะได้ลงทุนด้วยหยาดเหงื่อข้าพเจ้าแท้ๆ ข้าพเจ้า ได้สอนลูกศิษย์ออกไปเป็นรุ่น ๆ หรือจะเรียกว่าลูกชายของข้าพเจ้าก็ว่าได้ เพราะข้าพเจ้ารักและให้ความรู้ที่ดีที่สุดที่ข้าพเจ้าจะให้ได้
ถ้าจะถือเอาตามหลักสูตรของอังกฤษหรืออเมริกันแล้ว นักเรียนของข้าพเจ้าในปีต้นๆ มีความรู้น้อยมาก ทั้งนี้ด้วยความ จำเป็นโดยแท้ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังได้หลักวิชาพอจะทำการรักษาโรคที่ไม่หนักเบาได้ นอกจากนี้ยังได้รับการอบรมทาง จรรยาแพทย์ อันเป็นข้อพูมใจของข้าพเจ้า และยิ่งเป็นข้ออิ่มใจมากในเมื่อร็อคเฟลเลอร์มูลนิธิเข้ามารับโรงพยาบาลนี้เข้า มาอยู้ในความอุปถัมภ์ และได้ใช้ระเบียบและวิธีการที่ข้าพเจ้าได้วางไว้ด้วยความเหนื่อยยากต่อไป
งานเริ่มแรกของข้าพเจ้าใครๆ ก็ไม่เห็นคุณค่า แต่เขาเห็นได้อย่างไร คนเราจะรู้ว่าคุณค่าของการงานใดๆ ก็ต่อเมื่อตนเองได้ หยิบจับงานนั้นตลอดไป ได้เจออุปสรรคความผิดหวัง ความไม่แยแสนำพาของใครๆ อื่น ตลอดจนกระทั่งความเหนื่อยยากแทบสายตัวขาด
ข้าพเจ้าได้ลิ้มรสสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา 35 ปี ลิ้มแล้วลิ้มเล่าไม่ทราบว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง พอร๊อคเฟลเลอร์มูลนิธิลงมือจับงาน คนไข้ก็พากันแห่เข้าไปรับการรักษา หมอจะเอาอะไรหรือจะทําอย่างไรได้ทั้งนั้น ส่วนสมัยข้าพเจ้าคนไข้พากันใช้ยาไทยหมด นักเรียนแพทย์ก็ต้องจ้างให้มาเรียน สิ่งตอบแทนที่ข้าพเจ้าได้รับก็คือ ได้เป็นผู้เริ่มงานให้คนอื่นเขาต่อ ข้าพเจ้าพอใจแล้ว”
แน่นอนว่าหมอแมคฟาร์แลนด์ได้รับบำเหน็จ, รางวัล และเกียรติยศต่าง ๆ หากเกียรติที่หมอแมคฟาร์แลนด์ถือว่า “ยอดเยี่ยม” ในชีวิตคือ
“เมื่อข้าพเข้ามีอายุย่างเข้า 70 ปี บรรดาศิษย์ได้ร่วมกันจัดให้มีการฉลอง และมีงานเลี้ยงน้ำชาให้ข้าพเจ้าที่สโมสรแพทย์ ขณะที่ข้าพเจ้านั่งในเก้าอี้พิธีท่ามกลางการเวียนเทียนของเขาเหล่านั้น ข้าพเจ้าเห็นลูกศิษย์บางคนผมขาวอย่างข้าพเจ้า โดยมาเป็นผู้มตำแหน่งที่สำคัญในการงาน บ้างก็มียศถาบรรดาศักดิ์สูง
ทั้งนี้ทำให้ดวงใจของข้าพเจ้าเต็มตื่นไปด้วยความปลื้มปิติและอิ่มเอิบในโชคชะตา…ข้าพเจ้าสามารถช่วยและอบรมคนทั้ง 99 ซึ่งกำลังห้อมล้อม และผู้ที่ได้แสดงความรักและความขอบคุณที่เขามีต่อข้าพเจ้า และอีก 121 คนที่มาไม่ได้ก็ยังมีน้ำใจร่วมกันกับคณะที่มานี้ให้ของขวัญอันมีค่าไว้เป็นที่ระลึกถึงศิษย์ และได้ทำรูปปั้นของข้าพเจ้าแขวนไว้ในโรงพยาบาลศิริราช”
อ่านเพิ่มเติม :
- 24 กันยายน “วันมหิดล” พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
- ปทานุกรม-พิมพ์ดีด-ตำราแพทย์ ฯลฯ มรดกที่ “แมคฟาร์แลนด์” ทิ้งไว้ให้สยาม
- รากฐานการแพทย์-สาธารณสุขไทย จากยุคกรมหมอหลวง สู่โรงพยาบาลที่ราษฎรเข้าถึง
เครือมติชน ผนึกกำลังพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐ-เอกชน จัดมหกรรมสุขภาพยิ่งใหญ่สุดในประเทศ Thailand Healthcare 2023 “เกษียณสโมสร”
พบกับงานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 เปิดโลกความสุขของคนรักสุขภาพวัยก่อนเกษียณ วัยเกษียณ และครอบครัวผู้ดูแล หลังไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ พบบริการตรวจสุขภาพฟรี เวทีเสวนา เวิร์กชอปเพื่อคนรักสุขภาพ ชอปปิงสินค้าเพื่อสุขภาพ พร้อมแคมเปญสุดพิเศษ 15 ปี 5 โปรปัง
30 โรงพยาบาลชั้นนำ บริการ “ตรวจสุขภาพฟรี” 30 เวทีเสวนาที่ดีที่สุด โดยกูรูสุขภาพ – แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 8 เวิร์กชอป การเงิน สุขภาพ ดิจิทัล ฯลฯ 100 ร้านค้า กับสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ
เสริมทัพแบบจัดเต็มด้วย การตรวจเฉพาะทาง ได้แก่ ตรวจรักษาฟัน จากคณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ตรวจการได้ยิน (นิทรรศการบ้านนก) โดย รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ตรวจสุขภาพตา โดยโรงพยาบาลบ้านแพ้ว
สำหรับผู้มาตรวจคัดกรองภายในงาน หากตรวจพบต้อกระจก ทางโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ผ่าตัดให้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย จํานวน 50 ดวงตา
ตรวจพิเศษ Health Trend 2023 ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยการ x-ray และแปลผลด้วย นวัตกรรม AI รู้ผลภายใน 3 นาที
พิเศษ! เช็กสุขภาพการเงินกับธนาคารทิสโก้ และ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลัก จะมาให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ “พลิกโฉมวางแผนเกษียณสู่เมกะเทรนด์” บริการให้คําปรึกษา ตอบโจทย์ลูกค้าแบบองค์รวม และโปรโมชันพิเศษ
ข้อมูลจาก :
ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์. ประวัติของสกุลแมคฟาร์แลนด์ในสยาม, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์เอก หมอแมคฟาร์แลนด์ (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาศ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
https://muarms.mahidol.ac.th/medical_bethel/download/30George_Bradley_McFarland.pdf (สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2564