ขยายบริการแพทย์สู่ภูมิภาค งานแรกๆ ของคณะราษฎรหลัง 2475

“สุขศาลา” ตามตามตำบล และอำเภอต่าง ภายหลังเป็น “สถานีอนามัย” (ภาพจาก “ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย”, หอจดหมายเหตุสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กิจการในลำดับแรกๆ ที่คณะราษฎรให้ความสำคัญได้แก่ การศึกษา และสาธารณสุข ในส่วนของการสาธารณสุข แนวคิดตลอดจนนโยบายในเรื่องนี้ของคณะราษฎร คือการขยายสถานพยาบาลออกไปในส่วนภูมิภาค ซึ่งเริ่มมีการดำเนินการอย่างชัดเจนใน พ.ศ. 2477

พ.ศ. 2477 ปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณสุข พร้อมกับการผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นผ่านการจัดตั้งเทศบาลโดยประกาศใช้ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2477 พร้อมกับโครงการสร้างโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในปีเดียวกันนั้นมีการอบรมที่ปรึกษาการเทศบาลเรื่อง “การสาธารณสุขและสาธารณูปการ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ที่ประชุมมีการนำเสนอแนวคิดการจัดบริการสาธารณสุขอย่างเป็นระบบครั้งแรก ด้วยเห็นว่ารัฐจะต้องให้ความสนใจการแพทย์และการสาธารณสุข ควรจัดให้มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลขนาดต่างๆ โดยมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ให้บริการในการรักษาหรือป้องกันโรค ฯลฯ โดยไม่คิดค่าบริการ ทั้งมีเสนอให้ตั้งองค์การทางการแพทย์ขึ้น และต่อมามีการตั้งเป็น “คณะกรรมการพิจารณาสาธารณสุขและการแพทย์” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478

คณะกรรมการพิจารณาสาธารณสุขและการแพทย์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานมีการประชุมกันเกือบ 20 ครั้ง กำหนดโครงการเสนอรัฐบาล 2 เรื่อง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2478 หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “โครงการอนามัยหัวเมือง” ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทแรกของการขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขออกสู่ภูมิภาค ซึ่งกำหนดให้ทุกจังหวัดมีคณะกรรมอนามัยเพื่อช่วยเหลือกรมการจังหวัดในงานสาธารณสุข โดยมีโรงพยายาลจังหวัดเป็นกลไกที่จะขยายบริการสาธารณสุข

โครงการอนามัยหัวเมืองกำหนดสถานพยาบาล 6 ประเภท คือ โรงพยาบาลชั้นหนึ่งขนาด 200 เตียง เป็นโรงพยาบาลประจำภาค ระยะแรกกำหนดให้มีใน 4 จังหวัด (ลำปาง, นครสวรรค์, โคราช และสงขลา), โรงพยาบาลชั้นสองเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด, โรงพยาบาลชั้นสามเป็นโรงพยาบาลชุมชน, สุขศาลาชั้นหนึ่ง, สุขศาลาชั้นสอง และหน่วยอนามัยเคลื่อนที่ เป็นสถานที่สำหรับการรักษาพยาบาลแบบการแพทย์สมัยใหม่

แต่ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 รัฐบาลก็มีนโยบายขยายการบริการสาธารณสุขออกสู่ต่างจังหวัดอย่างชัดเจน พร้อมกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลฯ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ทำโครงการสร้างโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเริ่มสร้างในจังหวัดชายแดนก่อน ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี, หนองคาย และนครพนม

พ.ศ. 2485 มีโรงพยาบาลในต่างจังหวัด 22 แห่ง ในจำนวนนี้ยังเป็นโรงพยาบาลทั่วไป 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลโรคจิต 3 แห่ง โรงพยาบาลวัณโรค 1 แห่ง โรงพยาบาลโรคเรื้อน 4 แห่ง

กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2489 แล้วยังมีอีก 37 จังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาลเลย ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีเวลานั้น จึงกำหนดให้มีโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลและสุขศาลาของกระทรวงสาธารณสุขขึ้น แต่สภาพความขาดแคลนทรัพยากรหลังสงคราม ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินจัดตั้งสถานพยาบาล ในขณะเดียวกันก็มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นแก่ผู้คนจำนวนมาก รัฐบาลจึงต้องหันมารณรงค์รับบริจาคเพื่อการจัดสร้างแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใด มีเพียงโรงพยาบาลประจำจังหวัดสุโขทัยและชลบุรีเท่านั้นที่เกิดจากการรับบริจาค

รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 ขับเคลื่อน นโยบายต่อจากรัฐบาลนายปรีดี จนทำให้หลัง พ.ศ. 2490 กลายเป็นยุคทองของการสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัด พร้อมๆ กับการจัดสร้างสถานพยาบาลระดับอำเภอ โดยความช่วยเหลือทางงบประมาณจากยูซอม (USOM-United States Operation Mission) ในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

พ.ศ. 2499 มีโรงพยาบาลประจำจังหวัดครบทั้งประเทศ 72 แห่ง (เวลานั้นประเทศไทยมีเพียง 72 จังหวัด)

ระหว่าง พ.ศ. 2490-2500 ยังมีการจัดสรรงบประมาณพิเศษจาก เช่น ภาษีบุหรี่และเหล้า ในรูปของแสตมป์การกุศล (แสตมป์ ก.ศ.ส.) อีกปีละประมาณ 10 ล้านบาท งบประมาณพิเศษนี้ส่วนใหญ่ใช้ไปในการสร้างโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ทำให้ พ.ศ. 2493 มีโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจำนวน 11 แห่ง, พ.ศ. 2496 เพิ่ม 17 แห่ง, พ.ศ. 2497 เพิ่ม 16 แห่ง, พ.ศ. 2498 เพิ่ม 2 แห่ง และ 2499 เพิ่ม 2 แห่ง

นอกจากสถานพยาบาลระดับโรงพยาบาล รัฐบาลคณะราษฎรยังพยายามขยายสุขศาลาชั้นสองในระดับตำบล จากเดิมที่มักมีอยู่เฉพาะในตัวอำเภอ ทำให้ประชาชนในชนบทเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้น ทำให้จำนวนสุขศาลาเพิ่มขึ้นมากในรอบ 10 ปี ใน พ.ศ. 2484 มีสุขศาลารวมกันทั้งชั้นหนึ่งและสองจำนวน 434 แห่ง

โดยสรุปคือ ใน พ.ศ. 2500 โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นการรักษาพยาบาลและการจัดบริการสาธารณสุขอื่นๆ ที่ใช้โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเป็นฐานนั้น ได้รับการก่อสร้างขึ้นครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก และเมื่อถึงทศวรรษ 2520 กว่า กระทรวงสารณสุขจึงขยายเครือข่ายโรงพยาบาลลงไปสู่ระดับอำเภอได้สำเร็จ

 


ข้อมูลจาก :

อภิชาต สถิตนิรามัย, อิสร์กุล อุณหเกตุ. ทัน วัง คลัง (ศักดิ) นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564